ตำนานมือปราบพระกาฬ ชลอ เกิดเทศ โดยกิตติพงศ์ นโรปการณ์
หลังข่าว “เสี่ยหยอง”เจ้าพ่อชัยบาดาล หนีคดีอาญาในเมืองไทยกลับปากีสถาน
ชลอยังไม่เลิกคำสั่งถอนรากถอนโคนแขกปาทานไบคาน ซ้ำกลับพาลูกน้องตะลุยจับสมุนไบคานที่เหลืออย่างไม่ลดราวาศอก
“เอาน่า ….คดีไอ้หยอง นี่อายุความมัน 20 ปี เข้าเมืองไทยมาเมื่อไหร่ ผมจับทันที…”
ชลอบอกกับนักข่าวที่พากันยกขบวนมาถึงกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี เพื่อสอบถามความคืบหน้า และการดำเนินการในส่วนของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หลังรู้ว่า เสี่ยหยอง หนีอาญากฎหมายไทยกลับบ้านพ่อที่ปากีสถานไปแล้ว
ไม่ใช่เคราะห์กรรมแค่ หลาน้อย-ธงชัย พงษ์ว่าง และ เสี่ยหยอง-สมชาย พงษ์สว่าง 2 ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของมาเฟียปากีสถานที่ถูกหมายหัวจากทางการไทยแล้ว
แม้แต่ ไบคาน เอง ยังไม่วายพบกับชะตากรรมที่ถูกรุมเร้าครั้งนี้
อันเป็นผลจากข่าวที่ออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ ในการกระทำย่ำยีคนไทยในจังหวัดลพบุรี และใกล้เคียง ทำให้คนไทยทั่วประเทศที่ติดตามข่าวสาร เร่งรุกเร้าเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ทำหนังสือสรุปความเห็นไปยังพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้เนรเทศ ไบคาน ออกจากประเทศไทย
ให้เหตุผลว่า นายไบคาน พงษ์สว่าง นั้นเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ พลตำรวจตรีรุจน์ กาญจราชน์ เคยทำเรื่องเนรเทศแต่เรื่องไปถูกดองอยู่ที่ไหนสักแห่ง
นอกจากนี้ ยังมีบรรดานักการเมืองในจังหวัดลพบุรี ผสมโรงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่องทางต่างๆ ร่วมถล่มไบคาน ในการอัปเปหิให้พ้นจากประเทศไทย เพราะจะเป็นผลดีต่อคะแนนเสียงที่มีในพื้นที่
โดยเฉพาะความเห็นเกี่ยวกับการทำเรื่องยึดที่ดินป่าสงวนที่นายไบคานเข้า ยึดถือครอบครองหลายพันไร่ให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ตามที่นายไบคานเรียกร้อง 65 ล้านบาท
รวมทั้งไม่ต้องทำตามข้อประนีประนอมของนายโชดก วีรธรรม พูลสวัสดิ์ ผู้ว่าราขการจังหวัดลพบุรี ที่ต้องการให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับนายไบคาน 20 ล้านบาทฟรีๆด้วย
อย่างไรก็ตาม ชลอทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจเมืองละโว้ ไปจนกระทั่งถึงวันที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2523
กรมตำรวจ มีคำสั่งให้พันตำรวจเอกชลอ พ้นจากหัวหน้าตำรวจเมืองละโว้ และให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ตำแหน่งหัวหน้าตำรวจจังหวัดลพบุรีคนใหม่คือ พันตำรวจเอกอนันต์ ดีประเสริฐวิทย์
ลึกๆชลอก็โอเคกับตำแหน่งใหม่ที่ว่า เพราะนอกจากจะเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการ หรือเป็นพันตำรวจเอกพิเศษแล้ว
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยังเป็นหน่วยงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรมตำรวจ มีภารกิจเหมือนตำรวจนครบาล-ภูธร แต่เพิ่มงานเฉพาะทาง และความผิดตามกฎหมายที่สลับซับซ้อน เป็นเครือข่าย ขบวนการที่มีเอกสารและบุคคลเกี่ยวข้องมากมาย มีพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือตำรวจท้องที่ ทั้งยังถูกตั้งความหวังถึงผลสำเร็จ
ในฐานะเป็นที่พึ่งสุดท้าย
นายตำรวจหลายนายล้วนใฝ่ฝันอยากเข้ามารับราชการในกองบัญชาการแห่งนี้ โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญๆในกองบังคับการต่างๆที่อยู่ในสังกัด
เพราะอำนาจความรับผิดชอบที่มากมายนั้น มีผลประโยชน์มหาศาลซุกซ่อนอยู่โดยเฉพาะที่กองปราบปราม
สำหรับหน่วยงานระดับกองบังคับการที่อยู่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวน กลาง มีทั้งหมด 10 กอง คือ กองตำรวจสันติบาล กองปราบปราม กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองพิสูจน์หลักฐาน กองทะเบียน กองตำรวจน้ำ กองตำรวจรถไฟ กองตำรวจป่าไม้ กองตำรวจทางหลวง และกองบังคับการอำนวยการ ที่เขาเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง
สำหรับชลอ ในการเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ ชลอคิดว่าผู้บังคับบัญชาในกรมตำรวจ คงอยากจะให้เขาได้พักผ่อน และอยากให้เป็นอะไรที่มาปลอบขวัญ และให้กำลังใจเขา หลังสูญเสียกุ้ง-ชอบรบ ลูกชายคนโตไปอย่างไม่มีวันกลับ
หน้าที่ใหม่ของชลอ จากจับปืนเปลี่ยนมาเป็นนั่งโต๊ะจับปากกาแทน เพราะหน้าที่ของเขาคือการเซ็นพาสปอร์ต
ถึงแม้จะขัดๆกับบุคลิก แต่ชลอ ก็ไม่ว่าอะไร อย่างน้อยก็เป็นรองผู้บังคับการแล้ว
ชลอหอบครอบครัว โดยมี ใหญ่-สุรางค์ พลทรัพย์ แม่บ้านจากเมืองลพบุรี เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่ที่บ้านในหมู่บ้านปัฏฐวิกรณ์ ย่านคลองจั่น บางกะปิ เพื่อคอยดูแลลูกชาย และลูกสาวที่เหลืออยู่ 2 คน คือ ปู -ชนม์ยืน และปลา -กุมาริกา
สำหรับปู-ชนม์ยืน หลังกุ้ง – ชอบรบ ลูกชายคนโต เสียชีวิต ชลอ เหลือลูกชายสืบทายาทเพียงคนเดียว ใจเขาไม่อยากให้ลูกชายคนนี้รับราชการตำรวจ เพราะเกรงว่าชีวิตจะตกอยู่ในอันตรายเหมือนกับเขา กับ กุ้ง-ชอบรบ และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอยอีกครั้ง
แต่ในใจเขายังคิดหาหนทางชำระแค้นไอ้หยอง เจ้าพ่อชัยบาดาล ศัตรูคู่แค้นเขาอย่างไม่เลิกรา
————-
ทำงานไม่กี่เดือน กรมตำรวจมีคำสั่งให้ พันตำรวจเอกชลอ ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ผู้คนทั่วไป เรียกกันว่า กองปราบสามยอด มีที่ตั้งอยู่ถนนวรจักร
ชายหนุ่มวัย 43 ปี ตื่นเต้นมากสำหรับตำแหน่งใหม่ของเขา เพราะกองปราบปรามนั้น เป็นหน่วยงานที่สามารถจับกุมได้ทั่วราชอาณาจักร เป็นมือเป็นไม้ให้กับกรมตำรวจ โดยเฉพาะอธิบดีกรมตำรวจทุกสมัย
เป็นหน่วยงานตำรวจจากส่วนกลางที่มีไว้ถ่วงดุล และเสริมการปฏิบัติงานของตำรวจท้องที่ ในกรณีที่มีเหตุเกินความสามารถของตำรวจท้องที่
ถึงวันเข้าไปรายงานตัวกับผู้บังคับการกองปราบปราม พลตำรวจตรีสงวน คล่องใจ ภายในห้องทำงานชั้น 2
ชลอในเครื่องแบบชุดขาวถือกระบี่ยืนอยู่ต่อหน้าชายรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว เหมือนคนจีน ที่อยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแลคสีดำ ดูเท่สมวัย
“ตามสบายๆ ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้วเดี๋ยวผมจะให้คุณดูแลรับผิดชอบงานปราบปรามทางภาคเหนือ งานถนัดของคุณ”
พลตำรวจตรีสงวน บอกกับนายตำรวจ รองผู้บังคับการกองปราบฯคนใหม่
“ส่วนภาคใต้ ผมมอบหมายให้ รองหล้าง รับผิดชอบดูแลแล้ว”
ชลอ จำได้ รองหล้าง ที่ผู้การกองปราบปรามบอก คือพันตำรวจเอกสล้าง บุนนาค นายตำรวจรุ่นพี่ นักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 14 นายตำรวจคนดังที่ถูกกล่าวขานในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 สมัยเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ที่ได้รับคำสั่งนำกำลังตำรวจไปรักษาคามสงบเรียบร้อยหน้ามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“ห้องเหิ้ง..ได้เรียบร้อยแล้วนะ…..”
“ครับพี่”
ชลอได้ห้องทำงานอยู่บนชั้น 3 ริมบันได โดยมีรหัสเรียกขานทางวิทยุเครือข่ายสามยอด คือ ปก.26
ส่วนตำรวจที่ประจำอยู่ในห้องก็มี ผู้กองเบี้ยว-ร้อยตำรวจเอกพิภพ เบี้ยวไข่มุก ผู้กองครก-ร้อยตำรวจเอกเจตนากร นภีตะภัฎ 2 นายตำรวจ รองสารวัตรจาก คอมมานโด แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม
ร้อยตำรวจโททองดำ ลาภิกานนท์ จ่าตั๋น-จ่าสิบตำรวจทนงศักดิ์ แจ่มแจ้ง ผู้บังคับหมู่ แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม จ่ายะ-จ.ส.ต.วิริยะ คุ้มรัตน์ ผู้บังคับหมู่แผนก 2 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม
นายตำรวจนักบู๊ ใช้เวลาศึกษาไม่นานนัก ก็รู้ว่าที่ทำงานใหม่ในกองปราบปราม มี 8 กองกำกับการ แบ่งกันดูแลรับผิดขอบดูแลในแต่ละพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สืบสวนสอบสวนการกระทำผิดที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง อาวุธสงคราม และความผิดอันเกี่ยวกับความไม่สงบที่เกิดกับประชาชน โดยจะมีเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละกองกำกับการ
อย่างเช่น กองกำกับการ 1 รับผิดชอบพื้นที่เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร
กองกำกับการ 3 ดูแลภาคกลางยันไปถึงภาคเหนือ
กองกำกับการ 4 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด
กองกำกับการ 5 ดูแลพื้นที่ภาคตะวันตกจนไปถึงภาคใต้ทั้งหมด
กองกำกับการ 6 รับผิดชอบทำคดีเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบในวงราชการ
กองกำกับการ 7 รับผิดชอบปราบปรามคดียาเสพติด
กองกำกับการอำนวยการ มีหน้าที่ และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานธุรการ กำลังพล งานการเงิน งานประชาสัมพันธ์
ส่วนกองกำกับการ 2 เป็นกองกำกับการที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ นายตำรวจที่มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ 2 กองปราบฯ ไม่ใช่เป็นนายตำรวจธรรมดา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนของอธิบดีกรมตำรวจโดยตรง
เพราะแต่ละแผนกจะเป็นแผนกที่มีความสำคัญทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่แผนก 1 จะเป็นแผนกที่ดูแลสถานีวิทยุกระจายเสียงสามยอด มีที่ตั้งอยู่ทั้งกรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต
แผนก 2 เป็นแผนกรวบรวมทะเบียนประวัติอาชญากร
แผนก 3 เป็นแผนกรถวิทยุ มีล้อหมุนวิ่งได้ทั่วประเทศ
แผนก 4 เป็นแผนกรับเรื่องราวร้องทุกข์ และ แผนก 5 เป็นหน่วยกำลัง เรียกว่าคอมมานโด
ผู้ที่นำกำลังคอมมานโดออกจากที่ตั้ง มีได้แค่ 3 นาย คือ อธิบดีกรมตำรวจ ผู้บังคับการกองปราบปราม และผู้กำกับการ 2 กองปราบปรามเท่านั้น
สำหรับผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ในขณะที่ชลอย้ายมา คือ พันตำรวจเอกไกรสิงห์ พิมลศรี นายตำรวจคนสนิทพลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ
นายตำรวจคนดังอีกคนนั่นคือร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม หรือที่เรียกกันว่า สารวัตรประเทศไทย อำนาจหน้าที่ใหญ่คับฟ้ามาก
ชลอรู้จักนายตำรวจคนนี้ดี เพราะห้วงเวลาที่ผ่านมา ชะตาบ้านเมืองอยู่ในมือทหาร
ก่อนหน้านี้ กรมตำรวจในสมัย “อัศวินผยอง” พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เขาเป็นมือขวาจอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของสโลแกน “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”
ยุคพลตำรวจเอกเผ่า กรมตำรวจเข้มแข็งมาก มีอาวุธยุทโธปกรณ์เกือบจะเทียบเท่ากองทัพ ก่อนจะถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเมื่อปีพุทธศักราช 2500 และให้บุคคลทั้งคู่ออกนอกประเทศ
กรมตำรวจจึงถูกจับตา และอยู่ใต้เงาท็อปบูทมาตั้งแต่นั้น
หลังจากพลตำรวจเอกเผ่าถูกขับออกนอกประเทศ มีอธิบดีกรมตำรวจที่มาจากทหารหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พลตำรวจเอกไสว ไสวแสนยากร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของคำพูดที่ว่า
“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ และข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ จอมพลประภาส จารุเสถียร พลตำรวจเอกประจวบ สุนทรางกูร
ไม่ใช่แค่ระดับนายทหารสัญญาบัตร นายทหารชั้นประทวนคนไหน ที่ไหวแววดี จะถูกโอนมาอยู่กรมตำรวจ นัยว่าเพื่อสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวตามหน่วยต่างของกรมตำรวจด้วย
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ สิบเอกเฉลิมถูกโอนมาอยู่กองปราบปราม สังกัด แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม หรือคอมมานโด
เฉลิมไต่เต้าสอบจนได้เป็นนายร้อย กระทั่งก้าวหน้าเป็น สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม มีผลงานเป็นข่าวอยู่ได้ตลอด ล่าสุดก็เพิ่งจับทองคำเถื่อนในเยาวราช
ชลออยู่กองปราบฯยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กลางดึกวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2524 ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เดินเข้ามาหาชลอในห้องทำงาน พูดเบาเหมือนกระซิบกลัวคนจะได้ยิน
แต่ชลอได้ยินถนัดชัดเจนทุกคำพูด
“นาย… เอากับผมมั้ย เขาจะยึดอำนาจกันเช้าพรุ่งนี้”