คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
อาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่ใครไม่ได้มาสัมผัส รู้จัก คลุกคลี ก็ย่อมไม่เข้าใจว่า “สื่อมวลชน” จริงๆนั้นทำงานกันอย่างไร บ้างก็พลอยเหมารวมเฟซบุ๊ก ยูทูป เป็นสื่อมวลชนทั้งๆที่เป็นเพียงสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น
นักข่าวที่รู้กันว่าเป็นตัวจริงของจริงนั้นไม่พูดมากครับ ไม่เดินสายกินงานเลี้ยงผู้บังคับบัญชา ขอส่วนแบ่งค่าคุ้มครองตามแหล่งสถานบันเทิง ญาติเสียไม่แจกซอง ถ้าสัมภาษณ์มีที่ลงเป็นผลงานจับต้องได้ในสื่อกระแสหลัก
ในตลอดชีวิตการทำข่าวของผมมา ช่วยคนเดือดร้อนมาก็เยอะ เท่าที่จำได้ขึ้นใจก็คดีนักศึกษาสาว มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี ถูกฆาตกรรม แต่ตำรวจท้องที่สรุปคดีเป็นอุบัติเหตุ นานนับ 8 เดือน ตั้งแต่น้องผู้หญิงเสียชีวิตจนจับคนร้ายได้ แม้ญาติจะไม่เชื่อว่าลงมือฆาตกรรมคนเดียว แต่ตำรวจก็ปิดคดีโดยไม่มีผู้ร่วมลงมือ
ถ้าจะบอกกันตรงๆ อาชีพนักข่าวนั้นก็มีไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน คอยเป็นตัวกลางจากผู้เสียหายสู่ตำรวจ เร่งรัดให้ทำคดี มีหลายครั้งสืบเสาะหาเบาะแสแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยซ้ำไป ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถทำบุญได้ไปในตัวทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก
แต่เมื่อต้องมาประสบเคราะห์กรรมกับตัวเอง หากไม่สนิทชิดเชื้อกันก็แทบจะไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร
คดีที่เกิดขึ้นกับผมตั้งแต่ปี 2556 สาเหตุเกิดจากกลุ่มคนที่ทุจริตในสำนักงานจัดหางาน จ.เชียงใหม่ ลักลอบนำตราปั๊มไปทำเอกสารปลอมหากินกับแรงงานต่างด้าวเถื่อน แต่พอมีคนที่เดินไปขวางทางให้เขาหมั่นไส้ก็จับยัดข้อหา ปลอมและใช้เอกสารราชการให้ผมทันที
ก็อย่างที่บอกละครับ น้อยคนนักจะทราบว่าผมถูกแจ้งข้อหานี้ไว้ ด้วยผมเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ยึดถือว่าโลกนี้ต้องมีความยุติธรรมหากเราไม่ได้ทำผิด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เองผมก็ได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้วว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการปลอมเอกสารราชการ
กว่าจะรู้ว่ามีหมายเรียกส่งไปที่บ้านแล้ว 2 ครั้ง ผมก็เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งแล้ว มาทราบภายหลังว่าหมายจับออกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ก่อนที่ผมจะถูกตำรวจพาทหารนำมาตรา 44 เข้ามาถึงบ้าน สร้างความงุนงงให้กับตัวผมเองและคนละแวกบ้าน
ผมตัดสินใจต่อสู้คดี และเริ่มตระหนักได้ว่า “ระบบกล่าวหา” ที่ใช้กลั่นแกล้งผมครั้งนี้มีช่องว่างในการจะเอาผมติดคุกโดยไม่ได้ทำผิดมากมาย ภายหลังจากยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปเกือบ 3 เดือนเต็ม ในที่สุดอัยการก็สั่งไม่ฟ้องเมื่อวาน (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560)
ขั้นตอนกว่าจะมาถึงอัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น ทั้งเสียเวลา เสียความรู้สึก ทั้งบากหน้าไปขอความช่วยเหลือ ไหนจะต้องมีทนาย 7 เดือนที่ผ่านมากับตราบาปในชีวิตผม ไม่มีอะไรมาแลกแล้วคุ้มเลยแม้แต่น้อย ผมเคยนึกในใจว่านี่หรือคือขั้นตอนในการแก้ข้อกล่าวหาเพื่อทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรม ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นคนผิดเลย
ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีครับ ทำให้ผมเห็นกระบวนการและขั้นตอนหลังจากที่ตำรวจจับผู้ต้องหาไปแล้ว ซึ่งหากเป็นนักข่าวก็คงจบตรงที่จับได้ แต่จริงๆแล้วมีอะไรมากมายที่ผมเชื่อว่าสามารถอธิบายและแนะนำให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากการถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยวิธีการสกปรก
จนถึงทุกวันนี้ แก๊งปลอมเอกสารราชการ ใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวก็ยังอยู่ดีมีสุขกันนะครับ บางคนเติบโตได้ย้ายตำแหน่งไปพื้นที่อื่น บางคนถูกตำรวจจับมีคดีพ่วง 10 กว่าคดี ไม่รู้ประกันตัวออกมาแล้วหนีไปเลยหรือเปล่า รู้แต่ว่าความซวยของผมครั้งนี้ก็ทำให้ผมมีบทเรียนกับกระบวนการยุติธรรมมากพอสมควร
ล่าสุดที่เป็นข่าวขึ้นมาหลังจาก นายจตุรงค์ สุขเอียด ผู้สื่อข่าวคนดังแห่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า น.ส.ณัฐชา หรือ “รัดติ้ว” ทองย้อย อายุ 35 ปี อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสปริงนิวส์ ถูกจำคุกกว่า 6 ปี เพราะก่อนหน้านี้ มีคดีร่วมกับน้องชายพยายามฆ่าคู่กรณี ที่พิพาทที่ดินมานาน เธอกลับบ้านไปเยี่ยมแม่พอดี ตอนน้องชายกับคู่กรณีทะเลาะกัน แล้วยิงปืนไปที่ขาคู่กรณี จึงถูกฟ้องฐานสนับสนุนพยายามฆ่าด้วยเธอไม่คิดว่าคดีตัวเองมีมูล จึงไม่เคยบอกหรือขอความช่วยเหลือจากองค์กรหรือผู้ใหญ่ให้เสียจริยธรรมนักข่าว
ที่สุดศาลเชื่อปากคำคู่กรณี จึงต้องโทษจำคุกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาเหตุที่ เธอไม่ร้องเรียนตั้งแต่แรก เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง และกระบวนการยุติธรรม
นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งครับ ซึ่งแม้กระทั่งเป็นนักข่าวเองยังต้องถามถึงว่า ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน แล้วถ้าเป็นตาสีตาสาชาวบ้านธรรมดาถูกรังแก ใครจะเมตตาพวกเขา