การถ่ายถอดเรื่องราวที่มี “พหุวัฒนธรรม” หรือเข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ“สังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย” ผ่านภาพยนตร์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของ “ศาสนา” เข้ามาเกี่ยวข้อง การจะแตะถึงเรื่องราวเหล่านี้ ต้องอาศัยความกล้าของคนทำหนังไม่น้อย ใครจะทำหนังสักเรื่องที่นำเอา “พหุวัฒนธรรม” มาช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย และชวนวัดใจว่าจะมี “กระแสดราม่า” เกิดขึ้นหรือไม่
ล่าสุด “ผู้บ่าวนิกะห์” งานจากค่ายมณวิจิตร กำกับโดย “เกรียงไกร มณวิจิตร” ก็อาจต้องลุ้นว่าจะมีกระแสอะไรตามมาบ้าง ด้วยเรื่องราวในหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาความสัมพันธ์แบบต่างศาสนาเข้ามาข้องเกี่ยวเต็ม ๆ
หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักคือ “บักไข่” รับบทโดย “ณัฐวุฒิ แสนยะบุตร” หนุ่มอีสานชาวพุทธ มีคู่รักคือ “โซเฟีย” รับบทโดย “กมลพร แสงวัชรสุนทร” รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย เป็นสาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 2 คนวางแผนจะแต่งงานกัน ที่เรียกว่า “นิกะห์” คือการแต่งงานระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิม
ฝ่ายชายได้เดินทางจากอีสานไปยังบ้านเกิดของแฟนสาวเพื่อจัดพิธีวิวาห์กันที่นั่น มีเพื่อนสนิทคือ “บักเจ้ย” สวมบทโดย “ชาติชาย ชินศรี”ติดตามไปด้วย ตามคำสั่งของ “แม่นี” (ภัสสร บุณยเกียรติ) มารดาของ “บักไข่” ที่ไม่อาจเดินทางไปร่วมงานวิวาห์ของลูกชาย
เส้นทางการสร้างครอบครัวของ “บักไข่” และ “โซเฟีย” ดูเหมือนจะราบรื่น เพราะบิดาของฝ่ายหญิงก็คือ “อาเยาะลัง” (ฐิติ พุ่มอ่อน) ผู้มีฐานะมั่งคั่ง ไฟเขียวให้ลูกสาวออกเรือนไปกับหนุ่มอีสาน
ขณะที่ตัวของ “บักไข่”เองได้พิสูจน์ความจริงใจให้ครอบครัวฝ่ายหญิงเห็น โดยยอมที่จะเปลี่ยนศาสนาไปนับถืออิสลาม
ทว่ามีก้างชิ้นโตคือ “บังลี” รับบทโดย “อาหมัดกูเชียรี ดอเล๊าะ” หรือ “ชาลี ดาว ติ๊ก ต่อก” ลูกชายคนโตของ “อาเยาะลัง”และเป็นพี่ชาย“โซเฟีย” มาขวางทางรักอยู่
https://www.youtube.com/watch?v=VjVe0AKTjm0
“บังลี” ตั้งตนเป็นอริกับว่าที่น้องเขย และคิดค้นแผนการล้มงานแต่งงาน
ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เขาพยายามให้เลิกรางานแต่ง ก็เพราะมีแผลใจที่มารดาซึ่งเป็นคนต่างศาสนา ทอดทิ้งไปตั้งแต่ยังเด็ก
ชายหนุ่มจึงไม่เชื่อว่าความต่างของศาสนาและวัฒนธรรมจะทำให้คนเราครองคู่และรักกันได้อย่างยั่งยืน และไม่ใช่เพียงตัวเขาเองที่ยังจมอยู่กับความเจ็บปวด แต่“อาเยาะลัง” ก็ยังจมอยู่กับความรวดร้าวเช่นกัน
แน่นอนว่า ช่วงที่ 2 หนุ่มอีสานต่างถิ่นมาพำนักที่บ้านครอบครัวชาวมุสลิมเพื่อเตรียมงานวิวาห์ ก็คือช่วงที่เกิดเรื่องราวอลหม่านปนผจญภัยหนังพาตัวละครไปอย่างสุดเหวี่ยง
ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวความสำมะเลเทเมาของบรรดาก๊วนเกลอหนุ่ม ๆ ในภาพยนตร์ตลกอเมริกันที่ออกฉายในปี 2552 เรื่อง The Hangover อยู่บ้าง ที่ว่าด้วยเรื่องสุดวุ่นวาย ก่อนวันวิวาห์ของหนุ่มคนหนึ่งในแก๊ง
แต่ใน “ผู้บ่าวนิกะห์” เป็นสถานการณ์ที่ “บังลี” หาเรื่องกลั่นแกล้ง“บักไข่” และ “บักเจ้ย” สารพัด โดยมี “บังดุล” (อดุลย์ บอสู) เพื่อนสนิทเป็นตัวช่วย
หลังจากมอมเมาหนุ่มอีสานด้วยน้ำกระท่อมสูตรแรง แต่แล้วดาบนั้นก็คืนสนอง เมื่อฝั่งหนุ่มใต้ก็แพ้ภัยตัวเองไปด้วย
ทั้ง 4 คนคึกคะนองเตลิดเปิดเปิงจนเกิดเรื่องเกิดราวแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในที่สุดหลังจากที่ได้ร่วมผจญความเป็นความตายกันมา ทั้งหมดก็ได้เห็นตัวตนและจิตใจที่แท้จริงของกันและกัน
เรื่องราวการผจญภัยและเสี่ยงตายในหนังเป็นเพียงเครื่องเคียงที่ช่วยให้เรื่องราวมีสีสัน ได้รสชาติที่จัดจ้านขึ้น การหยอดและตบมุกกันขันฮาระหว่าง 4 หนุ่มทำได้อย่างเข้าขา ขณะที่ดราม่าในเรื่องของครอบครัวก็ช่วยตัดขอบของรสชาตหนังเรื่องนี้กลมกลอมขึ้น
แต่ที่ใส่มาอย่างเป็นธรรมชาติและถือเป็นการนำเสนออย่างกล้าหาญก็คือการถกเถียงในเรื่องของความต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม
ความอึดอัดคับข้องใจต่างๆ นานาการแสดงออกของตัวละครที่มีลักษณะของความหลากหลายทางเพศ การเปิดเผยความคิดของสาว ๆ มุสลิมยุคใหม่
ขณะที่ “บักไข่” และ “โซเฟีย” ดูเหมือนจะมองข้ามผ่านความแตกต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมไปแล้ว โดยสิ่งที่จะสั่นคลอนความรักความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่นี้ก็น่าจะมีแต่ “ความไม่ซื่อสัตย์และขาดความภักดี” ต่อกันและกัน
ส่วนที่ต้องชมอีกอย่างก็คืองานด้านภาพของ “ผู้บ่าวนิกะห์” ฉายความงามของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และทะเลภาคใต้ออกมาได้อย่างสวยงามชวนตะลึงจริงๆ
Blue Bird21/12/67