Thursday, November 21, 2024
More

    เส้นใต้บรรทัด

    ชายผู้สิ้นหวังถังแตกวัยกลางคน ผู้ค้นพบว่าชีวิตได้กระหน่ำตนอย่างเหี้ยมโหดจนไม่ปรารถนาจะมีลมหายใจอยู่ในโลกอันแสนทารุณนี้อีกต่อไป สองชั่วโมงครึ่งหรือกว่านั้นผ่านไป ข้าพเจ้าเขียนข่าวได้ประมาณสี่ห้าหน้ากระดาษพิมพ์ และพอเที่ยงตรงบรรณาธิการข่าวลุกจากโต๊ะทำงานจะออกไปรับประทานอาหารกลางวัน เขาเดินมาหยุดยืนข้างโต๊ะข้าพเจ้าพร้อมกับก้มอ่านข้อความบนกระดาษพิมพ์…

    ข้อความหนึ่งที่มีขีดเส้นใต้บรรทัดด้วยดินสอซีดจางของหนังสืออ่านขนาดพ็อกเกตบุ๊ค พิมพ์บนกระดาษปรู๊ฟที่สีเหลืองอมน้ำตาลแสดงถึงวัยวานการเดินทางของหนังสือเล่มนี้นานไม่น้อยเลยทีเดียว

    พลิกหน้าในรองปก ระบุพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2523

    เป็นงานเขียนของนักประพันธ์ชาวอเมริกันนาม เออร์สกิน คอลด์เวลล์ชื่อเรื่องว่า คอลล์ อิท เอ็กซ์พีเรียนซ์ (Call It Experience) ชื่อไทยว่า ถนนนักเขียน แปลโดย สิทธิชัย ธาดานิติ

    ข้าพเจ้าค่อยบรรจงพลิกอ่านไปอย่างช้าๆ ทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเกรงว่าจะทำให้แผ่นกระดาษที่กรอบเก่าคร่ำคร่าอายุสี่สิบกว่าปีจะขาดวิ่นไปเสียก่อน ต้องพยายามทะนุถนอมราวกับทารกในอ้อมแขนหญิงชราหนังเหี่ยวย่นก็ไม่ปาน มีบ้างบางส่วนของสันหนังสือที่แตกลอกร่อน แยกเป็นสองส่วน ข้าพเจ้าต้องใช้เทปกาวใสมาปิดหุ้มสันปกให้ติดกันแทนไปก่อน

    พบหนังสือเล่มนี้ของนักประพันธ์ผู้สิ้นอายุขัยไปเมื่อปี 2530จากชั้นหนังสือเปื้อนฝุ่นหนาขณะทำความสะอาดในรอบหลายปีชื่อเรื่องบ่งบอกถึงเนื้อหาหลักที่เขาประพันธ์อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ที่มีความหมายว่า เรียกมันว่าประสบการณ์

    เป็นการนำประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดในช่วงหนึ่งมานำเสนอสู่ผู้อ่านและผู้สนใจใฝ่รู้เรื่องการทำงานในฐานะนักเขียนนักประพันธ์คนหนึ่งของโลกวรรณกรรมในศตวรรษที่ยี่สิบ ที่มีผลงานนิยาย25 เล่ม เรื่องสั้น 150 เรื่อง ตลอดจนสารคดี อัตตชีวประวัติ หนังสืออ่านสำหรับเยาวชน อีกหลากหลาย

    ผลงานที่ถื่อว่าได้รับการยกย่องมากๆ ของเออร์สกิน คอลด์เวลล์ คือนวนิยายเรื่อง ทูแบคโค โรด (Tobacco Road) ถูกดัดแปลงเป็นบทละครและภาพยนตร์ ในปี ค.ศ.1932 เรื่องสั้นชุด วีอาร์ เดอะ ลิฟวิ่ง(We Are the Living(1933) นวนิยายเรื่อง เจอร์นีย์แมน (Journeyman-1935) และอีกมากมาย

    จนถึงอัตตประวัติ วิธออล มาย ไมท์ (With All My Might-1987) อันเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของนักประพันธ์ท่านนี้

    มันมีคุณค่าไม่น้อยเลยสำหรับผู้รักฝักใฝ่ในวิถีการร้อยเรียงตัวอักษรสะท้อนความในใจความใฝ่ฝันอยากจะสร้างสิ่งมีชีวิตในจินตนาการให้โลดแล่นได้ตามใจปรารถนา หรืออยากจะนำเสนองานที่ตนเองอยากอ่านมาก ๆ แต่ไม่สามารถหาเจอบนแผงหนังสือหรือชั้นวางในห้องสมุด และนับวันยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากในการที่จะสนองตัณหาตัวเอง  จึงคิดอยากเขียนอย่างที่อยากอ่าน

    เพราะการเขียนคือสิ่งที่เหนือจินตนาการทั้งปวง ท่านต้องการเสพเรื่องราวนิยายแบบไหนก็เขียนไปตามใจของท่านได้เลย ไม่ว่าจะถูกใจถูกรสนิยมใครหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องกังวล การเขียนการประพันธ์เป็นจักรวาลที่ไร้ขอบเขตพรมแดน ไม่มีกรอบมีกรงจำกัด ไม่มีคำจำกัดความ กฎระเบียบกลวิธีให้ยึดมั่นเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นเท่านั้นเอง

    สิ่งที่ข้าพเจ้าพบในหนังสือเล่มนี้ นอกจากเนื้อหาที่ผํู้ประพันธ์เขียนบอกเล่าราวกับเข้าไปอยู่ในสถานการณ์วิถีชีวิตของผู้ประพันธ์ได้เองแล้วนั้น ยังมีวิธีการนำเสนอให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อหน่าย เหมือนฟังเพลงที่มีท่วงทำนองสูงต่ำลีลาช้าผสานเร็วเร่งเร้าสนุกสนานไปด้วยกัน

    แต่ที่เหนืออื่นใด จากเส้นดินสอที่คงใช้ไม้บรรทัดหรือวัตถุที่ทาบบนหน้ากระดาษให้ขีดเส้นตรงใต้บรรทัดตัวอักษรนั้น ทำให้น่าสนใจกว่า

    เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นแน่นอนว่าเกิดจากฝีมือของชายเชื่้อสายจีนผู้หนึ่งที่อพยพมาสู่แดนสยาม ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาไทยแม้แต่น้อยไม่เคยผ่านสถานศึกษาภาษาไทยมาก่อน แต่ก็ฝึกปรือจากประสบการณ์ฝึกฝนจากคนรอบตัว จนสามารถฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้

    ใช่แล้วชาวจีนที่ระบุถึงท่านนี้คือ บิดาของข้าพเจ้าเอง

    แต่ละย่อหน้า แต่ละประโยค แต่ละวรรคตอน อักษร คำ ที่ถูกขีดเส้นใต้นั้นคือการฝึกฝนทักษะภาษาไทยของท่านด้วยตัวเอง ค่อย ๆ อ่านสะกดคำ ซักถาม สนทนาตอบโต้ บันทึกจดจำ ทีละเล็กทีละน้อยอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใดก็ตามขอเพียงแค่อย่าหยุดยั้งเท่านั้น

    เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาบอกว่าสำเร็จแล้ว

    ความรู้คือความไม่รู้ คงเปรียบให้เห็นชัดง่าย ๆ อย่างนี้ดอกกระมัง

    ข้าพเจ้ายอมรับว่า ถนนหนังสือสวนอักษรย่อมมีวันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย คนรุ่นใหม่เกิดมาทีหลัง เมื่อกลายเป็นคนส่วนใหญ่หรือมวลชนของประเทศ ย่อมจะต้องสร้างค่านิยมสร้างวัฒนธรรม สร้างตัวตนเองของคนรุ่นหนึ่งเป็นของธรรมดา

    จะเห็นได้ว่าผ่านไปแต่ละปี มักจะพบคำศัพท์หรือวลีที่คนรุ่นใหม่สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกันเองระหว่างคนรุ่นเดียวกัน เป็นที่เข้าใจความหมายกันเองมากขึ้นทุกวัน

    จนบางทีเมื่อเผลอแอบได้ยินการสนทนาของพวกเขา ข้าพเจ้ากลายเป็นคนต่างด้าวไปเสียแล้วเนื่องจากฟังไม่รู้เรื่อง ตามไม่ทันคนรุ่นใหม่ หากอยากรู้ต้องเรียนภาษาวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ นั้นแสดงให้เห็นว่า ความรู้คือความไม่รู้ ต้องเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเองใช้่หรือไม่

    หากบิดาของข้าพเจ้ายังมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน เชื่ออีกแน่นอนว่าท่านจะต้องขีดเส้นใต้บนคำศัพท์หรือคำวลีของคนรุ่นใหม่อีกเป็นแน่แทร่(แท้)

    ข้าพเจ้าจึงต้องยกย่องว่าการเป็นนักอ่านก็เป็นบุคคลที่มีความอุตสาหะวิริยะพากเพียรมากพอสมควรทีเดียว แม้จะไม่เทียบเท่านักประพันธ์หรือนักเขียนก็ตาม

    ยิ่งการได้เห็นร่องรอยขีดเส้นใต้ในหนังสือเกือบทุกหน้าของพ็อกเกตบุ๊คเล่นนั้นแล้ว คงไม่ต้องบอกว่าต้องใช้ความพยายามมากเพียงใดที่จะทำความเข้าใจแปลความหมายในงานประพันธ์ชิ้นหนึ่ง ๆ ให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของผู้เขียนได้

    เดชา ภู่พิชิต

    30/6/2567

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments