Wednesday, December 11, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวัน“บิ๊กต่อ”ผงาดนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14

    “บิ๊กต่อ”ผงาดนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 14

    วันที่ 27 ก.ย.66 ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.นัดประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 10/2566 เวลา 13.30 น.วาระสำคัญ คือ พิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.และขอขยายระยะเวลาการพิจารณาแต่งตั้งนายพลระดับ รอง ผบ.ตร.-ผบก.ประจำปี 2566 ออกไปอีก 1 เดือนให้มีผลภายในเดือน ต.ค.

    นายกนิดเข้าถ้ำเสือทุ่งปทุมวันครั้งแรก

    พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. แคนดิเดตเข้าร่วมให้การต้อนรับพร้อมนายตำรวจตั้งแถวจัดกองเกียรติยศเพื่อให้การต้อนรับนายเศรษฐาที่เข้ามาร่วมประชุม ก.ตร.ครั้งแรก ก่อนเดินถวายสักการะพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ก่อนเข้าประชุม ก.ตร. ที่ห้องศรียานนนท์ ชั้น 2 โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับกลุ่มผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่เฝ้าคอยทำข่าวการแต่งตั้ง ผบ.ตร.

    มีรายงานว่า นายกฯได้เข้าหารือกับ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นการส่วนตัวคาดว่าจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนที่ 14 ใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง เข้าประชุม โดยมี นายเศรษฐา เป็นประธานการประชุม ก.ตร.

    ขยับวาระการเสนอชื่อ ผบ.ตร.จากลำดับสุดท้ายมาเป็นลำดับแรก  มี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช. พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รองผบ.ตร. ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากเลือกตั้ง พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง

    ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากแต่งตั้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะเลขาธิการ ก.พ.ร.

    ส่วนรองผบ.ตร.ที่อยู่ในข่ายเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.ที่เข้าร่วมประชุม 2 คน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ต้องเดินออกมารอนอกห้องประชุม คาดว่าจะเป็นการประชุมคัดเลือก ผบ.ตร. โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. และพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ อาวุโส ลำดับ 1 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

    ก.ตร.ใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร.ที่มีประสบการณ์ในการทำงานสืบสวนสอบสวน งานป้องกันปราบปราม ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอชื่อเข้ามารับตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 14

    ประวัติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” เกิดวันที่ 27 ม.ค.2507 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี น้องชาย พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น “สิงห์แดง” รุ่นที่ 38 และคว้าปริญญาโท ศิลปศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

    เข้ารับราชการตำรวจปี 2540 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยเป็น “พนักงานบริษัท” บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ทำงานอยู่ได้ 7 ปีตัดสินใจลาออกเพื่อเดินหน้าทำตามความฝันในวัยเด็กคือการเป็นตำรวจ

    เข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ บรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 เริ่มต้นทำงานในเส้นทางตำรวจในตำแหน่งรองสว.กก.สายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 โยกย้ายมาเป็นรองสว.กองปราบปราม แล้วขึ้นไปเป็น “สารวัตร” ที่ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะโยกกลับมาเป็นสว.กก.ปพ.บก.ป. รองผกก. ปพ.บก.ป. ผกก. ปพ.บก.ป.และรองผบก.ป.

    ถือเป็น “ลูกหม้อกองปราบ” ก้าวกระโดดจากตำแหน่ง ผบก.ถปภ. รองผบช.ก. ผบช.ก.ผู้ช่วยผบ.ตร.และรองผบ.ตร. ระหว่างรับราชการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ รับฉายา “มือปราบสายธรรมะ” และ “โรโบคอปสายบุญ” จากภาพนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงานและเดินสายปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ

    รองโจ๊ก-รองรอยติดภารกิจไม่ได้ร่วมประชุม

    มีรายงานว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.ทั้งหมด 16 ท่าน แต่พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วมประชุม

    เชิญรองต่อ-รองรอยออกนอกห้อง

    ก่อนการประชุมจะเริ่ม นายกรัฐมนตรี ได้เชิญก.ตร. 9 ท่านยกเว้นพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.ซึ่งเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คนใหม่ เข้าหารือกันนอกรอบที่ห้องพรหมนอก ก่อนเริ่มประชุมในเวลา 15.00 น. โดย เชิญพล.ต.อ.กิตติ์รัฐและพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียออกจากห้องประชุม

    จากนั้นนายเศรษฐา ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้วิธีลงคะแนนอย่างเปิดเผย

    ปรากฏว่า ก.ตร. 9 ท่านเห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ

    มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เห็นชอบ ส่วนนายเศรษฐา ในฐานะประธานที่ประชุม และนายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ งดออกเสียง

    โฆษกตร.แถลงผลการประชุม

    ภายหลังการประชุม พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจและมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แถลงแทน การประชุมก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 วันนี้มีการประชุม ก.ตร.โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้เข้ามาประชุม ก.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี ผบ.ตร.ให้การต้อนรับ และมีการประชุมก.ตร. ได้ให้การต้อนรับและมีการประชุมก.ตร.

    ได้ผบ.ตร.คนใหม่อยู่-นำความกราบบังคมทูล

    เรื่องสำคัญในวันนี้เป็นเรื่องของการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. วันนี้จึงได้มีการประชุมคัดเลือกแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่  การแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่นั้นมีการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ที่จะเป็นผบ.ตร.ท่านใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนการธุรการ เพื่อนำความกราบบังคมทูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้

    ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องการขยายระยะเวลาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2566 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อความเหมาะสม และได้มีการพิจารณารายชื่ออย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงได้มีการขยายระยะเวลาออกไปก่อนและให้มีการพิจารณารายชื่ออย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้มีการขยายระยะเวลาออกไปก่อน

    ยึดหลักอาวุโสและความสามารถ

    เมื่อถามว่ามติการคัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่เป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนธุรการที่จะเตรียมนำความกราบบังคมทูลต่อไป สำหรับการพิจารณาผบ.ตร.คนใหม่ ยึดหลักตามข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในเรื่องความอาวุโสและความรู้ความสามารถ ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปราม

    ส่วนเรื่องวาระในการพิจารณาเป็นเรื่องของที่ประชุมจะพิจารณาตามระเบียบนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาเสนอรายชื่อให้ก.ตร.มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ในที่ประชุมไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่าวันนี้มีการพิจารณารายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนในการแต่งตั้งจะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด การแต่งตั้งประจำปี 2566 ต่อไป ส่วนการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2566 จะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้

    นายกนิดชูนิ้วโป้งให้สื่อ

    ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามเพียงแต่ ชูนิ้วโป้งให้กับสื่อมวลชนหลัง ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าสบายใจแล้วหรือไม่ ก่อนจะตรวจแถวกองเกียรติยศ และเดินทางกลับทันที

     

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments