พบกันอีกแล้วกับกุหลาบโล่เงินสุดพิเศษ
เราไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า เพราะวันนี้เราได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์กับ “รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” คนสวยหรือ พี่ลูกขวัญ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา อาจารย์ (สบ2) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจนั่นเอง
เป็นที่แน่นอนว่า เราได้พี่ลูกขวัญที่ไม่ธรรมดามาถ่ายทอดประสบการณ์ว่า เอ๊ะ รองโฆษกคืออะไร แล้วเขาทำงานยังไง ตำรวจไม่ได้มีแต่จับผู้ร้ายใช่หรือไม่ ?
วันนี้พี่ลูกขวัญจะมาเล่าเรื่องราวถึงจุดเริ่มต้น แอบกระซิบก่อนว่าเห็นทำงานขนาดนี้ ยังมีหนึ่งภารกิจที่พี่ลูกขวัญถือเป็นแรงสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาไทย
พี่ลูกขวัญ สาวเชียงใหม่ เริ่มบทบาทตัวเองด้วยการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
พี่ลูกขวัญย้ำว่าทุก ๆ วันที่ตื่นมาทำงานมีความสุขมาก แม้ช่วงเวลาพักผ่อนก็ยังเตรียมการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก ๆ
ถึงกายจะเตรียมสอนหนังสือแต่มืออีกส่วนของร่างกายก็ต้องคอยจับไมค์ รับบทพิธีกรไม่ว่าจะงานปฐมนิเทศ งานคณะ งานอะไร พี่ลูกขวัญทำได้หมดเลยเป็นที่มาของบทบาท “รองโฆษกโรงเรียนนายร้อยตำรวจ”
พี่ลูกขวัญแชร์ว่า
ย้อนไป 3 ปี ตอนนั้นทั้งรับบทบาทครูผู้สอนทั้งบทบาทหัวหน้าโครงการวิจัยซึ่งในช่วงนั้นสังคมไทยอาจจะยังไม่ตื่นรู้ในเรื่อง “หลอกรักออนไลน์” (romance scams) มากนัก
กลับมองเห็นว่า นี่แหละคือภัยยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คนสามารถใช้ความรักมาเป็นเครื่องมือทำให้คน ๆ นึงหมดเนื้อหมดตัว เลยตัดสินใจขอทุนทำวิจัยในเรื่องนี้
หลายคนอาจจะสงสัยว่า พี่ลูกขวัญดูเข้าทางกับสายวิชาการ ทั้งวุฒิที่จบมาคว้าหมดไม่ว่าจะ ป.ตรี ป.โท (2ใบ) ป.เอก
– ป.ตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ม.เชียงใหม่
– ป.โท Master of Science (Urban Environmental Management), Asian Institute of Technology (AIT)
– ป.โท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– ป.เอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
แม้กระทั่งเป็นหนึ่งในมดงานของโครงการหลักสูตรครูแม่ไก่เสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนแล้วไหนล่ะความเชื่อมโยงกับงานโฆษก
จนกระทั่งพี่ลูกขวัญเริ่มปล่อยของระดมสมองกับทีม มีแม่ทัพนำโดย พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำสื่อประชาสัมพันธ์แบบตำรวจยุคใหม่ไวกว่า 5G เสนอคู่อินโฟกราฟิกเพื่อเตือนภัยตามเทศกาลที่คนให้ความสนใจเยอะมาก
พอเริ่มจับจุดได้ ทีมโฆษกก็ไม่รีรอเดินหน้าประชาสัมพันธ์ข่าวสารอย่างเข้มข้น ตรงทุกจุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญและสนใจมาก ก็ปรับรูปแบบเนื้อหาให้เข้ากับบริบทมากขึ้น
พี่ลูกขวัญบอกกับเราว่ายิ่งเราสื่อสารตรงกับประชาชนมากเท่าไหร่ถึงจะมีคอมเมนท์ติชมบ้าง แต่นั่นคือสัญญาณของการรับสารที่ได้ผล
พี่ลูกขวัญเล่าย้อนไปว่า
การจะประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆได้ ก่อนอื่นเราต้องศึกษาเข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มนั้นๆ ก่อน ไม่ว่าจะพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทย เนื้อหาแบบไหนที่คนให้ความสนใจ ถึงตอนนั้นเราจะใช้สื่อได้เกิดประโยชน์
ยิ่งคนไทยเป็นคนตลก อารมณ์ดีชอบดูอะไรที่เบาสมอง พี่ลูกขวัญกับทีมก็ต้องยิ่งทำการบ้านหลังบ้านซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะสวมเครื่องแบบ สวมหมวกตำรวจใช่ว่าจะทำอะไรก็ต้องยิ่งคิดให้เหมาะสมกับบริบทของเรา
เป็นความโชคดีที่มีทีมงานสนับสนุน คอยแบ่งปันไอเดีย และช่วยทำคลิป โดนเน้น “ความประหยัด เรียบง่าย และเข้าถึง”
หลายครั้งก็มีบ้างที่พี่ลูกขวัญทำเอง ถ่ายเอง คนเดียว เพื่อสร้างสื่อให้ทันต่อสถานการณ์
เห็นไหมล่ะว่า การสื่อสารภายใต้บทบาทของตำรวจก็ไม่ได้ง่าย ไม่ใช่คิดจะแจ้งเตือนอะไรก็ลุกขึ้นมาทำได้ทันที แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องมีการคิดวิเคราะห์จนตกผลึก เพื่อให้สารที่ส่งไปนั้นเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง
พี่ลูกขวัญบอกกับเราปิดท้ายว่า
“หลายคนอาจจะเบื่อ อาจจะมองว่าเตือนภัยอะไรตั้งเยอะ แต่ขอให้เชื่อว่ามาจากความตั้งใจ หวังดี และเป็นห่วงจากทีมโฆษกตร. ที่หวังเพียงข้อมูลเหล่านี้จะช่วยยั้งสติของประชาชนไม่มากก็น้อย ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต่อไป”
“ศุพิต พ.” บันทึก25/6/66