จากกรณีสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก ถาโถมเข้าใส่ตำรวจทางหลวง โดยเฉพาะการเปิดโปงอย่างหนักของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อกลางเดือนพ.ค.66
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จน พล.ต.ต. เอกราช ลิ้มสังกาศ อดีตผบก.ทล.ในขณะนั้นขอย้ายตัวเอง ก่อนที่พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.เจ้าพ่อสอบสวนกลาง จะส่ง หลวงตาเต่า –พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.ข้ามมารักษาการผู้บังคับการตำรวจทางหลวงอีกเก้าอี้ เพราะภาพความตงฉินของนายตำรวจมือปราบคนนี้
การจัดระเบียบตำรวจทางหลวงกำลังไปได้สวย กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในคืนวันที่ 6 ก.ย.66
เมื่อ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.สทล.1 กก.2 บก.ทล.ถูกยิงในบ้าน “กำนันนก”“นายประวีณ จันทร์คล้าย” หรือ “กำนันนก” กำนันตำบลตาก้อง อ.เมืองนครปฐม เสียชีวิตขณะนำส่ง รพ.
วงการตำรวจต้องช็อกซ้ำ เมื่อผู้กำกับเบิ้ม-พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล.ที่อยู่ในเหตุการณ์ พ.ต.ต.ศิวกร ถูกยิงเสียชีวิต ก็ยิงตัวตายในวันที่ 11ก.ย. วันเดียวกับงานพระราชทานเพลิงศพนายตำรวจรุ่นน้อง
อย่างไรก็ตาม หลังการปรับทัพตำรวจทางหลวง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.เปิดเผยกับสื่อมวลชน หลังคุยกับ “เศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน พร้อมแก้กฏหมายให้หนักขึ้น โดยขอประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
ยืนยันแก้ไปแล้ว 80% เหลือ 20% ที่แอบทำ ต้องตามจับเหมือนแมวไล่จับหนู แต่เรื่องนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องเงียบแล้วหยุด แต่จะทำตลอดไปให้จบที่รุ่นเรา
พร้อมๆกับการส่ง ผู้การเบิร์ต-พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น50 มาเป็นผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเพื่อแก้ไขปัญหา
Policenewsvarieties.com มีโอกาสได้คุยกับผู้การคงกฤช ยิงคำถามแรกเลยว่าหนักใจไหม ที่มาเป็นผู้การตำรวจทางหลวงในช่วงที่กำลังมีปัญหา เจ้าตัวเล่าให้ฟังเสียงดังชัดว่า
คือผมรู้ว่ามีปัญหาเยอะ แต่พร้อมสู้ สมัครใจมาสู้ ไม่ได้โดนบังคับมา ก็ให้มาแก้ปัญหาตรงนี้ คือทางหลวง มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องรถบรรทุกเกิน แล้วนโยบาย ตร.อีกอย่างคือขวัญกำลังใจลูกน้อง
ถ้าเราไม่ให้เขารับของแบบนี้ จะมีวิธีไหนที่จะช่วยบำรุงขวัญและกำลังใจของเขา ให้สามารถเป็นตำรวจได้อย่างภาคภูมิ
นี่คือโจทย์ที่จะต้องทำ ก็มี 2 เรื่อง คือจะดูแลลูกน้องตำรวจทางหลวงราว2,000นาย ให้ดีได้ยังไง
ผู้การตำรวจทางหลวงเล่าต่อว่า
ตรงนี้เรื่องขวัญกำลังใจที่จะมาเติม ตำรวจทางหลวงเขาเดินได้ด้วยเบี้ยเลี้ยง เรื่องรถ เรื่องน้ำมัน เรื่องออกตรวจ ต้องจัดสรรงบไป งบอื่นตัดได้ แต่งบที่ต้องให้กับลูกน้อง จะไม่ตัด
เบี้ยเลี้ยงลูกน้องนี่เท่าไหร่เท่านั้น คือในอดีตที่ผ่านมา ใครตัดเบี้ยเลี้ยงลูกน้อง มีปัญหาชีวิตหมด อันนี้ตัดไม่ได้
รถราม้าใช้ ก็ต้องซ่อมบำรุงตามสมควร ทั้งเรื่องเปลี่ยนยาง เปลี่ยนแบตเตอรี่ เรื่องน้ำมัน ต้องมีให้ไปทำงาน ทุกอย่างต้องพร้อม ถ้าพร้อมเบี้ยเลี้ยงมีวัสดุ อุปกรณ์ ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ดี มันก็ดีกว่าสภาพตำรวจหน่วยอื่นๆ ความพร้อมเรามี เพราะเรารับงบประมาณจากกรมทางฯด้วย กรมทางหลวงก็ช่วยเหลืออยู่
ส่วนเรื่องการกวดขันจับกุมรถบรรทุกเกิน เป็นนโยบายของรัฐบาล และของ ผบช.ก็รับทอดกันมา คือต้องไม่ให้มีบนถนนในความรับผิดชอบ
ถนนในเมืองไทย มีอยู่ 7 แสน กิโลฯ แต่ว่าแยกเป็นทางหลวง 1 หมายเลข 2 หมายเลข 3 หมายเลข แล้วก็ทางหลวง 4 หมายเลข ทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น
ถนนที่ตำรวจทางหลวง รับผิดชอบจริงๆ คือทางหลวง 3 หมายเลข มีอยู่ 2 หมื่นกิโลฯ จาก 7 แสนกม. ทั้งประเทศ ประมาณ 2 หมื่นกิโลฯ ในพื้นที่รับผิดชอบต้องไม่ให้มีปัญหารถหนักวิ่ง
ถามว่ามันยังมีปัญหาอยู่ไหม ถึงเราไม่รับ มันก็มีพวกที่แบกต้นทุนไม่ไหวก็ลักลอบ ก็ว่าไป แต่ถ้ามีเพราะว่าตำรวจหลับตาข้างหนึ่ง หรือตำรวจหลับหูหลับตานี่ ยอมไม่ได้
ถ้าจะมีเพราะพวกทนเศรษฐกิจไม่ไหว ต้องกู้หนี้ยืมสินมาแบกน้ำหนัก เพื่อจะสู้ราคาให้ได้กับเจ้าอื่น ถามว่ามีทำไหม ก็อาจจะมี แต่ผมว่าตีแล้วไม่เกิน 20%ส่วนที่เขาจะไปลักลอบวิ่งในถนน 4 หมายเลข ถนนท้องถิ่น ถนนตรงนั้นก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบตำรวจทางหลวง
อีกอย่างที่ผบช.จิรภพ อยากจะให้ตำรวจทางหลวงเสริมเขี้ยวเล็บคือ คุณไม่ได้มีหน้าที่แค่เรื่องจราจรอย่างเดียว เรื่องงานอาชญากรรมก็ด้วยคุณเป็นตำรวจเหมือนกัน ก็อาศัยข้อมูลจากบิ๊กดาต้า บช.ก.มาช่วยในการสืบค้นจับกุม เช่น พวกวิ่งผ่านกล้อง จะมีอะเลิตเรื่องป้ายทะเบียนรถ อะไรอย่างนี้
เราสามารถจับพวกยาเสพติด ป้ายทะเบียนปลอม หรือพวกข้อมูลต่างๆ ที่เขาแจ้งประสานมาให้ช่วยติดตาม ไปช่วยในการมอนิเตอร์ ก็จับได้เยอะ ที่ผ่านมาก็ได้หลายคดี พวกคดีลักรถ พวกคดีป้ายปลอม ยาเสพติดก็มี ก็ประมาณนี้
หลังจากมารับผิดชอบเป็นผู้การตำรวจทางหลวงแล้ว เรื่องรถบรรทุกหนักจับได้เยอะไหม ผู้การเบิร์ตบอกว่า
จากสถิติก็จับได้เยอะขึ้น แต่ถามว่าคนกลัวไหม ผมว่ามันก็เบาลงนะ หมายถึงพวกที่คิดจะฝ่าฝืน ทั้งจำทั้งปรับ แต่ที่เขากลัว ส่วนใหญ่เขากลัวยึดรถ
อย่างพวกสติกเกอร์ พวกเดิมๆ ที่ยังเกเร คือตอนนี้ก็มี ถามว่าผมเข้ามาแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือพยายามประสานกับสมาพันธ์รถบรรทุก ที่เขาพยายามมอนิเตอร์ช่วยตำรวจอีกแรงหนึ่งตรวจสอบดู
คือเป็นการเช็คแอนด์บาลานซ์ถ้าเราบอกไม่มี แต่ทางนั้น เขาเห็นว่าไม่มีเหมือนเราไหมอย่างนี้ ทางสมาพันธ์ฯ เขาก็ทำถูก ถ้าเขาพบก็จะประสานให้เราจับจะให้ข้อมูลมา เราก็ไปตรวจสอบจับกุมกันไป สมาพันธ์ฯตอนนี้ ผมว่ามีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับตำรวจทางหลวง เพราะเราเอาจริง
พื้นที่ไหนที่จะมีลักลอบบรรทุกหนักมากที่สุด
คือช่วงนี้มันก็ทั่วไปหมด รอบๆกรุงเทพฯ อย่างที่อยุธยาก็มี จะระบุว่าระบาดหนักที่ไหนตอบไม่ได้ชัด แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีหลบเลี่ยงไม่วิ่งในถนนที่ทางหลวงรับผิดชอบ จะไปวิ่งในถนนที่อ้อมด่านประเภท ถนน 4 หมายเลข คือถนนของเทศบาล ของท้องถิ่น
อีกอย่างคือที่เรามีตัวด่านชั่งไม่เยอะ จุดด่านชั่งใครก็รู้ แล้วจะมีตาชั่งลอย หรือจุดสปอตเช็ค ตำรวจทางหลวงไม่มีเลย ต้องไปอาศัยกรมทางฯช่วยมาคอยดัก เรารู้ว่าตรงไหนมันจะวิ่งผ่านก็ไปคอยดัก คอยตรวจเช็ค
แต่อุปสรรคมันมีไหม ก็มี อย่างเช่น เราเดาว่า มันวิ่งเลยด่านไปแล้ว แต่มันน่าจะมองว่าน่าจะเกินแน่ๆ สมมติว่า เกิน 100 แล้วพอวิ่งมา 100 กิโลฯ เจอด่าน มันปล่อย เจอด่าน มันปล่อย มาตายด่าน 3 มันโวยวาย ว่าทำไมผ่านมา 2 ด่าน ถึงปล่อย
ทีนี้มันก็ต้องตรวจสอบว่า มาตรฐานด่านชั่งแต่ละด่าน มันผ่านได้ยังไง มันวิ่งมาแล้ว มีน้ำฝน รับอะไรมา ผ้าใบคลุมหรือเปล่า แล้วน้ำหนักมันเกินมาโดยไม่รู้ตัวอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ แต่พวกนี้จะเกินไม่เยอะ แต่ถ้ามันแบกกันมา 30-40 ตัน ยังไงก็เกิน
นโยบายส่วนตัวของผมที่มา นอกจากเรื่องจะดูแลลูกน้อง แล้วเรื่องส่วย ต้องไม่มี งานอาชญากรรม ก็ด้วยหลักๆ 3 อย่าง ส่วนนี้มอบหมายให้รองแมน-พ.ต.อ.แมน เม่นแย้ม รอง ปู-พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ดูเรื่องงานอาชญากรรมโดยเฉพาะ
เพราะบางทีอาจจะต้องประสานกองปราบ ป่าไม้ สมมติรถดิน จับเฉพาะรถไม่พอ เราต้องขยายไปอีกว่า เราสืบแล้ว บ่อดินมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยไหม รู้อยู่แล้วว่าเติมมาอย่างนี้มันเกินอยู่แล้ว แต่บังคับให้เขาแบกมา คือจะเอาให้ครบกระบวนการ เลยต้องมีรองปู รองแมน คอยเชื่อมหน่วยต่างๆ ใน บช.ก.อย่างพวก กองปราบ ป่าไม้
ช่วงเทศกาลปีใหม่67 ตู้ตำรวจทางหลวงมี 205 หน่วยบริการ แนวทางแก้ไข เส้นทางเลี่ยง เส้นทางพิเศษที่เปิดใช้พิเศษเปิดให้ประชาชน ต้องประชาสัมพันธ์ ส่วนเส้นทางไหนที่เป็นห่วง ก็เป็นเส้นทางสระบุรี โคราช นี่แหละเป็นหลัก
สำหรับปัญหาตำรวจทางหลวง ส่วนหนึ่งมีมาจากตู้ทางหลวงพวกขาเก่า ตรงนี้จะแก้ไขยังไง นายพลคนหนุ่มกล่าวว่า
พวกนี้ก็คือจุดที่สัมผัสประชาชน ไอ้ 205 หน่วยบริการนี่ พฤติกรรมที่เราได้ยิน คือเขายังหลับหูหลับตา พวกรถดิน รถหนัก ในพื้นที่ด้วยความเคยชินเก่าๆ
เราก็ต้องเอากติกาเข้าไปจับ พวกที่ไปเจอรถหนักในพื้นที่ ตู้ไหนที่ในการสืบสวนพบว่ามีปัญหาจากตู้นี้ ก็จะต้องดึงมาอยู่ที่ บก.
คือผมเพิ่งมาเดือนเดียว ยังไม่ได้ดำเนินการกับรายใด แต่ผมคิดไว้อยู่แล้ว ตอนนี้ก็หาข้อมูลอยู่ แต่ก็พอมีกระซิบๆ มาบ้าง บอกว่าผู้การรู้นะ
สำหรับประวัติส่วนตัวเส้นทางรับราชการ พล.ต.ต.คงกฤช เป็นชาวจ.ตราด พ้นรั้วสามพราน เป็นรอง สว.สอบสวน บก.ท่องเที่ยว รอง สว.กำลังพล บช.ก. รอง สว.ผ.3 กก.2 ป. หรือสายตรวจรถวิทยุกองปราบ สว.ท่องเที่ยว จ.ระยอง สว.ท่องเที่ยว จ.ระนอง สว. กก 1บก.ปทส. สว.ฝอ.ท่องเที่ยว สว.กำลังพล บช.ก. รอง ผกก.กำลังพล รอง ผกก. 2 บก.ปคบ. ขึ้นเป็น ผกก.กำลังพล บช.ก. จากนั้นย้ายไป กอ.รมน.1 ปี โยกกลับมาเป็น ผกก.2 บก.ปอศ. ขึ้นรอง ผบก.ป. รอง ผบก.ปอศ. ก่อนติดยศนายพลเป็นผู้การทางหลวงในคำสั่งที่ผ่านมา
เฮียเก๋1/1/67