Sunday, November 24, 2024
More
    Homeคนข่าวมีรางวัลเตื้ล เดลินิวส์ คนเก่งกว่าผมมีอีกเยอะ

    เตื้ล เดลินิวส์ คนเก่งกว่าผมมีอีกเยอะ

    นายวรทัศน์ กองทรัพย์โต หรือ “เติ้ล เดลินิวส์” อดีตนักข่าวตระเวน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในเส้นทางน้ำหมึกมากว่า 16 ปี

    ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์หลายที่ มีลูกศิษย์ในวงการอาชญากรรมอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น โน๊ต เนชั่น และ ขวัญ เนชั่น อดีตลูกหม้อนสพ.เดลินิวส์ ก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

    ศิษย์เก่าสวนสุนันทา ฝันเป็นนักข่าวกีฬา

    เติ้ล เดลินิวส์ จบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะวิทยาการจัดการ เอกนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ วิชาโทวิทยุ-โทรทัศน์ เขาเลือกเรียนคณะนี้ตามความฝันตอนเด็กที่อยากเป็นนักข่าวกีฬา และคอลัมนิสต์ฟุตบอล โดยมีไอดอลในยุคนั้นอย่าง บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร หรือ “บอ.บู๋” และ อิสรพงษ์ ผลมั่ง หรือ “ต.โต้ง” ทั้งสองคนนี้มีฝีไม้ลายมือในการเขียนคอลัมน์โดนใจวัยรุ่นในยุคนั้น

    เข้าฝึกงานข่าวที่บ้านเมือง

    นายวรทัศน์ เล่าว่า ระหว่างการศึกษาได้มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชื่อว่า กำแพงแดง และได้ไปอบรมการเขียนจากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จากนั้นก่อนจบการศึกษาได้เข้ามาฝึกงานหนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดยการชักชวนของอาจารย์ที่สอนนั้นเอง

    โต๊ะกีฬาเต็ม เบนเข็มข่าวอาชญากรรม

    ทั้งนี้ได้เลือกเลือกฝึกงานที่โต๊ะกีฬา เนื่องจากเป็นความชอบตนเอง แต่ปรากฎว่านักศึกษาฝึกงานโต๊ะกีฬาเต็ม จึงเปลี่ยนมาเลือกโต๊ะอาชญากรรม ที่ยุคนั้นมี “พี่แป๊ะ” สมศักดิ์ ศรีกำเหนิด เป็นหัวข่าว ได้ฝึกงานอยู่ประมาณ 3 เดือน ก่อนจะกลับไปทำเอกสารจบการศึกษา ด้วยความผูกพันกับโต๊ะอาชญากรรม หนังสือพิมพ์บ้านเมืองจึงเอ่ยปากขอฝึกงานต่ออีก 3 เดือนโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งพี่ ๆ ก็ให้ฝึกงานต่อด้วย

    แป๊ะ บ้านเมือง เปิดโลกข่าว เรียน-จริง ต่างกัน

    นายวรทัศน์ พูดถึงความประทับใจในการฝึกงานว่า คำพูดแรกจาก พี่แป๊ะ บ้านเมือง ที่ยังจำอยู่ในใจคือ “ที่เรียนมาจากในห้องเรียน กับจริงมันคนละเรื่อง” ก็เป็นจริง เมื่อได้ลงสนามฝึกงาน โดยได้ฝึกงานตั้งแต่การจดรายละเอียดข่าว แต่ยังไม่ได้จับกล้องด้วยยุคนั้นเป็นยุคฟิลม์จึงต้องอาศัยความชำนาญ เรียกได้ว่าพลาดไม่ได้เลยในการถ่ายภาพ

    ความสงสัย จุดเริ่มนักข่าวอาชญากรรม

    การฝึกงานได้ซึมซับการเป็นนักข่าวโดยไม่รู้ตัว จนเหตุการณ์วันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งรถประจำทางกลับบ้านที่จ.นนทบุรี ขณะที่รถผ่านแถวแยกวงศ์สว่าง พบเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายมีการปิดกั้นพื้นที่ ด้วยความสงสัยจึงได้ลงรถแล้วไปสอบถามคนในละแวกนั้นจึงทราบว่าเป็นเหตุ 241 จึงได้โทรศัพท์ไปหาพี่นอ บ้านเมือง ว่ามีเหตุดังกล่าว จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักข่าวอาชญากรรม

     4เหยี่ยวข่าวชั้นเทพ ถ่ายทอดวิชา

    นายวัรทัศน์ ยังเล่าถึงเหล่าบรรดาพี่ฝึกงานที่เปรียบเสมือนอาจารย์ในสนามข่าวจริง ว่า ฝึกงานที่นสพ.บ้านเมือง ได้ฝึกงานกับพี่ ๆ ทั้งหมด4 คน ประกอบด้วย 1.“พี่แป๊ะ” สมศักดิ์ ศรีกำเหนิด 2.”พี่โย” โยธิน ทัตเกตุ 3.”พี่นอ”พนอ หลิมไทยงาม 4.”น้าทูน”พงษ์พันธ์ คล้ายพงษ์ ซึ่งแต่ล่ะคนต่างให้ความรู้ในการเป็นนักข่าวอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี

    บินจากรังบ้านเมือง โผสู่บ้านพระอาทิตย์

    หลังจากฝึกงานที่บ้านเมืองประมาณ 6 เดือน ได้ผ่านการทำข่าวอาชญากรรม เจอศพทั้งแบบธรรมดาจนไปถึงขั้นแอดวานซ์ และข่าวอื่น ๆ ชีวิตนักข่าวอาชญากรรมที่แท้จริงก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้เปิดโต๊ะอาชญากรรมขึ้น โดยเพื่อนที่ทำงานในเครือผู้จัดการได้ชักชวนให้เข้าไปนักข่าว แล้ว บังเติ้ล ก็ได้ตัดสินใจออกจาก นสพ.บ้านเมือง ที่ถือว่าเป็นเสมือนโรงเรียนคนข่าว

    ข่าวตามแรก ชูวิทย์แฉส่วยอ่าง

    นายวรทัศน์ กล่าวถึงการย้ายไปทำงานบ้านหลังใหม่อย่างนสพ.ผู้จัดการ ว่า วันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปงานแรกที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามทำข่าว นายชูวิทย์ กลมวิศิษฎ์ ที่ขณะนั้นกำลังออกมาแฉส่วยอ่าง โดยได้ติดตามทำข่าวนานกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ยังต้องทำข่าวอาชญากรรมปกติ

    ใช้ความสนิทติดรถเพื่อนทำข่าว

    แต่ความลำบากในการทำงานช่วงแรกก็คือไม่มีรถข่าวตระเวนให้เหมือนกับหนังสือพิมพ์อื่น ๆ ต้องอาศัยความสนิทกับพี่น้องสำนักข่าวต่าง ๆ แล้วขอติดรถไปทำข่าวด้วย

    เฉียดตายเพราะข่าวกีฬาสี

    นายวรทัศน์ เล่าวว่า นอกจากงานอาชญากรรมแล้วยังได้มีโอกาสทำข่าวม็อบพันธมิตร โดยได้เฝ้าทำข่าวตั้งแต่วันแรกจนถึงสิ้นสุดม็อบ ซึ่งในระหว่างการทำข่าวได้ผ่านเหตุการณ์อันตรายในสถานการณ์ไม่ปกติหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น การปะทะของม็อบ 2 ฝ่าย ที่มีการประจันหน้ากัน เฉียดตายจาก ก้อนอิฐตัวหนอน หรือแม้แต่ กระสุน M79

    ตีเนียนอยู่ในม็อบเสื้อแดง

    นอกจากนี้ยังได้ทำข่าวม็อบเสื้อแดง ที่เป็นคนล่ะขั้วกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จึงเป็นการทำข่าวที่สาหัส ต้องอยู่แบบเงียบๆเนียนๆไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นนักข่าวจากผู้จัดการ

    ค่ายบานเย็นส่งเทียบทาบทาม

    หลังทำข่าวให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการกว่า 8 ปี จนกระทั่งมีคนมาทาบทามให้เป็นนักข่าวตระเวนของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และการตัดสินใจในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

    ย้ายอีกเพราะมองความก้าวหน้า

    นายวรทัศน์ เปิดเผยว่า ทำงาน นสพ.ผู้จัดการ จนมีพี่น้องในวงการอาชญากรรมหลายคน ต่อมามีโอกาสจากพี่ๆจากนสพ.เดลินิวส์ ชักชวนให้ไปอยู่ด้วย โดยทาบทามถึง 3 ครั้ง จนตัดสินใจย้ายไปสังกัดค่ายบานเย็น ซึ่งถือว่าตัดสินใจยากพอสมควรเนื่องจากมีความผูกพันกับนสพ.ผู้จัดการ แต่ด้วยการก้าวหน้าของอาชีพนักข่าวจึงตกลงย้าย โดยไปรับตำแหน่งนักข่าวตระเวน ประจำเขตใต้ รับผิดชอบในพื้นที่นครบาล

    ประเดิมข่าว พริตตี้เหยื่อฟิลเลอร์

    นายวรทัศน์ กล่าวถึงคดีที่ประทับใจในการทำงานในบ้านหลังใหม่ ว่า การทำงานข่าวกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก็ไม่ต่างจากผู้จัดการมาก แต่ต้องเพิ่มความรับผิดชอบในการทำข่าวเจาะมากขึ้น โดยครั้งหนึ่งเคยไปทำข่าวที่ได้มอบหมาย คือ ข่าวน้องกระแต พริตตี้สาว เหยื่อจากการฉีดสารฟิลเลอร์กับหมอเถื่อน ตนเองได้ไปติดตามทำข่าวตั้งแต่วันแรกที่น้องกระแต เข้ารพ.กล้วยน้ำไท

    เจาะข่าวเตือนภัยให้สังคมรู้

    ข่าวนี้มีความแตกต่างจากข่าวเจาะอื่น ๆ ทั่วไป ก็เนื่องจากต้องมีการประสานขอข้อมูลจากหมอที่มีเข้าถึงข้อมูลได้ยาก และภาษาทางการแพทย์ที่จะต้องศึกษาก่อนลงทำข่าวออกมาให้ประชาชนรับทราบถึงภัยร้ายของสารชนิดนี้

    กลายเป็นรางวัลแรกในสนามข่าว

    ข่าวนี้เองทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ สาขาหนังสือพิมพ์รางวัลยอดเยี่ยม จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “ซีพี ออลล์ ประกวดข่าวอาชญากรรมสร้างสรรค์สังคม ประจำปี 2555” จากข่าว “อุทาหรณ์พริตตี้สาวสิ้นลม สังเวยหมอศัลยกรรมเถื่อน”

    คุ้ยข่าวหินวางบึมบนรถไฟฟ้า 

    นายวรทัศน์ ยังพูดถึงการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนคดีคนร้ายลอบว่างระเบิดบนรถไฟฟ้าสถานีสยาม โดยคดีนั้นได้รับมอบหมายให้แกะข่าว ถือว่าเป็นอีกเคสที่มีความยากในการทำงานเพราะเป็นเรื่องความมั่นคง ตำรวจที่จะให้ข้อมูล แต่ยังโชคดีที่มีแหล่งข่าวคนสนิทที่ได้ทำคดีดังกล่าวพอดีจึงสามารถงัดแงะข่าวมาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

    คว้าโล่นักข่าวดีเด่นภาคสนาม

    “นอกเหนือจากรางวัลข่าวแล้วผมยังได้รับโล่เชิดชูเกียรติ ผู้สื่อข่าวดีเด่นภาคสนาม จากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการที่เห็นความสามารถในตัวผม” นายวรทัศน์ กล่าวถึงความประทับใจ

    ยุคโซเชี่ยล ข่าวต้องเร็ว ยิ่งต้องระวัง

    ทั้งนี้ นายวรทัศน์ ยังบอกอีกความคิดเห็นของคนข่าวในยุค 4จี ว่า ยุคนี้เป็นการช่วงชิงถึงความเร็วของข่าว แต่ก็ต้องมีความระมัดระวังเรื่องความผิดพลาดด้วย หากได้ข่าวไวกว่าฉบับอื่นแต่ข้อมูลผิดพลาดนั้นไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด สมัยก่อนไม่มีไลน์ เฟซบุ๊ก จะได้ข่าวก็ต้องตระเวนหาแหล่งข่าว หรือไม่ก็ฟังวิทยุสื่อสาร ผิดกับสมัยนี้ที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้ง่ายขึ้น แต่ต้องพึงระวัง

    ข่าวออนไลน์เร็วจริง แต่ไม่ชัวร์เท่า นสพ.

    ส่วนความสนุกในการทำข่าวก็มีความแตกต่างคนละแบบ สุดท้ายแล้ว โดยส่วนตัวก็ชอบทำงานหนังสือพิมพ์มากกว่า เนื่องจากไม่ต้องเร่งรีบ มีเวลาเช็คข่าวให้ชัวร์ ไม่มั่วอย่างข่าวบนอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วจริง แต่มีอาจมีข้อผิดพลาดได้

    สอนน้องอยากเขียนดี ต้องอ่านเก่งๆ

    นายวรทัศน์ ยังฝากข้อคิดไปถึงน้อง ๆ ในวงการอาชญากรรม ว่า อยากให้ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ให้มาก เพราะการที่จะเขียนได้ดีต้องเป็นผู้อ่านที่ดีก่อน ในช่วงทำงานใหม่ๆ ก็อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ทุกเช้าต้องดูฉบับอื่นๆว่า ในข่าวเดียวกัน เราพลาดอะไร เราตกตรงไหน จะได้เก็บไว้เป็นบทเรียน ไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนเดิม ส่วนเรื่องการเขียนข่าว ยิ่งเขียนเองมากเท่าไร มันก็ได้กับตัวเราเอง

    ถ่อมตัวไม่เก่ง แต่จำแม่น

    “ผมไม่ใช่คนเก่ง คนเก่งกว่าผมมีอีกเยอะ ผมแค่เป็นคนละเอียด กับความจำแม่น ทุกๆวันที่ทำงาน จะคิดอยู่เสมอว่า อย่าให้ใครมาด่าถึงอาจารย์ที่สอนมาได้” นายวรทัศน์ กล่าวทิ้งท้ายหนักแน่น

     

    เขียนไข 13/8/61

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments