Saturday, April 20, 2024
More
    Homeปั้นลูก(ตร.)เป็นนักหวดภาษาอังกฤษกับนักกีฬา

    ภาษาอังกฤษกับนักกีฬา

     

    หลังจากลูกเล่นเทนนิส ส่ิงที่ผมสัมผัสและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของลูกชายในการออกตระเวนแข่งขันรายการต่างๆในต่างประเทศก็คือเรื่องภาษาอังกฤษครับ

    ผมมองว่าเป็นส่ิงจำเป็นมากสำหรับนักกีฬาทุกคนเพราะเวลาไปแข่งขันต่างถิ่นเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง หากนักกีฬาคนไหนที่ไม่มีทักษะพูดเขียนอ่านไม่ได้ก็จะเสียเปรียบนักกีฬาคนอื่นๆ เอาแค่เว็บไซต์ที่ใช้สมัคร Ipin เป็นสมาชิกของไอทีเอฟเปิดเข้าไปก็มึนแล้วครับ แต่ละขั้นตอนมีความยุ่งยากมาก

    เท่าที่ดูนักเทนนิสไทยส่วนใหญ่สอบผ่านในเรื่องนี้ครับ เพราะแต่ละคนเตรียมพร้อมด้านภาษากันพอสมควร แต่อาจมีบางคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้เวลาไปแข่งเมื่อจำเป็นต้องสื่อสารกับพวกนักเทนนิสต่างชาติ แทบใบ้กินไปเลย โชคดีที่ผมวางแผนไว้ล่วงหน้า แม้ลูกจะไม่ได้เรียนในชั้นเรียนตอนอยู่ม.4,5 และ6 แต่ผมปรับเวลาให้ลูกชายได้เรียนเสริมในเวลาว่างครับ เน้นเรียนในวิชาหลักเพื่อพัฒนาตัวเอง

    โดยเฉพาะภาษาอังกฤษผมให้ลูกเรียนตัวต่อตัวกับครูต่างชาติตั้งแต่เรียนม.1 เพื่อจะได้สัมผัสกับครูเจ้าของภาษาโดยตรง ยอมรับว่าการต้องซ้อมฝึกอย่างหนักและเรียนเป็นเรื่องสาหัสพอสมควร บางครั้งซ้อมมาเต็มที่แล้วยังต้องมานั่งเรียนในชั่วโมงถัดไปทำเอาลูกชายเบลอไปเหมือนกัน แทบเรียนไม่รู้เรื่อง จบจากเรียนก็ต้องไปซ้อมต่อช่วงบ่าย บางวันต้องไปทำฟิตเนสในตอนเย็น เหนื่อยเอาเรื่องครับ

    แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความวิริยะอุตสาหะมันสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงครับ เพราะเวลาไปแข่งต่างแดน มันมีอุปสรรคต่างๆให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง ย่ิงกรณีที่ต้องเดินทางตามลำพังที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ถ้าเด็กไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ไม่มีทางไปได้แน่นอน เพราะทุกอย่างอธิบายเป็นภาษาอังกฤษหมด

    ย่ิงตอนเกิดปัญหาระหว่างเกมการแข่งขันก็ไม่สามารถไปอธิบาย หรือถกเถียงกับกรรมการหรือคู่แข่งต่างชาติได้ ทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งที่เราเป็นฝ่ายถูกแต่ไม่กล้าพูด เลยโดนโกงไปหน้าตาเฉย อีกอย่างเวลาที่ต้องไปจับคู่กับนักหวดต่างชาติก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพื่อวางแผนในการเล่น ไม่ใช่ใช้แต่ภาษากาย อธิบายกันแต่ท่าทาง

    ตอนที่ลูกชายไปแข่งไอทีเอฟที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้องเดินทางไปคนเดียวโดยไม่มีเพื่อนนักหวดคนไทยไปด้วย ลูกได้ประสบการณ์ตรงที่หาไม่ได้ในในห้องเรียน ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ลูกต้องเผชิญชีวิตอยู่ในดินแดนอาทิตย์อุทัยเหมือนเป็นการเรียนรู้นอกตำรา ได้คู่พาร์ทเนอร์เพื่อนนักหวดชาวอิสราเอลและอเมริกัน นอกจากส่ิงที่ได้จากการเกมการเล่นแล้ว เมื่อเรามีทักษะภาษาที่ดีก็สามารถสื่อสารเแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเด็กต่างชาติ

    ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นพวกชาติอนุรักษ์นิยมครับ ประเทศเขาไม่ค่อยพูดและใช้ภาษาอังกฤษกันครับ การใช้ภาษาต่างแดนของนักเทนนิสญี่ปุนส่วนมากก็ไม่ต่างจากเด็กไทยเท่าใดนัก แต่ความแตกต่างอยู่ที่เด็กของเขามีความกล้าครับ เมื่อกล้าพูดกล้าสื่อสารก็เกิดความชำนาญไปเอง

    ครับส่ิงเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์อันน้อยนิดของลูกชายที่มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ผู้ปกครองนักเทนนิสหรือนักกีฬาอื่นๆ ให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ถึงแม้ไม่ใช่ภาษาของบรรพบุรุษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือส่ิงจำเป็นในโลกปัจจุบันและอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่ิงถ้าเรามุ่งมั่นเดินในเส้นทางสายนี้แล้วก็ควรเตรียมพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ครับ

    ———————————- เดอะวินเนอร์

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments