นักข่าวหนังสือพิมพ์ยังไม่ตาย คลื่นลูกใหม่ยังมีให้เห็น
เข้าสู่ปี 2562 ถนนนักหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พี่น้องนักข่าวอาชญากรรมลดน้อยลง มีบางรายก็หันไปประกอบอาชีพอื่น
มันน่าใจหายสำหรับผู้ที่ยังคงแน่วแน่ในอุดมการณ์สื่อมวลชน แทบจำไม่ได้แล้วว่า มีนักข่าวใหม่ในวงการอาชญากรรมนั้นเข้ามาเมื่อไหร่
เดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้สนทนากับ ชาติตระการ จรมิตร หรือ “ต้น เดลินิวส์” นักข่าวอาชญากรรม ในวัย 29 ปี แห่งค่ายบานเย็น ที่เหมือนว่าจะเข้ามาในช่วงท้ายของการรับสมัครนักข่าวหนังสือพิมพ์ในยุคที่อินเทอร์เน็ตครองโลก
ต้น เด็กหนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เอกนิเทศศาสตร์ จ.นครศรีธรรมราช
มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักข่าว เนื่องด้วยเจ้าตัวชื่นชอบในการอ่านและเขียนหนังสือเป็นต้นทุน ตัดสินใจเข้าเรียนในเอกนิเทศฯ โดยทางบ้านก็ไม่ได้คัดค้าน
ต้น เล่าให้ฟัง ได้ฝึกฝนเรียนรู้หลายสิ่งจากมหาวิทยาลัย ได้เริ่มจับกล้องดิจิตอล หัดถ่ายตามรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงวิชาเขียนข่าวเบื้องต้น
ในการเรียนเขียนข่าวนี้เอง ที่เป็นจุดที่ทำให้ชื่นชอบในข่าวอาชญากรรม เพราะได้ลงพื้นที่ทำข่าวอาชญากรรมจริง ในการทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ก็ยังเขียนข่าวอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นข่าวการศึกษา , บันเทิง และยังได้ฝึกทำนิตยสาร อีกด้วย
จากห้องเรียน สู่ นักศึกษาฝึกงานมติชน
ต้น เลือกฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ “มติชน” โต๊ะอาชญากรรม ถูกส่งไปลับฝีมือกับพี่นักข่าว ถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น พี่เก่ง(เล็ก),เก่ง(หล่อ) และพี่ออม
ถูกส่งไปฝึกประจำอยู่ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กองบัญชาการตำรวจนครบาล , กองบังคับการปราบปราม เป็นเวลา 3 เดือน ที่ได้เริ่มฝึกหัดเรียนรู้ชีวิตของการเป็นนักข่าวอย่างใกล้ชิด
ตั้งมั่นเข้าเป็นนักข่าวอาชญากรรมตามฝัน
หลังจากฝึกงาน ต้น ได้เข้ามาสมัครสอบเข้าเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยการชักชวนของรุ่นน้องที่เรียนจบไปก่อน ได้ลองเข้ามาทดสอบ จนกระทั่งสามารถผ่านการสอบ และเริ่มต้นก้าวแรกของอาชีพนักข่าวอย่างเต็มตัว
บทแรกนักข่าวฝึกหัด เฉพาะกิจ เดลินิวส์
ต้น เริ่มเป็นนักข่าวฝึกหัดกับ พี่ตั้ว เดลินิวส์ เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ค่ายบานเย็น ด้วยหน้างานของรถเฉพาะกิจที่ต้องทำข่าวได้หลายรูปแบบ ต้น จึงได้ฝึกฝนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในส่วนดีไปได้พอสมควร ไล่ตั้งแต่การถ่ายภาพข่าว มองประเด็นข่าว และการเขียนข่าว
ต้น เล่าด้วยว่า ความรู้ที่เรียนมานำมาใช้กับชีวิตนักข่าวตระเวนได้น้อยมาก ต้องใช้ไหวพริบ ในการการทำข่าว และใช้จังหวะในการถ่ายภาพ ส่วนเรื่องการเขียนข่าวก็เน้นย้ำไปเรื่องคำสะกดต้องถูกต้อง ไม่ให้ผิดพลาด
เคี่ยว3เดือน ถึงเวลาลงตัวจริง
ผ่านการฝึกฝนมาหลายกระบวนท่า ประมาณ 3 เดือน ต้น ได้ความไว้วางใจจากหัวหน้าอาชญากรรม ลงเป็นนักข่าวตระเวนตัวจริง เขตชานเมือง
ประเดิมงานแรก241
วันแรกของการเป็นนักข่าวตัวจริง มันเป็นความรู้สึกที่ยังจำได้ตลอดมา ความกังวลเรื่องประเด็นข่าว เรื่องการตกข่าว สำหรับเด็กใหม่นั้นย่อมมีเสมอ แต่ต้น พยามรวบรวมสมาธิ นั่งฟังวิทยุสื่อสารไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีงานแรกเป็นเหตุ 241 (ฆ่ากันตาย) เมื่อได้ยินรหัสเรียกเหตุนี้ ก็ให้ผู้ช่วยรีบทะยานรถออกไปดูที่เกิดเหตุทันที
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุรีบลงไปดูสภาพศพ เก็บข้อมูล ถ่ายภาพ ตามแบบฉบับที่พี่ตั้ว สั่งสอนมาเมื่อตอนเป็นเด็กฝึก แต่ด้วยความเป็นมือใหม่ ก็ยังมีอาการรน ประหม่า แต่สุดท้ายมันก็ผ่านไปด้วยได้ดี และเป็นอีกหนึ่งความทรงจำกับ ศพแรก ของการเป็นนักข่าวตะเวน
เร่งพัฒนาฝีมือขยับหาแหล่งข่าว
การทำงานผ่านพ้นไปในแต่ละวัน ประสบการณ์เริ่มช่ำชองมากตามไป จากการทำข่าวเหตุรายวัน เริ่มขยับการเข้าหาแหล่งข่าว ต้น เปิดเผยว่า
มันพูดยาก การเข้าหาแหล่งข่าวในแต่ล่ะคนจะไม่เหมือนกัน ผมเองก็มีแนวทางในการเข้าหาตำรวจ เริ่มจากเบื้องต้นของนักข่าว คือ หัดแจกหนังสือพิมพ์ ตระเวนไปตามโรงพัก ให้ตำรวจได้คุ้นหน้าคุ้นตา
พอมีโอกาสก็เข้าห้องนายตำรวจฝ่ายต่าง ๆ แต่ที่สำคัญต้องหัดดูยศ ตำแหน่งให้แม่น เพื่อจะได้เรียกยศอย่างถูกต้อง และเป็นการให้เกียรติแหล่งข่าว
เริ่มทำข่าวสืบสวนต่อเนื่อง
การมีแหล่งข่าวเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นได้เริ่มทำข่าวสืบสวนมากตามไปด้วย เนื่องจากมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกมากกว่าคนอื่น โดยได้ทำข่าวต่อเนื่อง ตั้งแต่พบเหตุจนกระทั่งไปถึงวันที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้
ภาพรางวัลงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
หลังจากทำงานเข้าปีที่ 3 ต้น สามารถคว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ของสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จากภาพงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
“ผมดีใจที่ได้ภาพนี้ มากกว่าได้รางวัล การได้รางวัลเป็นเหมือนของแถม เป็นกำลังใจเล็ก ๆ ในการทำงานต่อไปข้างหน้า” ต้น เดลินิวส์ กล่าว
เชื่อนสพ.ยังอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
ต้น บอกว่า อาชีพนักข่าวมีเกียรติ แม้ว่าเงินเดือนจะไม่ได้มากมายอย่างอาชีพอื่น แต่นักข่าวเป็นหนึ่งในกลไกของสังคม ไม่ว่าอย่างไร หนังสือพิมพ์ ก็ยังอยู่ ถึงแม้ว่าอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งตนเองพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบ และจะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
ทำงานในส่ิงที่ถนัดและรัก ชีวิตจะมีความสุข
“ถ้าชอบ ก็ขอให้ขยันให้มาก เพราะนักข่าวเป็นอาชีพที่มีการแข่งขันสูง ให้มองกว้าง ๆ เพราะสื่อมีหลายรูปแบบ พยายามศึกษาข่าวให้หลากหลาย แล้วเลือกทำงานในสิ่งที่ตนเองถนัดหรือชอบ
เพราะถ้าเราได้ทำงานในสิ่งที่เราถนัดเราชอบ ก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย และมีแต่ความสุขที่ได้ทำงาน” ต้น เดลินิวส์ปิดท้าย
เขียนไข16/3/62