สมาคมพนักงานสอบสวนแจง เหตุพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายเพราะ คสช. เปลี่ยนโครงสร้างตำรวจ
จากสถิติตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 15ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ผ่านมา มีพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายไปแล้ว 7 นาย จากตำรวจฆ่าตัวตายทั้งหมด 19 นาย
การฆ่าตัวตายของพนักงานสอบสวนแต่ละครั้งมักเป็นข่าวใหญ่เนื่องจาก เกี่ยวข้องกับการทำงานและการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางมาตรการป้องกันไม่ให้ตำรวจฆ่าตัวตาย แต่ล่าสุดเมื่อวันที่6ม.ค.เกิดเหตุสลดอีก
เมื่อพ.ต.ท.เกษมรัฐ วันทอง อายุ 53 ปี รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ช่วยราชการ สภ.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ยิงตัวตายหน้าบ้านในจ.ร้อยเอ็ด
เสมือนย้ำว่า จะกี่มาตรการก็แก้ไขไม่ได้ เพราะแก้ไขไม่ตรงจุด
ก่อนนี้ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุ และการแก้ไขปัญหาตำรวจโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย
1ในนั้นคือพ.ต.ท.พร แก้วช้าง รองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน ระบุไว้ว่า
พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายมากในปีนี้ ก่อนหน้านี้ปี 2561 ก็มีฆ่าตัวตายอยู่บ้างแต่ไม่มาก ถือได้ว่าฆ่าตัวตายมากที่สุดในช่วงปี 2561-2562
โดยพนักงานสอบสวนที่ฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มพนักงานสอบสวนที่ย้ายงานจากสายงานอื่นเข้ามาเพราะว่าสายงานสอบสวนขาดแคลน
เมื่อเขาไม่เคยผ่านงานสอบสวนมาจึงเกิดปัญหา เช่น สอบสวนไม่เป็น ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ดีดไม่เป็น และไม่มีทักษะในการสอบสวน
ทำให้ถูกบีบคั้นด้วยการงาน เงินประจำตำแหน่งจากสายงานปราบปรามหรือสืบสวนก็หายไปเลย
แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะมีเงินประจำตำแหน่ง 12,000 บาท แต่ในเบื้องต้นยังไม่ได้ทันที. จะได้ก็ต่อเมื่อผ่านการอบรม ผ่านการฝึกงาน จนได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้ว จึงจะได้เงินตำแหน่ง เพราะฉะนั้นช่วงแรก 4-6 เดือนของการฝึกงานจึงไม่มีเงิน
พ.ต.ท.พร กล่าวต่อว่า คนที่ถูกย้ายมาจากสายงานอื่นจะเริ่มรู้ถึงความลำบากจนท้อแท้ เพราะไม่ถนัดงานสอบสวน
แม้ว่าในช่วงแรกที่ย้ายมาผู้บังคับบัญชาจะมีมาตรการให้มานั่งคู่กับพนักงานสอบสวนเพื่อศึกษางาน แค่นี้เขาก็เกิดความเครียดแล้ว
ตำรวจบางรายที่ฆ่าตัวตายจึงฆ่าตัวตายก่อนที่จะเข้าอบรมหลักสูตรพนักงานสอบสวนด้วยซ้ำ โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายที่เขาเขียนทิ้งไว้ให้ครอบครัว จนบางครอบครัวถึงกับบ่นกับตนว่าคำสั่งย้ายนั้นเมือนกับคำสั่งฆ่าสามีหรือพ่อ ของเขา
นอกจากนี้บางคนฆ่าตัวตายขณะเข้าอบรมก็มี พวกนี้เขาเกิดความเครียดจากการที่เขาจะต้องมาอยู่งานสอบสวนโดยที่ไม่สมัครใจ พวกเขารู้สึกว่าทำงานไม่ได้ พอเกิดความเครียด สิ่งที่ตามมาก็คือโรคซึมเศร้า
“สาเหตุที่มีการโยกย้ายตำรวจสายงานอื่นเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวน เนื่องจาก คสช. ออกคำสั่ง คสช.ที่ 7 เมื่อเดือน ก.พ.2559 โดยไปยกเลิกมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
คือยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนเดิมที่เป็นแท่งพนักงานสอบสวน ทำให้ตำรวจที่อยู่ในงานสอบสวนไปอยู่ระนาบเดียวเหมือนกับตำแหน่งอื่นๆ ทั่วไป
เมื่อเหมือนตำแหน่งอื่นๆ ทั่วไป ทุกสายงานก็ย้ายเข้ามาสอบสวนได้หมด และพนักงานสอบสวนเดิมก็ย้ายออกไปนอกสายได้
บางส่วนก็เกษียณไป รุ่นใหม่เข้ามาทดแทนก็ต้องรับจาก ร.ต.ต.ก็ยังไม่เป็นงาน กำลังจึงไม่พอ ทำให้ต้องย้ายจากสายอื่นเข้ามา ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากคำสั่งที่ 7 ของ คสช. เลย เป็นต้นเหตุให้เกิดระบบอย่างนี้
มันเป็นผลสะสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาสุขงอม ปี2561-2562 พนักงานสอบสวนมันขาดแคลน มันก็เกิดวิกฤต คนมันก็ไม่อยากอยู่ มันก็เลือกตาย”
รองนายกสมาคมฯกล่าวและต่อว่า
พนักงานสอบสวนเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครอยากมา ก็เพราะว่างานสอบสวนเมื่อออกเวรแล้ว ออกไม่ได้
งานอื่นเวลาออกเวรก็กลับบ้านอยู่กับลูกกับเมีย แต่พนักงานสอบสวนออกเวรแล้ว ยังมีงานค้างอยู่ ยังรับแจ้งความไม่จบ
บางครั้งผู้ต้องหายังไม่ได้สอบ ต้องสอบสวนให้เสร็จ เพราะจะต้องรีบนำไปส่งศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมงตามกฎหมายกำหนด เขาจึงไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว
เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่างานมันไม่ค่อยเป็นเวลา เพราะมันเป็นเรื่องของการสอบสวนเอาคนเข้าคุก เป็นเรื่องของกฎหมาย ผิดพลาดไม่ได้ ถ้าพลาดตัวเองก็เดือดร้อน เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี
อาจจะต้องเป็นผู้ต้องหาความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก็ได้ มันจึงเกิดความเครียดจึงเป็นตำแหน่งงานที่ไม่มีใครเขาอยากมา
“พนักงานสอบสวนที่ฆ่าตัวตายที่โรงพักมาบอำมฤต จ.ชุมพร เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เมียเขาพูดเลยว่า คำสั่งแต่งตั้งสามีเขาไปเป็นพนักงานสอบสวน คือ “คำสั่งตายสามีเขา”
ไอ้เวิร์ดดิ้ง อันนี้ มันก็กระจายไปตามสื่อนะ มันก็ทำให้หลายๆ คน เขาก็มองว่า มันน่าจะเป็นจริง
เพราะมันไม่ใช่ผู้กองคนนี้รายเดียว ที่ฆ่าตัวตาย มันฆ่าตัวตายต่อมาอีกตั้งหลายราย มันก็เลยกลายเป็นว่าเป็นเรื่องของคำสั่ง เป็นคำสั่งตาย
ครอบครัวเขาโกรธนะ และเสียใจว่าทำไม สามีเขาทำไม่เป็น แล้วย้ายเขาทำไม เขาไม่ได้สมัครใจ
เราก็ได้แต่บอกเขาว่าเป็นตำรวจมันต้องทำได้ทุกหน้างาน ทำได้ทุกอย่างเมื่อมีคำสั่งออกมามันก็ต้องไป คำสั่งนั้นก็เป็นคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย มันปฏิเสธไม่ได้
เป็นเรื่องที่จะต้องปรับสภาพให้อยู่ได้ จะไปโทษคำสั่งเสียโดยตรงเลยมันก็ไม่ถูก แต่เขาก็มีความรู้สึกว่าคำสั่ง มันทำให้สามีเขาตาย”
พ.ต.ท.พร กล่าวถึงประสบการณ์ตรงที่เขาพูดคุยกับครอบครัวตำรวจที่ฆ่าตัวตาย
พ.ต.ท.พร กล่าวต่อว่า
ปัจจุบันสมาคมพนักงานสอบสวนมีเงินสวัสดิการให้พนักงานสอบสวนที่ฆ่าตัวตายรายละ 10,000 บาท มันไม่คุ้มหรอกสำหรับค่าชีวิตของเขา
ในส่วนราชการเองเขาก็คงไม่ได้ทดแทนอะไร เพราะเป็นการฆ่าตัวตายเอง บำเหน็จบำนาญก็ไม่ได้จะได้บ้างก็ตำรวจที่มีอายุงาน 25 ปีขึ้นไป เงินต่างๆก็คำนวนไปตามสิทธิของแต่ละคน แต่บำเหน็จพิเศษหลังเกษียณไม่ได้
แน่นอน การแก้ปัญหาตนคิดว่าอันดับแรกเลย ระบบแท่งพนักงานสอบสวนควรจะกลับมาตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 และไปแก้ปัญหาให้พนักงานสอบสวนได้เติบโตในสายงานของเขาด้วย
เครดิต วัสยศ งามขำ นสพ.บางกอกโพสต์