ในวงการข่าว”อาชญากรรม”มีนักข่าวบนถนนน้ำหมึกสายนี้อยู่ไม่น้อย ไล่เรียงกันตั้งแต่รุ่นเล็กจนไปถึงรุ่นใหญ่ ซึ่งแต่ล่ะคนมีผลงานทั้งด้านการข่าวและการถ่ายภาพ
ในคอลัมน์นี้จะกล่าวถึงนักข่าวรุ่นกลาง อย่าง “ นายกิตติพงษ์ มณีฤทธิ์ หรือ ขวัญ เนชั่น “ ผู้ซึ่งเข้ามาสู่วงการในช่วงเปลี่ยนถ่ายที่ซึ่งอินเทอร์เน็ต 3G เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานข่าวมากขึ้น
“ขวัญ เนชั่น” วัย 31 ปี อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์จากรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นชาวกรุงเทพมหานครแต่กำเนิด จบมัธยมปลายจากโรงเรียนศรีวิกรม์ ก่อนที่จะตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ เอก สิ่งพิมพ์ ด้วยใจรักการถ่ายภาพ
ในขณะที่ศึกษาได้เรียนรู้ตั้งแต่วิชาทฤษฎีการสื่อสารเบื้องต้น ขยับขึ้นไปเรียนการถ่ายภาพ โดยได้เรียนและใช้งานทั้งกล้องฟิมล์และดิจิตอล และยังสามารถทำคะแนนได้ดีในวิชานี้อีกด้วย ก่อนที่จะเริ่มเรียนวิชาการเขียนข่าวประเภทต่าง ๆ
จนกระทั่งถึงปีการศึกษาที่ 3 ได้ออกไปฝึกงาน โดยได้เลือกฝึกงานกับ นสพ.เดลินิวส์ และได้ถูกจับไปให้ฝึกงานเป็นนักข่าวศาล อยู่หลายเดือน ผ่านการสอนจากรุ่นพี่นักข่าวหลายท่าน จนซึมซับบรรยากาศของการเป็นนักข่าว และได้นำประสบการณ์ตรงนี้มาในวิชาการทำหนังสือพิมพ์ของม.กรุงเทพ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นสพ.บ้านกล้วย” โดยได้เลือกอยู่โต๊ะข่าวกีฬา
และยังได้ฝึกทำนิตยสารของม.กรุงเทพ ซึ่งเลือกอยู่คอลัมน์หน้าการท่องเที่ยว เนื่องจากจะได้แสดงฝีมือในการถ่ายภาพให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ดีหลังจากเรียนจบได้ไม่กี่เดือนก็สามารถผ่านการทดสอบได้เข้ามาเป็นนักข่าว นสพ.เดลินิวส์ ที่อดีตตนเองเคยได้ฝึกงานในช่วงยังศึกษาอยู่
เริ่มต้นบนนถนนน้ำหมึกด้วยการเป็นนักข่าวฝึกหัดสายอาชญากรรม
กิตติพงษ์ เล่าว่า เริ่มทำงานในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2554 โดยหัวหน้าได้ส่งไปฝึกกับ “ตั้ว เดลินิวส์” ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ในช่วงแรกเหมือนถูกพี่ตั้วแกล้งที่สั่งให้ไปวิ่งรอบสนามอยู่หลายวัน แต่ก็เนื่องจากด้วยน้ำหนักตัวผมเองที่มากเกินจึงทำให้พี่เล็งเห็นว่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานและอยากให้เรามีสุขภาพที่ดี พร้อมกับสอนการเขียนข่าวเบื้องต้น การถ่ายภาพข่าว ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนการถ่ายภาพอย่างอื่น โดยเน้นย้ำถึงความว่องไว ต้องคิดก่อนถ่ายภาพ
และที่ต้องจำไว้ในหัวเสมอว่า โอกาสในการถ่ายภาพเรามีเพียงครั้งเดียว ดังนั้นภาพข่าวจึงแตกต่างออกไปจากการถ่ายใด ๆ
หนึ่งเดือนต่อมาได้ไปฝึกกับกับพี่นักข่าวเดลินิวส์อีกหลายคน อาทิ พี่นก พี่เติ้ล พี่ต่อ ทุกคนล้วนมีฝีมือในการทำข่าวมาหลายปี และในช่วงนี้เองที่ได้เรียนรู้การเขียนข่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากบางโอกาสได้แทนเวรพี่ ๆ ลงสนามเป็นตัวจริงบ้างแล้ว
เข้าสู่การเรียนรู้ชีวิตนักข่าว
กิตติพงษ์ ยังจำได้ดีถึงการฝึกการใช้ชีวิตในแบบนักข่าวอาชญากรรม เริ่มจากการหัดท่องรหัสวิทยุ นามเรียกขานของหน่วยงานต่าง ๆ เรียนรู้ชั้นยศของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่จะเข้ามารู้จักพี่ ๆ ตำรวจ โดยมีพี่นักข่าวอาชญากรรม ทั้งนสพ.เดลินิวส์ และฉบับอื่น ๆ ช่วยแนะนำ เริ่มรู้จักตั้งแต่ตำรวจชั้นประทวนเรื่อยจนไปถึงระดับผู้บังคับบัญชา และหลายคนก็เป็นแหล่งข่าวชั้นดีในเวลาต่อมา
ข่าวแรกที่ที่ได้ลงมือทำหลังจากได้ฝึกงาน
กิตติพงษ์ พูดถึงข่าวแรก ๆ ที่ได้ลงมือทำ นั้นคือ ข่าว ด.ญ.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือน้องธันย์ ขณะนั้นอายุ อายุ 14 ปี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.ตรัง ที่เดินทางไปเรียนซัมเมอร์ ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เกิดประสบอุบัติเหตุโดนคนเบียดจนตกรางรถไฟฟ้าทับขาขาดทั้งสองข้าง ต่อมาได้มารักษาตัวที่รพ.แห่งหนึ่งในจ.นนทบุรี ผมเองได้มีโอกาสสัมภาษณ์น้องเขาตัวต่อตัว และได้ลงมือพิมพ์ข่าวเอง ซึ่งเคสนี้ยังจำได้อยู่ในใจ
เหตุการณ์นำ้ท่วม ปี 2554 ถือว่าทำให้ได้ลิ้มรสความเป็นนักข่าวภาคสนาม
กิตติพงษ์ เล่าเหตุการณ์ทำงานช่วงน้ำท่วมใหญ่ ว่า ในช่วงปลายปี 2554 มีน้ำท่วมใหญ่ทั่้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผมถูกส่งไปทำข่าวที่จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพี่เลี้ยงไปด้วยคือ พี่นก เดลินิวส์ เมื่อมาถึงที่จ.พระนครศรีอยุธยา พี่นก ได้ปล่อยให้ผมไปเก็บภาพทำข่าวคนเดียว โดยตัวพี่แกช่วยดูอยู่ห่าง ๆ ผมก็ตั้งใจเก็บภาพมาให้ได้มากที่สุด ได้เข้าไปทำข่าวการช่วยเหลือผู้ป่วยในรพ.ที่ถูกน้ำท่วม
และวันที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะน้ำทะลักเข้าท่วม ใช้เวลาในการทำข่าวอยู่ประมาณ 4 วัน ก่อนที่ตนเองจะได้รับบาดจ็บที่หัวเข่า และถูกนำตัวมารักษาที่กทม. ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปผมได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าให้ลงตระเวนเขตใต้
ข่าวใหญ่ข่าวแรกชีวิตนักข่าวตัวจริง
กิตติพงษ์ กล่าวถึงข่าวใหญ่สำหรับการขึ้นเป็นนักข่าวตัวจริง ว่า วันนั้นเป็นบ่ายของวันที่ 14 ก.พ. 55 ซึ่งเป็นวันแห่งความรักที่ถือว่าเป็นวันที่ดีของใครหลายคน แต่แล้วในช่วงบ่ายของวันนั้นเองได้เกิดเหตุระเบิดใหญ่ในพื้นที่สน.คลองตัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตนเองเข้าเวรบ่ายแต่ยังไม่ถึงเวลาเวรได้รับทราบข่าวจึงรีบนั่งวินจยย.จากสยามไป จำได้กว่าเสียค่าจยย.รับจ้างไปหลายร้อย
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุก็ตกใจว่าเนื่องจากเป็นเหตุใหญ่ที่สุดตั้งแต่ขึ้นรถตระเวน ผมก็ตั้งสติถ่ายรูปทำข่าวด้วยความตั้งใจและสุดฝีมือ โดยมีพี่ๆนักข่าวช่วยประคอง ด้วยเหตุนี้ตนเองได้ตามข่าวเป็นเวลานับเดือน มีทั้งโดนตีหัว หาประเด็นเดี่ยวสู้กับฉบับอื่น ๆ จุดนี้เองทำให้ได้รับประสบการณ์อย่างมากในการทำข่าวนี้
ข่าวม็อบก็ได้ลุยมาแล้ว
กิตติพงษ์ เปิดเผยถึงความรู้สึกของการทำข่าวม็อบ ว่า ม็อบแรกที่ได้ทำคือม็อบที่มี เสธ.อ้าย เป็นแกนนำในขณะนั้น การทำข่าวม็อบครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การที่ต้องเจอผู้คนมากมาย ต้องพูดคุยสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ รวมไปถึงการปะทะระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ มีความละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นการฝึกการรายงานข่าวของเราด้วย อีกทั้งการใช้ชีวิตกินอยู่ในม็อบ การผ่านทำข่าวม็อบทำให้รู้สึกว่าได้ประสบการณ์การเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันได้เป็นอย่างดี
เสี่ยงตายในม็อบ
กิตติพงษ์ ยังคงจำเหตุการณ์ที่ ด.ต.ธีรเดช เล็กภู่ (ยศเดิมขณะนั้น)ตำรวจใจกล้าเตะระเบิดที่ตกอยู่ตรงหน้าแนวเพื่อนตำรวจที่กำลังป้องกันแนวจากม็อบกปปส. จุดแยกผ่านฟ้าฯ จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า
วันนั้นตนเข้าเวรตระเวน ทางหัวหน้าได้สั่งให้ไปทำข่าวม็อบกปปส. วันนั้นเป็นวันที่เหตุการณ์กำลังคุกรุ่น มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและม็อบ มีเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 5 นัด ในขณะนั้นตนเองมีน้องฝึกงานอยู่หนึ่งคนที่ติดตามมาทำข่าวด้วย จึงได้พาน้องไปหลบอยู่ภายในรถ ก่อนเดินกลับมาถ่ายภาพทำข่าวตรงจุดแยกผ่านฟ้าฯต่อ
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อมีเสียงระเบิดดังสนั่น ซึ่งภาพที่ปรากฎพบว่าอยู่ตรงหน้าห่างกันไม่กี่เมตรที่ตนเองยืนอยู่ โดยถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดอีกครั้งในชีวิต
โชคชะตะลิขิตให้เจอเหตุการณ์ที่จำจนวันตาย
กิตติพงษ์ เล่าถึงวินาทีลั่นชัตเตอร์ที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา ว่า วันนั้นเข้าเวรบ่ายเขตใต้ ขณะที่รถจอดติดอยู่บนถนนพระรามที่ 4 จำได้ว่ามันเป็นวันที่รถติดมากกว่าทุกวัน เวลาประมาณ 6 โมงเย็น แสงแดดเริ่มขมุกขมัวจวนที่พระอาทิตย์จะลับท้องฟ้าไป
สายตาบังเอิญเหลือบไปเห็นชายหนุ่มกำลังอุ้มคนแก่ซึ่งคาดว่าจะเป็นพ่อของชายหนุ่มนั้นเองขึ้นรถวินจยย. สายตาผมหยุดนิ่งที่ภาพนั้นพักหนึ่งไม่ทราบว่ามันนานแค่ไหน รู้สึกตัวอีกทีก็รีบหยิบกล้องที่ประกอบพร้อมอยู่แล้วขึ้นมาบรรจงกดชัตเตอร์อย่างรวดเร็ว เรียกว่าแทบจะไม่มีเวลาในการปรับแสงใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากรถจยย.คันดังกล่าวได้วิ่งขึ้นสะพานข้ามแยกที่อยู่ด้านหน้าหายวับไปพร้อมความรู้สึกสะกิดใจของผม
จากนั้นผมเปิดดูรูปที่ถ่ายปรากฎว่ามันเป็นภาพที่งดงามอย่างมาก งดงามในที่นี้ไม่ได้หมายถึงองค์ประกอบ แต่เป็นบุคคลในภาพนั้นมากกว่าเนื่องจากผมได้เห็นน้ำใจของคนกรุงฯที่ช่วยนำคนแก่คนดังกล่าวไปส่งรพ.
ซึ่งผมมาทราบฝ่ายหลังได้พยายามติดตามหาผู้ขับขี่จยย.วันนั้น โดยขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ลุมพินี ที่เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น สุดท้ายรูปใบนี้ถูกตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในวันต่อมา และเป็นภาพที่เปลี่ยนชีวิตของนักข่าวฝึกหัดอย่างผมไปก็ว่าได้
รางวัลชีวิต ทะลุคว้ารางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยม “อิศรา อมันตกุล”
กิตติพงษ์ กล่าวถึงรางวัลแรกในชีวิตนักข่าวว่า หลังจากภาพชายอุ้มคนแก่ซ้อนท้ายวินจยย. ได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วปรากฎว่าได้รับคำชื่นชมจากพี่น้องนักข่าวหลายคน จนกระทั่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้จัดประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งในปีนั้นมีภาพข่าวดี ๆ หลายภาพถูกส่งเข้าประกวด
แต่ผลสุดท้ายประกาศว่าภาพของตนเองนั้นได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ทำให้ตนเองดีใจอย่างมากเนื่องจากเป็นรางวัลที่ได้มาอย่างไม่คาดฝัน รวมไปถึงเป็นรางวัลที่เคยฝันไว้ในสมัยยังเป็นนักศึกษาอีกด้วย
ออกเดินทางหาความท้าทายใหม่ ที่ สำนักข่าวเนชั่น
กิตติพงษ์ ยังพูดถึงการตัดสินใจย้ายออกจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณนสพ.เดลินิวส์ และพี่ ๆ นักข่าวที่นั้นทุกคน ที่เป็นเสมือนโรงเรียน ครูในทางการข่าวและทางการถ่ายภาพ จนทำให้ผมประสบความสำเร็จในก้าวแรกของการเป็นนักข่าวอาชญากรรม
แต่เนื่องจากด้วยในช่วงนั้นผมอยากจะหาความท้าทายในการทำข่าวในรูปแบบที่แตกต่างออกไป จึงเลือกที่จะเข้ามาค่ายเนชั่น ที่ขณะนั้นมีสื่อหลากหลายอยู่ในเครือ โดยคิดเพียงว่าจะนำความรู้ที่ติดตัวมาออกมาใช้ทำข่าวในรูปแบบนอกกรอบออกไป
ย้ายมาเนชั่น ยังไม่ทิ้งลายฝีมือการถ่ายรูป คว้ารางวัลภาพข่าวสื่อออนไลน์
กิตติพงษ์ บอกถึงการทำงานในบ้านใหม่อย่างเนชั่น ว่า หลังจากย้ายเข้ามาตนเองได้รับหน้าที่จากหัวหน้าให้เป็นนักข่าวตระเวนเช่นเดิมเหมือนตอนทำอยู่ค่ายสีบานเย็น แต่มีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นโดยการจะต้องถ่ายคลิป รวมไปถึงบางสถานการณ์ต้องมีการโฟนอินเข้ารายการในสถานีโทรทัศน์
นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้เปิดหน้ารายงานสด ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ยังไม่คุ้นชินหนัก แต่ในขณะเดียวกันเรื่องถ่ายภาพตนเองก็ยังให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยได้ถ่ายภาพพ่ออุ้มลูกสาวเดินฝ่าน้ำท่วมขังบนฟุตบาทเพื่อที่จะพาลูกสาวไปส่งโรงเรียน ซึ่งภาพดังกล่าวได้ลงในเวปไซตน์เครือเนชั่น ต่อมาได้ส่งเข้าประกวดที่สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลชมเชย
สุดท้ายอยากฝากข้อคิดอะไรให้กับน้องนักข่าวรุ่นใหม่บ้าง
“ ผมไม่ได้เป็นคนที่เก่งมาตั้งแต่แรก แต่ใช้ความอดทน ศึกษาวิชาความรู้จากพี่ ๆ ฝึกจด ฝึกเขียน ฝึกถ่ายภาพ จนกระทั่งวันหนึ่งสามารถยืนด้วยขาของตนเองได้ อยากจะฝากถึงน้องนักข่าวรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงการอาชญากรรมหรือน้องคนไหนที่คิดจะมาทำงานด้านข่าวให้ฝึกเรื่องความอดทนให้มาก เป็นนักข่าวต้องอดทน ถ้าอดทนไม่ได้ก็ไม่ได้ข่าวเช่นกัน “
กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
เขียนไข12ก.ค.61