เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 26 เม.ย.67 ที่ป.ป.ส.ดินแดงพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร พร้อมด้วยผู้แทนจากบช.ปส. กรมศุลกากร ตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) และกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau, MJIB)
ร่วมกันแถลงผลการตรวจยึดคีตามีน น้ำหนัก 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็กขนาดใหญ่ 5 ตัว เตรียมส่งออกทางท่าเรือ ปลายทางไต้หวัน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การตรวจยึดคีตามีน หนัก 320 กก. ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ คือ ประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน และประเทศไทย ส่วนหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะเป็นกรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. และ บช.ปส.
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค. น.ส.ฝน (นามสมมุติ) ผู้ต้องหา เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 34 ปี มีพฤติการณ์ส่งไอซ์ 108 กก. ซุกซ่อนในเครื่องแปรรูปอาหารไปยังประเทศออส เตรเลีย ทางออสเตรเลียเเจ้งกลับมายังไทยว่าบริษัทนี้มีการดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและทราบว่าเป็นบริษัทที่รับส่งสินค้าไปยังประเทศออสเตรเลีย
ผลการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวกำลังจะส่งหุ่นยนต์เหล็กไปยังไต้หวัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ประจำอยู่ท่าเรือ พบว่าฐานรองใต้ตัวหุ่นยนต์ “Bubble B-บัมเบิ้ลบี” มีการบรรจุหีบห่อยาเสพติด เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 คือ “คีตามีน” 320 กก.
คีตามีนถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่จะทำให้ผู้เสพมีอาการเคลิบเคลิ้ม มีความสุข เป็นยาเสพติดที่มักใช้ในผับ บาร์ อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตของคีตามีนส่วนใหญ่ตรวจพบที่ประเทศกัมพูชา แต่ถ้าเสพร่วมกับสารเสพติดอื่น ๆ อาจะทำให้เกิดอาการจิตหลอนได้ เป็นอันตรายต่อชีวิต
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า ทางเอคอัครราชทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศกัมพูชาจะมีการรายงานกลับมาให้ ป.ป.ส. รับทราบตลอดถึงสถานการณ์การตรวจจับยาเสพติด ประเภทคีตามีน ส่วนประเทศไทยยังตรวจพบไม่มาก มักเป็นการนำมาใช้มากกว่า ยังไม่ถือเป็นกลุ่มยาเสพติดที่นิยมแพร่ระบาดในชุมชน แต่มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบว่าของกลางที่จับกุมได้เป็นคีตามีนจริงหรือไม่นั้น ผลทดสอบ คือ ถ้าเป็นคีตามีนจริง สารจะตกตะกอนเป็นสีขาว และสักพักจะเป็นสีม่วง ส่วนของกลาง 1 มัดถ้าไปถึงไต้หวันจะขายกันที่ราคาเงินไทย ประมาณ 3 ล้านบาท
ด้านนายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า เคสนี้เริ่มจากการที่ผู้ต้องหารายดังกล่าวเคยมีพฤติการณ์ส่งไอซ์ไปยังประเทศออสเตรเลีย จึงได้มีการจับกุมของกลางและแจ้งว่าคนที่ส่งยาเสพติดมีชื่อและนามสกุลอะไร เราจึงเอาข้อมูลไปสืบสวนขยายผลต่อ
จากนั้นจึงได้ประสานบริษัทขนส่งเอกชนว่าถ้าหากมีการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศโดยผู้หญิงไทยรายนี้อีก ขอให้แจ้งกลับมา พอมีการแจ้งมาว่าวันที่ 24 เม.ย. หญิงไทยได้มีการเตรียมจัดส่งสินค้าประเภทหุ่นยนต์เหล็กไปยังไต้หวัน เราจึงเข้าไปตรวจสอบหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ 15 ตัว พร้อมกับฐานรองทั้งหมด 10 ชิ้น
เมื่อไปดูที่ฐานรองแต่ละอันพบว่าในจำนวนหุ่นเหล็ก 5 ตัว มีการซุกซ่อนหีบห่อยาเสพติดเป็นมัด ๆ คือ คีตามีน เราจึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมด ส่วนตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องหา เพื่อนำส่งตัวให้กับตำรวจ บช.ปส. เบื้องต้นพบว่าผู้ว่าจ้างสั่งการให้หญิงไทยรายนี้ส่งออกคีตามีน คือ ผู้หญิง ชาว สปป.ลาว ซึ่งจากนี้เราจะขยายผลเพื่อเตรียมการจับกุมหรือรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับเครือข่ายตามขั้นตอนต่อไป
นายปฤณ กล่าวอีกว่า ตรวจสอบเบื้องต้น สาเหตุที่ทำให้หญิงไทยรายนี้รับจ้างกับหญิงชาว สปป.ลาว ขนส่งคีตามีนไปยังไต้หวันด้วยการซุกซ่อนใต้ฐานหุ่นยนต์ พบว่าทั้งคู่เจอกันที่สถานท่องเที่ยวใน จ.พัทยา และหญิงไทยได้รับค่าจ้างสำหรับการขนครั้งนี้ 180,000 บาท เป็นราคาจ้างเหมาแล้วแต่ตกลงกัน
ทั้งนี้ ขบวนการค้ายาเสพติดมักจะหาวิธีการในการซุกซ่อนยาเสพติดด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เราจึงได้ประสานกับ บช.ปส. และกรมศุลกากร โดยศุลกากรจะมีระบบเอกซเรย์สินค้าก่อนลงเรือ ณ ท่าเรือ ถ้าหลุดออกไปจากสายตาเจ้าหน้าที่ ทางศุลกากรก็จะตรวจพบสิ่งเสพติดได้จากการเอกซเรย์ ส่วนเรื่องการครอบครองทรัพย์สินหรูของผู้ต้องหาชาวไทยนั้น ผู้ต้องหาไม่มีการครอบครองทรัพย์สินหรูเลย ได้เพียงเงินค่าจ้างอย่างเดียว แต่เราจะเน้นไปที่การขยายผลไปยังชาว สปป.ลาว ที่ว่าจ้างแทน เพราะผู้ต้องหาไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง
ขณะที่นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีการจัดทำข้อมูลบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับประเทศปลายทางที่มีความเสี่ยง ตัวสินค้าและลักษณะการบรรจุ เราก็มักจะพบว่าเมื่อสินค้าไปถึงที่ท่าเรือ มันจะมีการเอกซเรย์สินค้า จึงทำให้พบว่าบางส่วนมีการซุกซ่อนของยาเสพติด โดยเฉพาะในเครื่องจักร แต่การซุกซ่อนในหุ่นยนต์ถือเป็นครั้งแรกที่ตรวจพบ
แต่ด้วยเทรนด์ที่มันเปลี่ยนไป ปัจจุบันระบบ e-commerce มีการขนส่งสินค้าในปริมาณน้อยแต่มีความถี่สูง เราจึงมักประสานข้อมูลการจับกุมเรื่องยาเสพติดให้ทาง ป.ป.ส. และ บช.ปส. รับทราบด้วย นอกจากนี้ สถานการณ์ของเล่น (Art Toy) จะถูกนำเข้ามาทางช่องทางเร่งด่วน เรามีการเฝ้าระวังและเอกซเรย์ทุกหีบห่อ แต่ยืนยันว่าศุลกากรยังไม่พบการซุกซ่อนยาเสพติดในอาร์ตทอย แต่มักจะซ่อนในตุ๊กตาราคาถูกมากกว่า เพราะอาร์ตทอยค่อนข้างราคาแพง