Thursday, April 18, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนปั้นน้ำเป็นตัวบนโซเชียล

    ปั้นน้ำเป็นตัวบนโซเชียล

     

    ปั้นน้ำเป็นตัวบนโซเชียล หลังชาวเน็ตแห่ #พป จนไฟลามทุ่ง

    อาชญา (ลง) กลอน ธนก บังผล

    ชาวเน็ตจำนวนมหาศาลเฝ้าติดตามเผือกจนไม่ได้หลับได้นอน หลังภาพแชทหลุด “โป๊ป” ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ นักแสดงนำชายจากละครที่ติดงอมแงมกันทั้งบ้านทั้งเมือง “บุพเพสันนิวาส” ถูกเผยแพร่ออกมาช่วงดึกของคืนวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ติดแฮชแท็ก #พป พุ่งกระฉูดบนโซเชียลมีเดียถล่มทลาย

    และเมื่อมีผู้ขุดจนพบว่าเป็นภาพที่ถูกตัดต่อขึ้นมา มีการตัดข้อความในไลน์มาแปะเพื่อปั่นกระแส ประกอบกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว บรรดาแฟนคลับก็ทิ้งให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผ่านไป โดยคนที่ปั้นน้ำเป็นตัวสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเผยแพร่ได้แต่เก็บเอาไปภูมิใจ สนุกกับเรื่องดังกล่าว ที่สามารถปั่นกระแสให้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

    แต่มีหลายคนไม่สนุกด้วย และเห็นว่า พวกที่คิดไปเอง สร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเอง จนทำให้มีผู้เสียหายชื่อเสียงเสื่อมเสีย

    นับวันยิ่งได้ใจเพราะนอกจากจะสนุกแล้ว ยังไม่มีใครเอาผิดดำเนินคดีตามกฎหมายได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

    กรภพ จันทร์เจริญ หรือ “โจ๊ก โซคูล” นักแสดงและนักร้อง ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ ว่า

    “พวกที่ชอบปั่นให้คนอื่นเสียชื่อด้วยโซเชี่ยลเนี่ย ถ้าเจอความเข้มงวดของกฎหมายแบบเมืองนอกคงจะเจียมตัวกันมากกว่านี้ แต่ประเทศไทยคนพวกนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ และดูสนุกสนานกันมากๆ”

    “เห็นแล้วหงุดหงิดครับ พวกทำลายชีวิตคนอื่น บทลงโทษก็ดูเลือนรางมาก”

    นี่ถือเป็นเสียงสะท้อนของคนที่อยู่ในวงการบันเทิงที่ต่างรู้สึกว่า เรื่องเท็จที่บางคนสร้างขึ้นนั้นมันไม่ใช่

    เรื่องสนุกของคนอีกหลายคน โดยเฉพาะคนที่ตกเป็นเหยื่อ และมันไม่ควรจบลงตรงที่เมื่อถูกจับได้ว่าทำภาพขึ้นเอง แล้วก็เลิกรากันไปเท่านั้น

    การตัดต่อภาพเช่นนี้ หากถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง ยังสามารถทำลายอนาคตของคนๆหนึ่ง เป็นการสร้างเรื่องเท็จใส่ร้ายคนอื่นโดยไม่มีทางตอบโต้ซึ่งๆหน้า จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ คนที่ทำเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ต้องมีจิตวิปลาส หรืออาจมีปมด้อยในการเข้าสังคม ซึ่งอันตรายมากเพราะสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างง่ายดาย

    ภูวรินทร์ ทองคำ ทนายความ ได้เคยให้สัมภาษณ์ เรื่องคดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทะเลาะกันด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วโพสต์ข้อความใส่ร้ายหรือประจานคู่กรณี, เรื่องชู้สาวหรือทำการตัดต่อภาพเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด

    หากบุคคลที่ได้รับความเสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ดารา นักร้อง นักธุรกิจ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

    เมื่อการหมิ่นประมาทกระทำโดยเครื่องมือสื่อสารสังคมออนไลน์ ความเสียหายจึงกระจายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการกระทำผิดโดยการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

    ทนายภูวรินทร์ ให้ความเห็นว่า คดีอาญาเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในทางโซเซียลมีเดียนั้น แต่เดิมกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

    กรณีนี้ความเสียหายไม่มากมายนักเพราะมีเพียงแค่บุคคลที่สามที่รับทราบ (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความไม่มาก) กฎหมายจึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    แต่ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น

    กรณีนี้ความเสียหายกระจายไปตามการโฆษณา (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความมีมากขึ้น หรือโอกาสของบุคคลที่รับรู้การใส่ความจะเพิ่มมากขึ้น) กฎหมายจึงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

    นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย หรือการกดแชร์ส่งต่อข้อความอันเป็นความผิดด้วย คือ

    มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติอัตราโทษจำคุกและโทษปรับให้หนักขึ้นมากกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

    เพราะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments