เรื่องราวจากชีวิตจริงมากมายที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในโลกของภาพยนตร์
และด้วยความเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง ก็มักจะทำให้ความรู้สึกของผู้ชม “อิน” ยิ่งขึ้น
เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผ่านออกมา อาจมีบางส่วนที่“ตรงจิต ตรึงใจ” กับประสบการณ์ในชีวิตของคนดูแต่ละคนก็เป็นได้
“หลานม่า” กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรง เป็นงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงในชีวิตของ พัฒน์ เอง และความเป็นงานที่อยู่กับค่าย “จีดีเอช” ที่ถูกแปะป้ายว่าผลงานจากค่ายนี้มักจะเป็นแนว Feel good ก็เชื่อได้ว่า “หลานม่า” ต้องเสิร์ฟความประทับใจแบบที่ไม่ประหัตประหารหัวใจผู้ชมเป็นแน่แท้
วัตถุดิบตั้งต้นของ “หลานม่า” มาจากการที่ผู้กำกับต้องกลับไปดูแลอาม่าที่อายุต่างกันเกือบ 50 ปี เมื่อนำมาปรุงเป็นภาพยนตร์ ก็เติมวัตถุดิบอื่นๆ เข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะทีมนักแสดงคือหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะชูรสชูโรง ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เอร็ดอร่อยสมใจคนทำงานและผู้ชม
เปิดรายชื่อนักแสดงนำคือ บิวกิ้น–พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล ก็ปังแล้ว เพราะบรรดาแฟนคลับของชายหนุ่มคงไม่พลาดสนับสนุนศิลปินคนโปรดของพวกเขา แต่ถึงจะไม่ใช่แฟนตัวยงของบิวกิ้น หลายคนก็คงประจักษ์จากชิ้นงานที่ผ่านมาว่าหนุ่มคนนี้ฝีมือไม่เบาเลย
และการกลับคืนจออีกครั้งของพิธีกรชื่อดัง ดู๋–สัญญา คุณากร ก็ทำให้“หลานม่า” มีสีสันขึ้นนมาอีก ขณะที่ดาราฝีมือดีอีกคนที่ได้คือ เผือก–พงศธร จงวิลาส หนึ่งในแก๊งเพื่อนสุดฮาของ ไอ้มาก ในภาพยนตร์ “พี่มาก” ก็ได้บทที่เข้ามือเหลือเกินใน “หลานม่า”
นอกจากนี้ก็มีดาราที่ผู้ชมอาจไม่คุ้นตานักแต่ฝีไม้ลายมือไม่แพ้ใคร ท้ั้ง เจีย–สฤญรัตน์ โทมัส, ตู–ต้นตะวัน ตันติเวชกุล
ขณะที่นักแสดงที่แบกบทของ อาม่า ไว้คือ แต๋ว–อุษา เสมคำ ถูกระบุว่าเป็น “นักแสดงหน้าใหม่” ทว่ามีวัยถึง 76 ปี
ส่วนเรื่องราวของ “หลานม่า” ถ้ามองอย่างทั่วไปก็คือการบันทึกความผูกพันของครอบครัวใหญ่ของบ้านคนจีน ที่ต้องพบพานทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย อันเป็นสัจธรรมของชีวิต เพียงแต่เรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาจะทำให้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัวพลิกผันไปทางไหน และบทเรียนที่ได้รับทำให้ใครเติบโตไปอย่างไร
เนื้อเรื่องอย่างย่นย่อของ “หลานม่า”คือ เอ็ม ที่รับบทโดย บิวกิ้น เด็กหนุ่มที่เรียนจบแล้วแต่กลับใช้ชีวิตไปวัน ๆด้วยการแคสต์เกมหรือขายของออนไลน์หาเงินใช้ และยังอาศัยอยู่กับมารดาที่ทำงานเป็นพนักงานแบบเข้ากะในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่แห่งหนึ่ง มีชีวิตพอมีพอกินไม่ลำบาก
https://www.youtube.com/watch?v=0fksoEJvdLE
ทว่าวันหนึ่ง เอ็ม ได้รู้ว่า อาม่า ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีเวลาใช้ชีวิตอยู่บนโลกในอีกไม่นาน เลยเกิดไอเดียว่าจะไปอยู่ดูแลอาม่า เพื่อที่จะเป็น “ที่หนึ่งในใจอาม่า” และการได้ตำแหน่งที่ 1 นั้น “สมบัติ” ของอาม่าจะไปไหนเสีย
ชายหนุ่มฝันหวานว่ามรดกของอาม่าต้องตกเป็นของตนเองแน่นอน เนื่องจากเห็นตัวอย่างจาก มุ่ย (รับบทโดย ตู–ต้นตะวัน) ญาติสาวที่บอกเคล็ดลับที่ทำให้เธอได้สมบัติจากอากง
เคล็ดลับที่ไม่ลับนั้นก็คือ สิ่งที่ผู้อาวุโสไม้ไกล้ฝั่งเหล่านี้ต้องการ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองจากลูกหลาน แต่คือ “เวลา” ที่ลูก ๆ หลาน ๆ จะแบ่งปันมาให้กับพวกท่านบ้าง
มองอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เอ็ม แม้จะรักและผูกพันกับ อาม่า แต่ก็เข้าหาท่านด้วยเจตนา “สีเทา” หวังอยากได้สมบัติคือบ้านและที่ดินของอาม่าด้วยที่ตั้งอยู่แถวตลาดพลู ทำเลทองแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าราคาที่ดินแถวนี้สูงลิบลิ่ว
ทว่าในช่วงเวลาที่ เอ็ม ได้กลับมาปรนนิบัติพัดวี อาม่า ที่อยู่ในช่วงเวลาท้าย ๆ ของชีวิต คือช่วงสำคัญที่สุด เพราะทีละน้อย ๆ “หัวจิตหัวใจ” ที่ถูกอาบทาด้วย “สีเทา ๆ” ของเอ็ม ค่อย ๆ ถูกขัดเกลาให้ “ขาว” ขึ้น
จากการสัมผัสซัมซับการปฏิบัติตน คำพูด คติความเชื่อ ที่แฝงด้วยข้อคิดนานัปการของใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ซึ่งหนังขยำรวมเรื่องเหล่านี้ออกมาอย่างชาญฉลาดและแนบเนียน ผ่านคติประจำใจในการประกอบอาชีพ การเก็บหอมรอมริบ อดทนต่อเรื่องที่ทำร้ายจิตใจ และการแบ่งบันต่อผู้ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด
แนวคิดและวิถีของครอบครัวชาวจีนถูกนำมาใส่ในเรื่อง “หลานม่า”อย่างคัดสรรและพิถีพิถัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่บอกเล่าในภาพยนตร์คง“ตรง” กับประสบการณ์ในชีวิตของหลายคน และก็ไม่เฉพาะกับครอบครัวเชื้อสายจีนเท่านั้น ครอบครัวของคนชนชาติอื่นก็สะอึกได้เหมือนกัน
เช่น การตั้งคำถามถึง “ความรัก” ที่บุพการีมีให้ลูกแต่ละคนว่า เท่ากันไหม? รักใครที่สุด? หรือการออกเรือนไปแล้วก็กลายเป็นอื่น ฯลฯ
แต่หนังหาทางออกให้กับทุกตัวละครและสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างนุ่มนวล แม้ว่าจริง ๆ แล้วคนทำหนังจะเลือกถ่ายทอดให้สถานการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องมีความฉูดฉาด บีบคั้น ขยี้ใจ เค้นน้ำตาผู้ชม ได้อย่างง่ายดายก็ตาม
ผู้ชมจึงได้เห็น “หลานม่า” เป็นงานที่มอบแง่งามแห่งชีวิต สร้างความอิ่มเอิบ อบอุ่นหัวใจ ทำให้คิดถึงคนที่อยู่ข้างหลัง ฉุกคิดถึงการใช้ชีวิตตนเองในวันนี้และวันข้างหน้า
ถือเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และเชื่อว่าจะอยู่ในใจของผู้ชมไปอีกแสนนาน
อย่ากลัวว่าจะดูแล้วเสียน้ำตาจนดวงตาบวมฉึ่ง เพราะแม้จะต้องดูงานชิ้นนี้ผ่านม่านน้ำตา…ก็คุ้มค่า!
Blue Bird6/4/67