Thursday, November 14, 2024
More
    Homeปร์วีร์ บันทึกท่องเที่ยวเชิญชวนชมลูกนกกระสาคอขาวหัดบินที่ป่าดงใหญ่บุรีรัมย์

    เชิญชวนชมลูกนกกระสาคอขาวหัดบินที่ป่าดงใหญ่บุรีรัมย์

    องค์การสวนสัตว์ฯ สร้างผลงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากระดับเพชรยอดมงกุฎอีกครั้ง ได้ลูกนกกระสาคอขาวหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

    ปฐมบทแห่งความพากเพียรพยายาม ท่ามกลางความขาดแคลนและวิกฤติการณ์มากมายของทีมงานวิจัยสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สู่วันที่ “นกกระสาคอขาวทำรัง วางไข่ เลี้ยงลูกในธรรมชาติ” ได้สำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย

    นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ และนายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดเผยว่า

    จากความพยายามศึกษาวิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บริษัทแปซิฟิคเฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ โรงพยาบาลสัตว์พรีเมียร์

    ในการนำนกกระสาคอขาวที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตของประเทศไทย (รวมถึงสูญพันธุ์ไปแล้วหรือกำลังลดจำนวนลงอย่างมากในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญของประเทศ ภายใต้เป้าหมาย แรงบันดาลใจ ว่า “มุ่งมั่น ตั้งใจ ส่งนกกระสาฯ สู่ฟ้าเมืองไทย” มานานเกือบ 7 ปี

    (ตั้งแต่กระบวนการสร้างกรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ การฟื้นฟูพฤติกรรมตัวสัตว์ (rehabilitation) การทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวระบบสัญญาณดาวเทียม GPS/Argos การทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคนิค การคัดเลือกพื้นที่ปล่อยที่เหมาะสม การสร้างกรงเตรียมปล่อย (กรง soft release) การเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ากรง soft release

    จนนำไปสู่การทดลองปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ (Rewilding) ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ ครั้งแรก  14 ตัว เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 และครั้งที่สอง จำนวน 5 ตัว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566

    เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในรัชกาลที่ 10

    บัดนี้นกกระสาคอขาวที่ทดลองนำกลับคืนสู่ธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้จับคู่ผสมพันธุ์ วางไข่ และได้ลูกสำเร็จแล้วในธรรมชาติ ณ อ. โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

    จากการตรวจสอบรายงานบันทึกต่าง ๆ พบว่าความสำเร็จครั้งนี้ คือ รายงานการพบนกกระสาคอขาวทำรังวางไข่ เลี้ยงลูก จำนวน 3 ตัว ได้เป็นครั้งแรกในธรรมชาติของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกของภูมิภาคนี้ที่นกกระสาคอขาวที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์และเติบโตในสภาพการเพาะเลี้ยง ได้รับการฟื้นฟูพฤติกรรมและนำกลับคืนสู่ธรรมชาติตามแนวทางสากลของ IUCN SSC และ AZA (Association of Zoo and Aquarium) แล้วสามารถจับคู่ ทำรัง วางไข่ ได้ลูกในธรรมชาติสำเร็จ

    ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ลูกนก 3 ตัว มีอายุประมาณ 2 เดือนแล้ว ได้รับการดูแลอย่างดีจากพ่อแม่นก และ การสนับสนุนจากชาวบ้าน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กำลังแสดงพฤติกรรมฝึกบิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถบินลงจากรังที่สร้างอยู่บนต้นกระบกที่ระดับความสูงกว่า 15 เมตร ในเร็ว ๆ นี้

    “ขอให้เด็กๆ ทุกตัว เติบโตได้อย่างแข็งแรง และโบยบินสู่โลกกว้างได้อย่างปลอดภัย”

    อย่างไรก็ตามงานของนักวิจัยในโครงการฯ ยังไม่จบ เพราะเราต้องติดตามเหล่านกกระสาคอขาวไปจนกว่า “นกที่เกิดในธรรมชาติ รุ่นแรก” ได้เติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ จนทำรังวางไข่สำเร็จ

    เกิด “นกที่เกิดในธรรมชาติ รุ่นที่สอง และรุ่นที่สาม” จึงถือว่าสามารถปลูกสร้างประชากรอย่างยั่งยืนในธรรมชาติได้สำเร็จ ซึ่งยังไม่ทราบว่าต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปี และต้องใช้เงินทุนวิจัยอีกมากเท่าใด แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด

    ท่านใดที่สนใจจะเข้าไปชมนกกระสาคอขาว ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถติดต่อที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์ฯ ได้ในเวลาราชการ

    ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักดูนกทั้งไทยและต่างชาติ เข้าไปดูนกกระสาคอขาวกันมาก ซึ่งก็สมหวังกันถ้วนหน้า ถ่ายภาพกันไปเต็มการ์ด

    จึงอยากเชิญชวนให้ผู้นำดูนก (Bird leaders) ไปกันมากๆ เพราะจะมีส่วนช่วยกระจายรายได้สู่ธุรกิจท้องถิ่น ในอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน คนขับเรือ ฯลฯ อีกด้วย ภายใต้แนวคิด

    “คนอยู่ได้ นกกระสาคอขาวอยู่ด้วย และช่วยเหลือกันตลอดไป”

    เรียนเชิญมาช่วย “คืนนกกระสาคอขาว สู่ฟ้าเมืองไทย” ไปด้วยกัน.
    ขอวอนประชาชนคนไทยในพื้นที่ จ. บุรีรัมย์ จ. นครราชสีมา จ. สระแก้ว จ. ปราจีนบุรี และ จังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงที่คาดว่านกกระสาคอขาวบินไปอาศัยหากินอยู่ในปัจจุบัน ได้โปรดเมตตาเหล่านกกระสาคอขาวตัวน้อยเหล่านี้ ให้เค้าได้มีโอกาสอยู่รอดได้ในธรรมชาติของประเทศไทย เฉกเช่น นกกระเรียนไทย และสัตว์ป่าอื่น ๆ สืบไป

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments