Friday, October 4, 2024
More
    Homeบทความทั่วไประบบตำรวจกลืนกินตำรวจ

    ระบบตำรวจกลืนกินตำรวจ

    ไม่ทราบว่าใครเขียน แต่อ่านแล้วมันใช่เลยกับคำว่า“ระบบตำรวจ”ในทุกวันนี้ ลองอ่านดูกันครับ

    ส่วยน้ำมันเถื่อน ส่วยรถบรรทุก ส่วยของหนีภาษี ส่วยค่าปรับเถื่อนงานจราจร ส่วยแรงงานต่างด้าว ส่วยสถานบริการ ส่วยยาเสพติด ส่วยบ่อนพนัน ส่วยการพนันออนไลน์ ส่วยโรงไม้โรงเลื่อย ส่วยจากค่าคุ้มครอง ส่วยจากการไม่จับไม่ดำเนินคดีทั้งหมดต่อผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นที่มาของ “เงินนอกระบบ” นั้น ในวันนี้กลายเป็น “เงินปกติ” ของระบบตำรวจ

    ถ้าไม่มีจึงจะถือว่า “ผิดปกติ”!

    ใช่! เรื่องแบบนี้ไม่มีสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจและมหาวิทยาลัย แต่ “วันแรก” และ “เดือนแรก” กระทั่ง “ปีแรก” ที่รับราชการตำรวจ คุณก็จะเริ่มสัมผัสได้ถึง “กลิ่นสาบเสือ”

    “ระบบตำรวจ” จะทำให้อุดมคติผู้พิทักษ์สันติราษฎร์บิดเบี้ยว สัตย์ซื่อมิสู้สอพลอ จริงเป็นเท็จ เท็จเป็นจริง มือถือสากปากถือศีล เข้าวัดเข้าวาไปไหว้พระ ปล่อยนกปล่อยปลา พอพ้นประตูวัดออกมาก็เข้าสู่ระบบบาป

    บำเหน็จ 2 ขั้นไม่ได้มีไว้ให้ตำรวจที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน

    การลงโทษทัณฑ์ไม่ว่าอาญาหรือวินัยใช้อย่างเข้มข้นกับ “ผู้น้อย” แต่ผ่อนปรนและมีข้อยกเว้นสำหรับ “ผู้ใหญ่” หรือนาย รวมทั้งกับพรรคพวกของนาย

    ตัวแบบที่เห็นกันชินชาก็คือตั้งแต่ “หัวแถว” ยัน “ปลายแถว” ใช้เครื่องแบบตำรวจ ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์

    นั่นคือสภาพภายในขององค์กรที่ถูกเรียกว่า “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรม

    ตํารวจ ประหนึ่งเป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม คำหรูนี้ฟังแล้วฟู แต่ความจริงก็คือ “งานสอบสวน” ซึ่งมีหน้าที่ซักถามบันทึกปากคำพยาน รวบรวมหลักฐานทำสำนวนคดีเพื่อให้พนักงานอัยการนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลนั้น

    เป็นงานที่ตำรวจ “หนีสุดชีวิต” ไม่มีอิสระ ถูกล้วงลูกจากผู้มีอำนาจ ค่าตอบแทนต่ำ ขวัญกำลังใจแย่ จนบางท่านถึงกับประชดประชันเปรียบเปรยสภาพตำรวจฝ่ายสอบสวนว่า

    “แตกพ่าย นายอ่อน หย่อนพล ป่นปี้”

    ไม่มีระบบบริหารจัดการงานสอบสวนที่ดี อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งๆ ที่ราคาไม่ได้แพงเหมือนเรือดำน้ำ แต่ก็ขาดแคลน ตำรวจต้องซื้อหาเอง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่เหลียวแล มีแต่สั่งๆ เร่งรัด ข่มขู่ คาดโทษ ไม่ช่วยบรรเทาทุกข์ พนักงานสอบสวนที่ดีก็ดีไป แต่ในส่วนที่เลวก็หมกเม็ด เก็บละเอียด

    ที่ว่าวินวินนั่นคือฉวยโอกาสฟาดทั้งสองฝั่ง “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมที่ฟังแล้วชวนให้ “ฟู” นั้น ความจริงแล้ว “เหี่ยวแฟบ” โดดเดี่ยว อ้างว้างวังเวง ตำรวจฝ่ายสอบสวนไม่ใช่บุคลากรที่มีความสำคัญของหน่วย ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น

    คนที่เจริญคือ “นักสร้างภาพ” นักบุญในสื่อสาธารณะ แต่เป็น “คนบาป” ของผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน

    กลายเป็นแนวประพฤติปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น จาก “หัว” ถึง “หาง” ตั้งแต่ “ต้น” ยัน “ปลาย”เป็นเช่นนั้นมานานนักจนฝังรากหยั่งลึกเป็น “ระบบตำรวจ”!

    คําถามก็คือ ใครจะขวาง ใครหรือที่จะผ่าตัด!

    ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล ผู้นำตำรวจ ไล่ไปถึงหัวหน้าหน่วยผู้องอาจกล้าหาญทุกระดับชั้นลองถามกับตัวเองเถอะว่า “กล้าหรือไม่” กล้าที่จะคิด กล้าริเริ่มลงมือ “เปลี่ยน” จากสิ่งที่เป็นอยู่หรือไม่

    เช่น กล้าที่จะ “ไม่รับ” กล้ากระโจนเข้ามีส่วนร่วมในทันทีที่มีโอกาสเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

    ล่วงผ่านมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมา “ไม่มีใครกล้า”!

    ถึงที่สุดแล้วทุกคนก็จะรักษาระบบที่เน่าเฟะเอาไว้ เพราะระบบนั้นสามารถ “สนองตอบ” ประโยชน์ส่วนตัวกับจุดประสงค์ทางการเมืองให้บรรลุ

    ตำรวจจึงยังคงถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ของผู้มีอำนาจทางการเมือง

    และภายใต้ข้ออ้างว่า งบประมาณมีไม่พอ ตำรวจก็ยังคงถูกปล่อยให้เป็น “เสือ” ที่ไล่ล่าหาเหยื่อเอาตามสะดวก ทั้งๆ ที่เป็นงานของ “มิจฉาชีพ” หรืออาชญากร

    ไม่มีประจักษ์หลักฐานใดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า “รัฐไทย” ให้ความสำคัญกับคำว่า “นิติรัฐ” ดังนั้น คำว่า “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมก็แค่พูดไปให้ดูมีราคา หากแต่ทฤษฎีก็ส่วนทฤษฎี การปฏิบัติก็ส่วนปฏิบัติ ทั้งสองอาจต้อง “สวนทางกัน” ตามสำนวนที่เรียกว่า “พูดอย่าง-ทำอย่าง” กฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมายมีไว้ “บังคับใช้” กับคนจำนวนหนึ่งจริง แต่ก็สามารถ “ยกเว้น” หรือผ่อนปรนให้กับคนอีกจำพวกหนึ่ง

    เช่นนี้จึงเกิดคำกล่าว “กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์” ภายใต้กฎหมายเดียวกัน แต่คนหาเสมอกันไม่!

    กว่า 20 ปีมานี้ผู้ทรงภูมิความรู้ ทรงคุณวุฒิหลายท่านพยายามจะช่วยกัน “ปฏิรูปตำรวจ” และหลายท่านก็ได้ล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ “ระบบตำรวจ” ก็ยังเหมือนเดิม

    “ส่วย” ยังคงเดินทางจาก “ข้างล่าง” ไป “ข้างบน”

    ระบบตำรวจกลืนกินตำรวจ

    ความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ไม่มีส่งเสริมคนทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็น “ตัวแบบ” ตำรวจอาชีพ

    นายยังคงใช้ลูกน้องให้หาผลประโยชน์

    แม้จะเป็น “บางช่วง” แต่ก็ “มีบ่อยครั้ง” ที่นักการเมือง (ใหญ่) ไถตำรวจแลกกับ “ตำแหน่ง” โดยบางยุคอ้างว่า “หาเงินให้พรรค”

    สำหรับบางช่วงที่ไม่มี “พรรค” ก็ว่า หาเงินส่งให้ “บิ๊ก”

    “การเมืองเลว” ต้องอยู่คู่กับ “ระบบตำรวจ” ที่เลวๆ ไปจวบฟ้าดินสลาย!

    การปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมากลายเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่ง

    ถ้าหากการเมืองดี ผู้มีอำนาจจะมองเห็นความสำคัญของตำรวจในฐานะ “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม จะมองเห็นปัญหาและเข้าใจปัญหาของตำรวจ สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมครบถ้วน ประมวลสรุปแล้ว “กล้าลงมือ” ผ่าตัดจัดการสะสางอย่างจริงจังเป็นลำดับขั้นตอนจนสำเร็จลุล่วงไปนานแล้ว

    แต่ที่นี่ไม่มีความเป็น “นิติรัฐ” ไร้ซึ่ง “นิติธรรม”

    พูดแต่ปาก เรียกร้องให้คนเคารพกฎหมาย แต่ไม่เสมอหน้า ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ชอบความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ชอบมุบมิบ ลุแก่อำนาจ การเมืองที่เลวๆ จะเชิดชูการฉ้อฉล นิยมชมชอบการใช้กำลังปล้นชิง รวมศูนย์อำนาจและผลประโยชน์

    หัวใจคือรับใช้ “นาย” ไม่ใช่ประชาชน

    การเมืองเลวเกื้อกูลแก่ระบบตำรวจปัจจุบัน

    การผ่าตัดองค์กร การปฏิรูปตำรวจอย่างถึงราก การกระจายอำนาจล้วนแล้วแต่จะสร้างความสูญเสียทั้งต่อ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์”

    #ใครล่ะจะปฏิรูป!?!!!

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments