เจาะลึกประสบการณ์การทำงาน กับUN และชีวิตกว่าจะมาเป็นวันนี้
พ.ต.ท.หญิง ภัทชยา ศรีคล้าย สารวัตรฝ่ายอำนวยการ5 (ประชาสัมพันธ์) กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
ชีวิตตอนเด็ก เป็นอย่างไรบ้างคะ
เป็นคนกรุงเทพ ที่บ้านเป็นข้าราชการ อยู่กับคุณยายคุณตา ขวัญมาจากครอบครัวใหญ่ คุณพ่อเป็นทหาร คุณแม่เป็นอาจารย์ แต่ต้องรับราชการอยู่ต่างจังหวัด เลยอยู่กับคุณยายคุณน้าตั้งแต่เด็ก เรียนโรงเรียนราชินีบน สามเสนวิทยาลัย และก็อยากเรียนรัฐศาสตร์ ชอบศึกษาการเมืองการปกครอง จนมาจบรัฐศาสตรมหาบัณทิต ที่ ม.เชียงใหม่ คะ
ทำไมถึงมาเป็นตำรวจได้คะ
เราใฝ่ฝันอยากเป็นข้าราชการ คิดจะสอบปลัดอำเภอ แต่ก็ไม่มีจังหวะได้สอบ จนตำรวจเปิดรับวุฒิ ป.โท ในสังกัดกองบัญชาการศึกษา ตอนนั้นเพิ่งจบโท ก็ลองมาสอบดู พอสอบได้ก็เป็นตำรวจเลย ไม่เคยลองทำอาชีพอื่นอีกเลย
คิดว่าตำรวจท่องเที่ยวสำคัญแค่ไหน
ตอนนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ไม่ใช่เพราะแค่จะขายความสวยงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทางด้านการรักษาความปลอดภัยและการให้บริการที่ดี ซึ่งตำรวจพื้นที่มีภารกิจที่ต้องทำเยอะและกว้างมาก บางทีก็จะไม่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง “ตำรวจท่องเที่ยวจึงเป็นการตอบโจทย์สำคัญในการนำพาประเทศไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่น ให้ต่างชาติที่อยากมาท่องเที่ยว หรือแม้แต่ลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น “
เล่าประสบการณ์การทำงานที่ UN ให้ฟังหน่อยคะ
ขวัญไป UN มา 2 ครั้ง ทั้ง 2 ครั้งให้ประสบการณ์ที่ต่างกัน ครั้งแรกในปี 2010 ที่ Timor-Leste ตอนนั้น ทำหน้าที่สืบสวนงานเด็ก เยาวชนและสตรี ตอนนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะตอนอยู่ไทย เราไม่ได้ออกตรวจ ทำคดี “ ตอนนั้นเป็นหัวหน้าทีมตำรวจหญิงทั้งหมดของสถานี ได้ออกไปช่วยคน ช่วยเด็ก ผู้หญิงที่ถูกทำร้าย “ นอกจากนี้ได้เรียนรู้ชีวิตอยู่ต่างแดน ได้ใช้สติปัญญาในการเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์คับขันต่างๆ
พอมาอยู่ Haiti ใน มิชชั่นที่ 2 ในปี 2013 ได้ทำงานที่สำนักงาน Police Commissioner ในงาน Reporting officer เป็นการทำงานในออฟฟิต เพราะที่นั่นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงออกตรวจ อาจจะเพราะสถานการณ์อันตรายกว่าที่อื่น แต่ว่าก็ได้ประสบการณ์ในการประสานงานกับเพื่อนต่างชาติเยอะมาก ในที่ทำงานมีชาติอื่นๆประมาณ 54 ประเทศ วัฒนธรรมการทำงานถือเป็น professional มาก ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม นอกจากนั้นก็ได้สร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อออกไปช่วยเหลือเด็กกำพร้าตามสถานที่ต่างๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าเฮติเกิดแผ่นดินไหว และมีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นจำนวนมาก ทำให้เด็กๆไม่มีคนเลี้ยงดู เราก็ได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆกลุ่มนั้น
คิดว่างานที่เรา “ตำรวจท่องเที่ยว”ช่วยสังคมได้อย่างไร
ขวัญเชื่อว่าไม่ว่าใครก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ ยิ่งงานตำรวจเป็นงานที่ช่วยเหลือสังคมเรียกได้ว่า 100% ทั้งป้องกันปราบปราม รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก ถ้าพูดถึงงานที่ทำตอนนี้คือตำรวจท่องเที่ยว เราไม่ได้แตกต่างจากตำรวจหน่วยอื่นเท่าไหร่ เพียงแค่เพิ่มเติม ลงลึกไปในส่วนของนักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวบุคคลคือนักท่องเที่ยว ไปจนถึงสร้างความเชื่อมั่นในระดับประเทศต่อประเทศ “เราเหมือนจะเป็นจุดเล็กๆ แต่ผลของการปฏิบัติงานของเรามันยิ่งใหญ่ ทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ”
งานที่ประทับใจ สำหรับตัวเองตอนเป็นตำรวจท่องเที่ยว
หน้างานขวัญคือการช่วยเหลือแนะนำนักท่องเที่ยวที่มาแจ้งความทั่วไป ยังไม่เคยเจอคดีหนักๆ หรือปะทะอะไร “ เคสที่ประทับใจคงจะอยู่ที่ ติมอร์ตอนทำคดี Domestic violence สามีทำร้ายภรรยาติดต่อกัน 8 ครั้ง ภรรยาก็เข้าออกโรงพักอยู่สัปดาห์ละครั้ง ทั้งหัวแตก คิดว่าแท้งลูกด้วย เราก็ช่วยกันสื่อสารกับเค้าจนดำเนินคดีกับสามี สั่งฟ้อง เรียกค่าเสียหาย “ เอาลูกออกมาอยู่บ้านญาติที่ปลอดภัย ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่เค้ามีความคิดความเชื่อไม่เหมือนเรา ผู้หญิงที่นั่นโดนทำร้ายเยอะมาก การทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่นั่นเห็นคุณค่า และรู้ถึงสิทธิของตัวเอง ก็เป็นความประทับใจของเรา
ตำรวจ ในยุค4.0 คิดว่าต้องปรับตัวอย่างไร
ต้องปรับตัวเองให้ตื่นตัวกับแนวคิดใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อพัฒนาตนเอง แต่ยังเพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากร ที่เค้ามีการพัฒนาแผนการตลอดเวลา นอกจากนี้เทคโนโลยียังเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน สร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างตำรวจกับประชาชน หากเราใช้มันให้ถูกต้อง
ปิดท้ายบทสนทนา กับสารวัตรคนเก่ง
“การทำงานอย่างสุจริต และเป็นมืออาชีพ” คือสิ่งที่เธอยึดถือ และเธอจะพัฒนาความรู้ในงานของตัวเอง สม่ำเสมอ เพื่อให้ได้การทำงานที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด