Friday, April 19, 2024
More
    Homeบทความทั่วไป“บิ๊กเด่น”สั่ง”บิ๊กก้อง”ลุยปราบปืนเถื่อน-แก๊งยาเสพติด หลังเหตุกราดยิงเริ่มถี่

    “บิ๊กเด่น”สั่ง”บิ๊กก้อง”ลุยปราบปืนเถื่อน-แก๊งยาเสพติด หลังเหตุกราดยิงเริ่มถี่

     

    ผบ.ตร. ชงสอบสวนกลาง ลุยปราบปืนเถื่อน-แก๊งยาเสพติดรากหญ้า หลังเหตุกราดยิงและคนร้ายใช้ปืนเกิดขึ้นจำนวนมาก และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งของผู้ก่อเหตุมักเกี่ยวพันกับยาเสพติดด้วย ผบช.ก.จี้แก้ระบบอนุญาตอาวุธปืน / เร่งป้องกัน mass murders ตัดวงจร 3 ปัจจัย ปืนเถื่อน-ยาเสพติด-คนป่วยจิต

    สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.  ยกหูโทรหา พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเซตคณะทำงานปราบปรามอาวุธปืนเถื่อนโดยเฉพาะที่เกี่ยวพันยาเสพติด

    แม้ว่าก่อนหน้านี้ ตำรวจสอบสวนกลางจะจับกุมอาวุธปืนนอกระบบไปแล้วนับพันกระบอก

    นั่นทำให้ พล.ต.ท.จิรภพ ตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาเพื่อจัดการกับปัญหานี้  แว่วว่าจะมีการจับอาวธปืนแบบบิ๊กล็อตได้ในไม่ช้านี้
     
    พล.ต.ท.จิรภพ ยอมรับว่า อาวุธปืนถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติด เหตุทะเลาะวิวาท อาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการค้าอาวุธปืนข้ามชาติ จนไปถึงเหตุการณ์กราดยิง

    ปัจจุบันอาวุธได้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มลักลอบขนคนหรือสิ่งของผิดกฎหมาย เป็นต้น คดีอาชญากรรมที่มีอาวุธปืนเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมักจะสร้างความเสียหายรุนแรง

    ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงสั่งการให้ตำรวจสอบสวนกลางสืบสวน ตรวจค้น จับกุมอาวุธปืนเถื่อน แหล่งผลิต และแหล่งจำหน่ายปืนเถื่อน ทั้งโลกออนไลน์ และเส้นทางต่างๆด้วย

    เขาบอกต่อว่า ปัญหาอาวุธปืนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถแบ่งได้หลายมิติ แบ่งเป็น 5 กลุ่มอย่างง่ายๆ ประกอบด้วย

    1.การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนได้โดยง่าย

    2. การซื้อขายอาวุธปืนเถื่อนออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดียที่หาได้ง่าย

    3. มีแหล่งผลิตอาวุธปืนในประเทศและขบวนการดัดแปลงอาวุธปืนออกจำหน่าย

    4. ขบวนการรับจำนำอาวุธปืนทั้งปืนถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

    และ 5. ปืนมีที่มาจากรประเทศเพื่อนบ้าน ขบวนการค้ายาเสพติด หรือองค์กรอาชญากรรม

    ทั้งหมดทำให้มีปัญหาเรื่องอาวุธปืนมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนได้อย่างไม่ยากเท่าใดนัก หรือไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการควบคุมจำนวนเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืน)

    รวมถึงขาดกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดซึ่งถือเป็นช่องว่างของกฎหมายที่ต้องแก้ไข

    เราจำเป็นจะต้องคำนึงถึงว่าประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกับต่างประเทศอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีการถกเถียงและยกประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนอยู่ในปัจจุบัน

    โดยสหรัฐฯในปี 2021 ที่ผ่านมาพบว่ามีสถิติคดีฆาตกรรมสูงขึ้นกว่า 4.3% สถิติคดีฆ่าตัวตายสูงขึ้น 4% และมีสาเหตุจากอาวุธปืนกว่า 81% ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นประเด็นที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน

    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า

    การแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะตำรวจเท่านั้น ตำรวจทำงานด้านการป้องกัน ปราบปราบ สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนมาอย่างต่อเนื่อง

    ส่วนของตนในฐานะผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จะเห็นได้ว่ามีการระดมกวาดล้างอาวุธปืนครั้งใหญ่ทั่วประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง

    ล่าสุดวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา สอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อน season 2 (CIB Ghost Guns Operation)” ช่วงก่อนเกิดเหตุที่ จว.หนองบัวลำภู

    ตรวจค้น 126 จุดทั่วประเทศ จับกุมผู้ต้องหา 60 ราย ตรวจยึดอาวุธปืนไม่มีทะเบียน 71 กระบอก  กระสุนปืนประมาณ 9,000 นัด พร้อมกับอุปกรณ์แท่นผลิต ลำกล้อง อุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ กว่า 875 รายการ

    “ผมเชื่อว่าการปราบปรามอาวุธปืนเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยในภาพรวมอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการ “ควบคุมและป้องกัน” ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

    เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ขอมีอาวุธทุกปี หากขาดคุณสมบัติ ต้องถอนใบอนุญาตทันที / มีการตรวจสอบทะเบียนปืนและอาวุธปืน ให้ตรงตามทะเบียน เพื่อป้องกันไม่ให้ปืนไปตกอยู่ในตลาดมืด / การจำกัดการมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของแต่ละบุคคล ไม่เกินกี่กระบอก ตามเหตุอันสมควร / ออกกฎหมายควบคุมห้ามมีเกินคนละกี่กระบอก เป็นต้น” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าว

    นอกจากนี้การนำปืนมาตรวจสอบ และยิงคัดปลอก คัดกระสุน ตรวจเก็บ เป็นฐานข้อมูลหากเกิดอาชญากรรม / การเพิ่มหน่วยงานและวิธีการตรวจสอบประวัติผู้ขอมีอาวุธปืนอย่างเข้มงวด /

    การเพิกถอนใบอนุญาต ร้านจำหน่ายปืนและเพิกถอนสนามยิงปืน ที่กระทำความผิดกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยปืนไม่มีใบอนุญาต ห้ามนำเข้ามายิง / และการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องอาวุธปืนอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น, เขาย้ำ
     

    สำหรับกระบวนการขออนุญาตมีหรือครอบครองอาวุธปืน ในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังรับหน้าที่ในส่วนของการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้ขออนุญาตอยู่บางส่วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาในการอนุมัติการมีหรือครอบครองฯ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเองก็มีกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบ คัดกรองด้วย

    “ผมมองว่าทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย จะต้องทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มากขึ้น”

    เช่น ปัจจุบันข้อมูลการเก็บอัตลักษณ์ปืน การตรวจเก็บหัวกระสุนปลอกกระสุนนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีฐานข้อมูล

    ในส่วนนี้ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของตำรวจ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีฐานข้อมูลประวัติบุคคลเฝ้าระวัง หมายจับ ประวัติคดี  ก็เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังถูกแยกเก็บและยังไม่มีความเชื่อมโยงกัน”

    เขามองให้เห็นถึงปัญหา และกล่าวว่า หากเชื่อมโยงข้อมูลกันเรียบร้อยแล้ว มีผู้ยื่นขอมีหรือครอบครองอาวุธปืนในระบบ

    เมื่อ input ข้อมูลเข้าไป ระบบจะเชื่อมกับฐานข้อมูลอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ เช่น หมายจับ ประวัติต้องโทษ บุคคลเฝ้าระวัง ผู้มีอิทธิพล หรือองค์กรอาชญากรรม ฯลฯ จะสามารถตรวจสอบได้ในทันที  จะทำให้เราสามารถคัดกรองบุคคลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ผบช.ก. มองว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาจจะต้องทั้งในส่วนของประวัติคดีอาชญากรรม ประวัติการรักษาทางจิตเวช หรือสภาพความสมบูรณ์ของจิตใจ

    กำหนดเพิ่มหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  เชื่อว่าจะสามารถคัดกรองประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายผู้ขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    “ควรให้ความสำคัญกับการตรวจประวัติการกระทำความผิด รวมถึงสุขภาพจิตของผู้ครอบครองอาวุธปืนอยู่เป็นประจำ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนอยู่แล้ว

    โดย link ข้อมูลผลการตรวจไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ หรือการเพิกถอนการครอบครองอาวุธปืน”

    หากเปรียบเทียบกับการสอบหรือต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ซึ่งรถยนต์มีความอันตรายน้อยกว่าอาวุธปืน แต่มีระบบการตรวจสอบทั้งความพร้อมของร่างกาย ตรวจวัดสายตา ทดสอบปฏิกิริยาการขับขี่ หรือแม้แต่ความรู้ของกฎหมายจราจร เหมือนเป็นการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ทุกๆ 5 ปีเป็นต้น” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าว
     
    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวด้วยว่า ในห้วง 10 ปี ที่ผ่านมายังจะเห็นได้ว่าสถิติการจับกุมคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนไม่ได้มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ  

    สังเกตได้ว่าในช่วงปี 2561 จะเห็นได้ว่าสถิติอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนมีถึง 60,000 กว่าคดี แต่มีแนวโน้มที่ลดน้อยลงในช่วงปีต่อๆ มา

    แต่ถึงจะมีแนวโน้มลดน้อยลงก็ยังพบว่าในปี 2563 ยังคงมีคดีที่เกี่ยวกับอาวุธปืนกว่า 30,000 คดี คือมีการจับกุมโดยเฉลี่ยวันละ 82 คดี/วัน  

    จากข้อมูลดังกล่าวหากนำมาลองเปรียบเทียบกับสถิติคดียาเสพติดจะมีความสอดคล้องกัน คือ พื้นที่ใดมีจำนวนคดียาเสพติดสูง  มักจะมีจำนวนคดีอาวุธปืนสูงด้วยเช่นกัน  

    ปัจจุบันในหลายๆ ภูมิภาคในประเทศไทย คดีอาวุธปืนอยู่ในกลุ่ม Top Three ของคดีอาชญากรรมในประเทศไทย

    ในส่วนของการใช้อาวุธปืนก่อเหตุ Mass Murder ขึ้นอีกนั้น เขามองว่า

    ปกติแล้วคนร้ายกลุ่ม Active Shooter เหล่านี้จะเลือกพื้นที่ก่อเหตุที่จะสามารถสร้างความเสียหายหรือผลกระทบในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงมีระบบรักษาความปลอดภัยไม่เข้มงวด

    เช่น ในปี 2560 ที่เมืองลาสเวกัส คนร้ายได้ยิงกราดลงมาจากโรงแรม Mandalay กลางงานคอนเสิร์ต เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 58 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย และเราก็จะเห็นพฤติการณ์ของคนร้ายในลักษณะใกล้เคียงกันในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก

    ดังนั้น พื้นที่เฝ้าระวังก็คงจะเป็นพื้นที่ที่เป็นสาธารณะและความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม งานคอนเสิร์ต งานอีเว้นต์ ต่างๆ เป็นต้น

    ดังนั้นการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยหรือกระบวนการตรวจสอบคัดกรองบุคคลให้มากขึ้นก็เป็นวิธีการป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

    แต่อย่างไรก็ตาม “การควบคุมหรือเฝ้าระวังป้องกันเหตุอาจจะกระทำได้ยากเพราะในหลายกรณีที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้ตระเตรียมการหรือวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้า

    ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุขึ้น ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาวุธปืน และปัญหาคนที่มีอาการป่วยทางจิต (ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้ยาเสพติด)

    ถ้าเราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้จะส่งผลให้สามารถลดปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต”

    ในส่วนของแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดนั้น พล.ต.ท.จิรภพ มองว่า

    แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เพียงแต่การสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นทุกภาคีที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือร่วมใจกันทำงานกันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

    ตำรวจจะต้องสืบสวน/ติดตาม/เก็บข้อมูลกลุ่มขบวนการเครือข่ายยาเสพติด ขยายผลถึงกลุ่มหัวหน้าขบวนการ หรือเพิ่มความเข้มข้นในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดให้เข้มงวด และต้องประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งภายในประเทศและเพื่อนบ้าน) เพื่อสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย
     
    เขากล่าวด้วยว่า

    ส่วนตัวเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายหรือบทลงโทษอย่างจริงจังจะลดปัญหาได้ อย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่มีกฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรงในเรื่องยาเสพติด และมีการบังคับใช้โทษอย่างจริงจัง เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ายาเสพติดถือเป็นปัญหาที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

    แต่ในประเทศไทยเอง  มองว่าแม้ว่าจะมีอัตราโทษเกี่ยวกับยาเสพติดที่รุนแรง แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีแนวโน้มกลับมากระทำความผิดซ้ำ (re-offender)

    เรือนจำอาจกลายเป็นสถานที่ที่กลุ่มคนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้สร้างเครือข่ายมากขึ้นภายหลังพ้นโทษออกไป

    เราต้องอย่าลืมว่าผลประโยชน์ของการค้ายาเสพติดนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาชญากรรมประเภทอื่นๆ ผู้กระทำความผิดจึงคิดว่าเป็นการ “คุ้มค่าเสี่ยง” ที่จะกลับไปกระทำความผิดซ้ำได้โดยง่าย

    “การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผมเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน น่าจะเป็นการใช้หลักทฤษฎีการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence Theory) เพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่ได้รับโทษเกิดความเกรงกลัว และบุคคลอื่นได้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดอีก

    ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเองที่มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะต้องมีบทลงโทษให้หนักกว่าประชาชนทั่วไป”

    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวทิ้งท้าย

    Crime track วัสยศ งามขำ

    https://www.bangkokpost.com/thailand/special-reports/2421076/cib-sets-out-gun-control-wish-list-as-laws-fall-flat

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments