Tuesday, December 3, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนเตือนภัยรับโอนเงิน พบ E-สลิปปลอม

    เตือนภัยรับโอนเงิน พบ E-สลิปปลอม

     

    อาชญา (ลง) กลอน ธนก บังผล

    E-สลิป หรือ ใบแจ้งธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิคส์ของธนาคาร

    ปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีแอพพลิเคชั่นของธนาคารโหลดลงในสมาร์ทโฟนเพื่อใช้โอนเงิน จ่ายบิล วิธีใช้ก็ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

    เมื่อโอนเงินเสร็จก็มีหลักฐานการโอนเงินเป็นสลิปปรากฎขึ้นมา นั่นละครับเราเรียกว่า E-สลิป

    เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนผมซึ่งค้าขายรถเก่า รถมือสอง มานานหลายปี มาเล่าให้ฟังว่าเจอมิจฉาชีพคนที่เคยเห็นหน้าเคยพูดคุยกันเพราะเพื่อนแนะนำมา มีบ้านอยู่แถวทางไป อ.เกาะคา ใช้ E-สลิปปลอม มาหลอกทำทีว่าโอนเงินให้แล้วแต่สุดท้ายเงินไม่เข้าบัญชี

    ลองมาดูครับว่า พฤติกรรมที่จะบอกต่อไปนี้เป็นวิธีของมิจฉาชีพที่วางแผนมาเป็นอย่างดี หรือว่าบริสุทธิใจ ไม่รู้ว่าโอนเงินไปให้คนอื่นแต่ไม่เข้าบัญชีตามที่มักจะกล่าวอ้างเวลาถูกตำรวจสอบปากคำ

    ผู้หญิงคนหนึ่งเอารถมาจำนำกับเพื่อนผม ปกติแล้วทางร้านไม่ได้รับจำนำนะครับ แต่เห็นว่าเพื่อนอีกคนหนึ่งพามาและครั้งแรกนั้นก็มาไถ่ถอนไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร


    การรับจำนำรถนั้นมีความเสี่ยงจากหลายกรณี หนักสุดอาจเข้าข่ายรับของโจร เพื่อนผมเองก็ทราบดีและพอจะมีประสบการณ์รับมือกับความเสี่ยงนี้อยู่บ้าง


    เมื่อเอารถมาจำนำเพื่อนผมแล้ว พอถึงเวลาไถ่ถอนผู้หญิงคนนี้ก็มาที่ร้านแล้วก็โอนเงินค่าจำนำให้เพื่อนผมเหมือนอย่างที่คนปกติเขาทำกัน พร้อมทั้งส่ง E-สลิป ให้ดูเรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธี

    ช่วงเวลาที่มาไถ่รถก็เป็นช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ทางร้านกำลังยุ่งอยู่ พอส่ง E-สลิปให้ก็รีบร้อนจะออกจากร้าน ชวนคุยอะไรก็ไม่คุยแล้ว 

    ระหว่างนั้นเพื่อนผมเอะใจว่า มีเงินโอนมาแต่ไม่มีข้อความเตือน เลยให้น้องที่ร้านสแกนคิวอาร์โค้ดบน E-สลิป

    ก็ปรากฏชื่อของเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่ง นามสกุลเดียวกับเธออาจจะเป็นลูกสาวหรือญาติ ทำธุรกรรมโอนเงินให้เพื่อน 100 บาท ทั้งๆที่ยอดเงินที่ควรจะต้องจ่ายคือ 1 หมื่นบาท 

    พอเพื่อนผมรู้ตัวจะเรียกให้ผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ร้านก่อน ก็ช้าเกินไปแล้ว แต่ก็ยังดีที่รถอีกคันซึ่งเธอเอามาจำนำไว้ยังไม่ได้เอาออกไป

    หมายความว่า นอกจากจะไม่จ่ายเงินสักบาทแล้วยังเอารถที่จำนำไว้ 1 คัน ออกไปได้ด้วย โดยวิธีใช้ E-สลิปปลอมมาหลอก

    เพื่อนผมบอกว่า วัน-เวลาที่เธอทำทีท่าว่าโอนเงินนั้น เป็นช่วงเวลาปัจจุบันตอนนั้นจริงๆ เป็นเวลาที่ปรากฏอยู่บน E-สลิปด้วยเช่นกัน

    ถ้าไม่สแกนคิวอาร์โค้ดก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเป็น E-สลิปปลอม 

    เรื่อง E-สลิปปปลอมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับเพียงแต่เพื่อนผมเพิ่งจะเจอเข้ากับตัวเอง

    ก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งก็ได้ออกประกาศเตือนภัยมาแล้วว่าให้ระวัง

    เมื่อก่อนนั้นมีแอพพลิเคชั่นที่ทำขึ้นมาเพื่อปลอม E-สลิป โดยเฉพาะ แต่พอทางธนาคารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ความรู้ รวมถึงปราบปรามนำเอาแอพพลิเคชั่นออกจากระบบ Play Store เพื่อไม่ให้คนเข้าไปโหลด ปัญหา E-สลิปปลอมก็เหมือนจะเงียบไปพักหนึ่ง

    ปัจจุบัน วิธีการทำ E-สลิปปลอมไม่ได้ยากเลยนะครับ แค่เอา E-สลิปที่เคยโอนเงินให้กับใครสักคนมาก่อน นำมาเข้าโปรแกรมโฟโต้ช็อปก็ยังได้

    เพราะหลักๆแค่เอาคิวอาร์โค้ดมาตัดแปะใส่เท่านั้น ที่เหลือก็ใช้ฝีมือในการตัดต่อข้อความชื่อ และวันเวลา ให้ตรงกับตอนที่จะโอนสลิปปลอมเท่านั้น

    ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นการวางแผนมาเป็นอย่างดี มีการตัดแปะ E-สลิป และนำมาแอบอ้าง

    หากผู้รับโอนเงินไม่เฉลียวใจตรวจดูว่าเงินในบัญชีเข้าหรือไม่ ก็จะเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงเอาได้

    แต่ก็อย่างว่าละครับคนพวกนี้มักหาช่วงเวลาที่ลูกค้ายุ่งๆ คนเต็มร้าน เพื่อป้องกันการตรวจสอบเบื้องต้นจากคนรับโอน

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหน ถ้ามีใครโอนเงินให้ต้องตรวจสอบก่อนทันที เรื่องอื่นเอาไว้ทีหลัง

    จะเอาให้แน่ก็สแกนคิวอาร์โค้ดบนใบสลิปกันต่อหน้าต่อตาเลย รวมถึงตั้งค่าให้ส่งข้อความเข้ามาเตือนด้วย ในการค้าขายแล้วการทำอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องของความไม่ไว้ใจอะไรหรอกนะครับ

    แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าถ้าคุณโอนเงินมาแล้วแต่เงินไม่เข้าบัญชีผู้รับโอน คุณต่างหากที่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อนว่าเงินมันหายไปในอากาศได้อย่างไร

    โอนไปแล้วทำไมถึงไม่เข้าบัญชี

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments