Thursday, April 25, 2024
More
    Homeปั้นลูก(ตร.)เป็นนักหวดฮีทสโตรกและตะคริว

    ฮีทสโตรกและตะคริว

     

    การเล่นกีฬากลางแจ้งส่ิงสำคัญอีกอย่างที่ต้องระวังก็คืออันตรายจากฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด กับการเป็นตะคริวครับ

    ทั้งสองอย่างลูกผมเจอมาหมดแล้ว โดยเฉพาะช่วงลงแข่งที่แดดร้อนจัด หากเกิดขึ้นครั้งใดก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านก่อนเวลาอันควรทุกที

    โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเกิดจากภาวะร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป เท่าที่จำความได้ลูกผมเคยเจอมาแล้ว 2-3 ครั้ง

    แต่ครั้งที่ผมจดจำไม่รู้ลืมก็คือตอนไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติให้กับทีมจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2560 เป็นแมตช์รอบชิงเหรียญทองประเภททีมกับจังหวัดนนทบุรี ต้องเจอกับนักหวด
    รุ่นพี่ชั้นเชิงสูง

    รุ่นพี่คนนี้เคยเจอกันมาตั้งแต่ตอนเด็กๆหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ชนะ แต่ช่วงหลังผลงานเราดีกว่า

    ดูตามฟอร์ม วันนั้นลูกชายผมน่าจะมีภาษีกว่าอยู่เล็กน้อย แต่อากาศก่อนแข่งในวันก่อนๆ ผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แม้แดดจะไม่จัดนัก แต่ก็ร้อนอบอ้าวมาก แทบไม่มีลมพัดเลย อีกทั้งที่ตั้งของสนามค่อนข้างอับ อากาศถ่ายเทไม่ดี นักกีฬาบางคนเกิดภาวะหายใจไม่ทันและเป็นลมกันมาแล้ว

    หลังแข่งเชตแรกไปได้แค่ 2-3 เกม ลูกส่งสัญญาณว่าหายใจไม่ค่อยทันและเร่ิมมีอาการหอบในจังหวะของตีรันนิ่งโฟร์แฮนด์และแบ็กแฮนด์ แต่ก็ยังฝืนเล่น

    จนเข้าสู่ช่วงท้ายๆ ลูกผมออกมาเสิร์ฟปิดเซต ปรากฏว่าร่างกายเกิดช็อตจากอาการเหนื่อยหอบ สุดท้ายโดนเบรกต้องเล่นไทร์เบรคและลูกผมเป็นฝ่ายปราชัย

    กลับมาเร่ิมเซตสองเล่นต่อไม่ไหวจำต้องยอมแพ้ ทั้งๆที่หากชนะก็ได้เหรียญทองแล้ว

    สุดท้ายต้องตัดสินด้วยประเภทคู่เพื่อหาทีมชนะ และเดิมลูกชายผมก็ถูกวางตัวให้เล่นประเภทคู่ด้วย แต่ผมบอกกับโค้ชผู้คุมทีมว่าผมขอบายนะให้พี่ลงแทนดีกว่า เพราะไม่อยากเสี่ยง ผลการแข่งขันจบลงทีมเรามิอาจป้องกันแชมป์ไว้ได้

    หลังจบเกมส์มีผู้ปกครองหลายคนมาพูดปลอบใจและบางคนก็พูดทำนองผมน่าจะให้ลูกชายฝืนเล่นคู่ต่อเพราะยังไงก็ดีกว่าตัวสำรอง

    แต่ผมตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้วครับว่าถ้าสภาพร่างกายลูกไม่พร้อมก็จะไม่เสี่ยงแน่นอน เพราะเคยมีเหตุการณ์เศร้าสลดกลางสนามแข่งให้เห็นมาแล้วในสมาคมกีฬาเทนนิสฯ

    ตอนนั้นลูกชายของนายแพทย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ลงเล่นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ปรากฏว่าแข่งไปได้ครึ่งทางลูกคุณหมอเป็นลมแดดล้มพับหมดสติตะลึงกันทั้งสนาม

    และที่เลวร้ายหนักก็คือฝ่ายจัดการแข่งขันไม่ได้เตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น กว่านักกีฬาจะถูกส่งไปโรงพยาบาลก็สายเกินไป

    ในที่สุดลูกชายคุณหมอที่เดินทางมาแข่งโดยไม่มีคุณพ่อที่เป็นแพทย์อยู่เคียงข้างด้วย มีอันต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้าในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

    หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องฝ่ายจัดการแข่งขันให้นำรถพยาบาลมาประจำข้างสนามป้องกันเหตุซ้ำรอยเหมือนลูกคุณหมอ

    ส่วนตะคริวก็มีอาการไม่แตกต่างกันครับ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงแดดจัดๆ หากใครที่ฟิตไม่พอหรือร่างกายขาดน้ำก็มีสิทธิ์โดนตะคริวเล่นงานเอาง่ายๆ

    ลูกชายผมก็เคยเจอครับ ส่วนใหญ่หากเป็นตะคริวผมก็จะไม่ให้ลูกชายฝืนเล่นครับ ถึงแม้อาการไม่รุนแรงมาก แต่ก็เสี่ยงที่จะมีผลข้างเคียงหากเราเล่นในสภาพที่ร่างกายบอบช้ำ ดีไม่ดีอาจเจ็บหนักต้องพักฟื้นกันนาน

    มีตัวอย่างของนักกีฬาซึ่งเป็นลูกคุณหมอที่เชียงใหม่อีกเช่นกัน เป็นรุ่นพี่ลูกชายผม 1 ปี เป็นนักหวดอนาคตไกลคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ แต่มีปัญหาเป็นตะคริวบ่อยและเกิดขึ้นทั้งตัว ร่างกายเกร็งไปหมด ต้องพาไปโรงพยาบาลอยู่หลายรอบ

    ขณะแข่งขันนำอยู่ดีๆ จู่ๆตะคริวมาจับดื้อๆ ต้องพ่ายสังขารตัวเอง ต้องแขวนแร็กเก็ตไปเลย และหันไปตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว

    เหตุผลก็คือพ่อแม่มีลูกคนเดียวไม่อยากเสี่ยงอีกต่อไป ทั้งๆที่เด็กยังอยากเล่นเทนนิสต่อและมุ่งมั่นสู่เส้นทางอาชีพ

    อาการฮีทสโตรกและตะคริวเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสนามแข่งที่คาดไม่ถึง แต่ทั้งสองกรณีสามารถเรียนรู้และป้องกันได้

    จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าส่ิงสำคัญของการป้องกันตะคริวและลมแดดก็คือต้องทำให้ร่ายกายมีน้ำเพียงพอ เพราะต้นเหตุการเป็นตะคริวและฮีทสโตรกเกิดจากภาวะร่างกายขาดน้ำ

    ดังนั้นไม่ว่าจะซ้อมหรือแข่ง หากวันไหนที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ ส่ิงแรกที่ต้องทำก็คือต้องดื่มน้ำมากกว่าปกติเพี่อชดเชยให้ร่างกายสะสมน้ำเพียงพอต่อการสูญเสีย แล้วอาการเป็นตะคริวกับลมแดดจะไม่ย่างกรายมาหาเราอีก หรือถ้าเป็นก็จะไม่รุนแรงจนเสี่ยงเกิดอันตรายถึงชีวิต


    เดอะวินเนอร์

    ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

     

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments