Friday, April 19, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนข่าวลือคุกคามทางเพศ เขย่าจรรยาบรรณวงการสื่อ

    ข่าวลือคุกคามทางเพศ เขย่าจรรยาบรรณวงการสื่อ

     

     

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    ร้อนระอุไปทั่วสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภายหลังมีเรื่องเล็ดลอดออกมาลือกันว่า ผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง คุกคามทางเพศเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง จนทำให้ผู้เสียหายเกิดความไม่สบายใจก่อนจะลาออกไปในที่สุด

    และเพราะเป็นข่าวลือแต่ไม่ลับ ข้อมูลจากปากต่อปาก รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ทุกชนิดได้ถูกกระซิบเผยแพร่กันถึงขั้นมีผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงสื่อสารมวลชน พยายามออกมาผลักดันให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียน หรือแจ้งความกับ สน.ไหน จึงทำให้หลายคนกระวนกระวายใจว่าจะไปทางไหนดี

    อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาเองก็ยังอยู่ในสมาคมนักข่าวฯ สร้างความอึดอัดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร แม้กระทั่งการออกแถลงการณ์ ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ก็ยังถูกมือกฎหมายซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจ้างมาออกหนังสือเบรก พร้อมขู่จะดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา กับใครก็ตามที่จะเข้ามาตรวจสอบ

    ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานมานี้ สมาคมนักข่าวฯได้พยายามออกมาคัดค้านต่อต้าน การออกกฎหมายตีทะเบียนสื่อ โดยมีบุคคลภายนอกเข้ามากำกับดูแล โดยทางผู้สื่อข่าวต่างเปลี่ยนรูปโปร์ไฟล์เฟซบุ๊กกันพร้อมหน้า พร้อมกับยืนยันว่าสามารถกำกับดูแลกันเอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการทำงาน

    เมื่อวันหนึ่งเกิดเรื่องฉาวขึ้นภายในสมาคมนักข่าวฯ ปรากฏว่า กลไกในการตรวจสอบกันเองที่ว่านั้นพังเละไม่เป็นท่า หลายคนไม่อยากเข้าร่วมสังฆกรรมเพราะกลัวโดนฟ้อง ลืมไปอย่างรวดเร็วว่าการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในองค์กรนั้นมีความจำเป็นมากแค่ไหน

    ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และผู้มีอำนาจมาอย่างมากมาย แต่เมื่อถึงคราวต้องตรวจสอบกันเองกลับกลัวที่จะทำหน้าที่นั้น
    ผมมองว่า การนิ่งเฉยในปัญหาการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานนั้น หมายถึงการสนับสนุนให้มีการคุกคามทางเพศอย่างอิสระ จากคนที่มีอำนาจหรือหัวหน้างาน ยินยอมแม้กระทั่งการคุกคามนั้นปรากฏต่อหน้าต่อตาธารกำนัล

    ในกรณีคุกคามทางเพศนั้น มีความละเอียดอ่อนซับซ้อน โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอยู่ที่ “ผู้เสียหาย” ซึ่งหมายถึงการให้ข้อมูล หรือ การตั้งใจต่อสู้ปกป้องเกียรติศักดิ์ศรีของตนเอง เนื่องจากสังคมไทยยังเป็นสังคมที่ชอบ “ประณาม” ดึงเหยื่อออกมากลางแสงไฟ ข่มขืนซ้ำชำแหละซ้อน จนคนที่ตกเป็นข่าวนั้นแทบไม่มีที่ยืนในสังคม

    การกระทำต่อความละเอียดอ่อนนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อใจ ความปลอดภัยให้กับผู้เสียหาย ซึ่งถามว่าขณะนี้คนในวงการสื่อมีใครกล้าแสดงตัวออกมาบ้าง ผมหันไปทางไหนก็มีแต่กระหายใคร่ล่าเอาผู้เสียหายมาถลกหนังให้สาแก่ใจความอยากรู้เรื่องราวว่าเป็นมาอย่างไร จึงไม่แปลกใจเลยที่ขั้นตอนนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

    เมื่อขั้นตอนแรกดูตีบตัน อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาในทางลับกลับเงียบและปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเตรียมนำกฎหมายมาขู่ผู้ที่ท้าทายจะมาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ เรื่องนี้จึงไม่มีทางจบด้วยดีแน่นอน แม้จะเงียบแต่คนในวงการสื่อจะยกมือไหว้ผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นได้สนิทใจอีก คงเป็นไปไม่ได้
    บรรยากาศในสมาคมนักข่าวฯ จึงเป็นไปอย่างสวมหน้ากาก ถ้าไม่ตรวจสอบก็ไม่เป็นไร เพราะผลสุดท้ายแล้วคนที่ต้องแบกรับมลทินนั้นก็เป็นผู้ถูกกล่าวหาเอง ในขณะที่ผู้เสียหายก็จะยังคงได้รับความสงสารต่อไป

    ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน บิ๊กสีกากีคนหนึ่งก็เคยตกเป็นข่าวคุกคามทางเพศกับนักข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยช่วงนั้นเรื่องมาแตกเอาเมื่อ “เจ๊ยุ” ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ออกมาเปิดเผย กรณีที่ผู้สื่อข่าวสาวโทรทัศน์ช่องหนึ่งถูกละเมิดสิทธิโดยการคุกคามทางเพศของนายพลตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ขณะติดตามทำข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ภูเก็ต และ จ.อุบลราชธานี

    ต่อมาบิ๊กตำรวจท่านนั้นได้ฟ้องดะไปทั่ว ฟ้องสื่อที่ลงข่าวหลายฉบับ ผลสรุปจบลงที่ศาลยกฟ้อง
    สังคมไทยยังคงมองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ผู้ชายสามารถกระทำกับผู้หญิงได้โดยไม่ละอาย จะไปคุกคามทางเพศใครก็ได้ แม้แต่พ่อแท้ๆจะข่มขืนลูกสาวตัวเองก็ทำได้ทั้งนั้น

    ในทางศีลธรรมอาจจะไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานได้ แต่ผมเชื่อว่า “กรรม” จะตามทัน…ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments