Wednesday, April 24, 2024
More
    Homeคนข่าวมีรางวัลแพรว นักข่าวสาวมติชน ประจำตร.

    แพรว นักข่าวสาวมติชน ประจำตร.

     “แพรว” นักข่าวสาวมือรางวัลแห่งตระเวนข่าวนครบาล

    แม้ว่าวงการสื่อสารมวลชนในยุคนี้จะไม่ถือว่าเฟื่องฟูเท่ากับเมื่อสิบปีก่อน แต่ก็ยังมีหนุ่มสาวที่แบกความฝันและอุดมการณ์

    อยากเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนอยู่อีกมาก ถึงรู้ว่าวงการข่าวอาจไม่ใช่เส้นทางที่ทำรายได้ให้กับพวกเขาเหล่านั้นเท่ากับอาชีพอื่น

    “แพรว” น.ส.พนิตนาฏ  พรหมบังเกิด อายุ 27 ปี

    เป็นอีกสาวในวงการข่าวอาชญากรรมมาเกือบ 5 ปี แล้ว ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับเธอถึงเรื่องราวชีวิตและการเปลี่ยนแปลงในวงการข่าว

    แพรว เธอเป็นสาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรียนจบเกียรตินิยมอันดับ 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์

    เธอบอกว่าในช่วงเรียนได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัท อาร์เอส จำกัด มหาชน ในฝ่ายของนักประชาสัมพันธ์องค์ด้านงาน CSR

    มีหน้าที่ดูแลศิลปิน และประสานงานกับสื่อมวลชนทุกสำนักในมาร่วมทำข่าว 

    นอกจากนี้ยังได้เข้าไปฝึกงานกับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งงานสื่อมวลชนสัมพันธ์ พร้อมฝึกเขียนข่าว สัมภาษณ์ดาราเป็นจำนวนมาก

    การฝึกงานทั้งสองที่ทำให้เธอซึมซับบรรยากาศการเป็นนักข่าว

    หลังจากเรียนจบเธอตัดสินใจสมัครเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในสังกัดมติชน ด้วยความอยากเป็นนักข่าวสายบันเทิง เนื่องจากมีประสบการณ์ในฝึกงานมาทั้งหมดล้วนทำงานเกี่ยวกับด้านการบันเทิงมาตลอด

    แต่สุดท้ายเธอได้มาลงที่โต๊ะข่าวอาชญากรรม ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของเธอในเวลาต่อมา

    “ความคิดแรกเมื่อต้องมาอยู่สายอาชญากรรม คิดว่า ต้องเจอข่าวน่ากลัว เจอศพ เลือด ถึงกับเครียดอยู่เหมือนกันในช่วงแรกยอมรับว่ามีท้อ เนื่องด้วยต้องเรียนรู้เรื่องยศตำแหน่ง ของตำรวจ

    เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ท้อจนเคยร้องไห้ นึกอยู่ในใจว่าทำไมนักข่าวอาชญากรรมมันไม่ง่ายเลย แต่ก็ตั้งใจสุดความสามารถมาตลอด”

    แพรวเล่าถึงความรู้สึกในช่วงแรกของการทำงาน

    ข่าวแรกในชีวิต

    “แพรว” บอกว่า ครั้งแรกเมื่อเข้ามาเป็นนักข่าวอาชญากรรม ได้ลงเป็นนักข่าวตระเวน ตามโรงพัก

    ข่าวแรกที่เจอเป็นเหตุรถบรรทุกชนกับรถจักรยานยนต์ทำให้คนขับรถจยย.เสียชีวิตในสภาพศพที่เละ เลือดเต็มถนน

    ต้องรวบรวมสติให้อยู่ เพื่อที่จะเก็บข้อมูลให้ครบ และเขียนข่าวให้ได้ หลังจากผ่านศพแรกแล้ว ก็ได้ทำคดีอื่นๆ อีกมาก

    ตลอดเวลา 4 ปี ได้เข้าไปทำข่าวคดีอาชญากรรมก็ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่าหั่นศพ ลอบวางระเบิดกลางเมืองกรุงเทพ คดีที่ต้องใช้ความสามารถในการเข้าหาแหล่งข่าว

    การสร้างแหล่งข่าว

    “แพรว” ยังเล่าถึงวิธีการสร้างแหล่งข่าว ว่า เราเองต้องเข้าหาตำรวจให้มาก ไปแนะนำตัว ทำความรู้จัก ให้ตำรวจจำชื่อเราได้

    เช่น หาโทรศัพท์ไปถามข้อมูลข่าวกับตำรวจก็ต้องพยามบอกชื่อเราเอง เพื่อให้เขาจำได้ว่าเราชื่ออะไร อยู่ที่ไหน

    นอกจากติดต่อทางโทรศัพท์แล้วยังต้องไปหาแหล่งข่าวคนนั้นอีกด้วย เพื่อให้เขาเห็นหน้าค่าตา และพูดคุยเพิ่มความสัมพันธ์ให้สนิทใจกันมากขึ้น

    หากเราสนิทกับแหล่งข่าวแล้วความจำเป็นที่เราต้องมีอีกอย่างของการเป็นนักข่าวที่ดีคือต้องมีความรู้รอบตัว การหัดตั้งคำถามที่ฉลาด อีกด้วย

    ฝึกตั้งประเด็น

    น.ส.พนิตนาฏ ยังพูดถึงการหัดคิดประเด็น ว่า การเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ว่ายุคสมัยไหนคำว่า “เจอกันบนแผง” ยังคงใช้ได้ทุกเวลา เราจึงต้องหัดคิดแตกประเด็น เก็บประเด็น ที่จะเอาไว้เล่น

    โชคดีที่มีพี่ๆ ให้ความช่วยเหลือ จนสามารถเดินด้วยขาตนเองได้ แต่อย่างไรก็ดียังคิดอยู่เสมอว่าตัวเองคือน้องๆ ของพี่ อยู่เสมอ

    ประสบการณ์ใหม่ย้ายประจำกรมตำรวจ

    “แพรว” สาวใต้เมืองนราธิวาสยังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบ ว่า จากการเป็นนักข่าวตระเวนต้องกลายมาเป็นนักข่าวประจำนั้น ต้องใช้การปรับตัวอยู่ไม่น้อย

    เพราะการพบปะแหล่งข่าวนั้นนักข่าวตระเวนสามารถสร้างได้ง่ายกว่า แต่นักข่าวประจำนั้นเจอแหล่งข่าวได้ยาก เพราะตำรวจแต่ละคนนั้นยศตำแหน่งที่สูง การเข้าถึงตัวยากกว่า

    ทั้งนี้ต้องทำการบ้านเรื่องที่จะไปสัมภาษณ์มากขึ้นเพื่อให้คำถามเหมาะกับแหล่งข่าวที่เราจะไปพบ

    การเป็นนักข่าวผู้หญิงในวงการอาชญากรรม และรางวัลข่าว

    “หลายคนมองว่าการเป็นนักข่าวผู้หญิงอาจไม่สู้งาน อ่อนแอ แพรวอยากบอกว่าอย่าเอาเพศสภาพมาวัด เพราะตัวเราเองสู้งาน ตากแดด ตากฝน และพยายามค่อยเช็คข่าวอยู่เสมอ

    เพื่อจะพิสูจน์ว่านักข่าวหญิงอาชญากรรมนั้นเป็นหญิงแกร่ง และแสดงศักยภาพให้คนอื่นเห็นและยอมรับในตัวเรา

    นอกจากนี้ยังพยายามส่งผลงานเข้าประกวดในหลาย ๆ ครั้งที่มีโอกาส จนได้รางวัลมาในปี 2559

    ได้รางวัลชมเชยประกวดถ่ายภาพ จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย 

    ในปี 2561 ได้รางวัลประเภทข่าวสืบสวนสอบสวน รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ข่าวทลายแอพฯลามก ของกองบรรณาธิการ มติชนออนไลน์ จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย” “แพรว” น.ส.พนิตนาฏ กล่าว

    มองอนาคตนักหนังสือพิมพ์

    พนิตนาฏ บอกด้วยว่า สื่อหนังสือพิมพ์วันหนึ่งอาจจะหายไป แต่วันนี้หนังสือพิมพ์ยังอยู่ยังไม่ตาย เราต้องพัฒนาในเรื่องของข่าว ให้ต่อสู้กับโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล

    หนังสือพิมพ์ต้องมีประเด็นที่แตกต่างกว่าสื่อออนไลน์ ต้องลึกว่า และมีคุณภาพกว่า ถึงจะดึงผู้อ่านกลับมาได้

    ปรับตัวให้เข้ากับโลกออนไลน์

    เราไม่อาจปฏิเสธสื่อออนไลน์ได้เลย ทุกวันนี้ต้องทำข่าวป้อนให้ออนไลน์ก่อนเป็นอันดับแรก จึงต้องมีการปรับตัว

    เริ่มจากติดตามข่าวสารที่กำลังเป็นที่สนใจบนออนไลน์ นำมาศึกษา หาข้อมูล เพื่อจะต่อยอด ทำเป็นข่าวในแง่มุมต่าง ๆ เอามาสามารถในด้านหนังสือพิมพ์มาปรับเปลี่ยนใช้ในงานออนไลน์

    ทำไมถึงยังอยู่ในเส้นทางนักข่าว

    “แพรว” บอกว่า มีหลายคนถามว่าทำไมถึงยังทำอาชีพนักข่าว เพราะเงินเดือนในวงการนี้ไม่ได้สูง ทั้งที่มีโอกาสเปลี่ยนสายงาน

    ตอนแรกที่เข้ามาเป็นนักข่าวในใจไม่ได้คิดในส่วนของรายได้ เอาตามความชอบ เพราะนักข่าวเป็นอาชีพที่มีความท้าทาย ยิ่งอยู่นานยิ่งมีความสุข

    “อยากจะฝากถึงน้องๆที่จะเข้ามาทำงานเป็นนักข่าว ว่า อันดับแรกต้องมีใจรักในอาชีพนี้จริง ๆ

    ต่อมาคือการพัฒนาตนเอง วงการนี้ยังไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองก่อน สร้างความรู้รอบตัวให้มาก

    แต่สุดท้ายใครไม่มาเป็นนักข่าวไม่รู้หรอกว่าสนุก อยากให้ลองเข้ามาเป็นนักข่าว”

    เขียนไข22/7/62

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments