โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน
ฮั่นแหน่ ขึ้นมาแบบนี้ แน่นอนว่า “กุหลาบโล่เงิน” ต้องเกี่ยวข้องกับโรงเรียน ครู เด็ก ๆ แน่นอน
ไม่เสียเวลามากความหลายบรรทัดขอต้อนรับ กับ สิบตำรวจเอกหญิง รุ่งฤดี เลายี่ปา ตำแหน่ง ครู(ปท.1)กก.ตชด.33 หรือ คุณครูเอมมี่ อดีตนักเรียนตชด. ที่มีความมุ่งมั่นอยากพัฒนาศักยภาพเด็กตามขอบชายแดน
หลายคนคงทราบบ้างแล้วว่า โรงเรียนตชด. หรือ เรียกเต็ม ๆ ว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างโรงเรียน มีอาคารเรียนถาวร สื่ออุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ เพื่อมอบโอกาสให้แก่เด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าถึงการศึกษา ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ขยายโอกาสครอบคลุมแก่เด็กในทุกพื้นที่
จุดเริ่มต้นของครูเอมมี่ เริ่มจากวันนั้น วันที่เด็กน้อยชาวลีซูนั่งเรียนอยู่ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ1 บ้านสามหมื่น ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ แล้วพบคุณครูในชุดตชด.หรือชุดฟาติก ดูแปลกตาไม่เหมือนยูนิฟอร์มครูอื่น ๆ
ความใฝ่ฝันก็เริ่มขึ้น พอเรียนจบชั้น ม.6 เอมมี่มุ่งมั่นกับการสอบเข้าบรรจุเป็นครูตชด. แม้รอบแรกจะไม่ได้ดั่งหวัง แต่ความมุ่งมั่นทำให้ฝันครูเอมมี่เป็นจริง
เมื่อได้เข้าสู่เส้นทาง “ครุทายาท” ก็ต้องเริ่มฝึกหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมความเป็นครูเป็นเวลากว่า 1 ปี 2 เดือน
ครูเอมมี่ ย้อนว่า
โรงเรียนตชด. แต่ละโรงเรียนต่างขาดแคลนทรัพยากรครู เพราะการเป็นครูตชด. ไม่ใช่ใครก็จะสมัครได้ คุณสมบัติเบื้องต้นจะต้องเป็นนักเรียนตชด. มาก่อน ดังนั้น ถ้าใจไม่รักในหน้าที่จริงคงไม่ได้มีโอกาสกลับมาเพื่อสานต่อเจตนาของโรงเรียนแน่ ๆ
ครูเอมมี่สอนอยู่คือโซนภาคเหนือ ประจำกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 รับผิดชอบอยู่ 4 สังกัด คือ กก.ตชด.31 32 33 และ 34 ครูเอมมี่อยู่สังกัด กก.ตชด. 33 มีอยู่ 33 โรงเรียน (เยอะมากกกกก) แบ่งเป็น 2 โซนคือ แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่
ที่แรกที่ได้ไปสอนคือ ศกร.ตชด.เฉลิมพระเกียรติบ้านน้ำบ่อสะเป่ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันสอนอยู่ที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ ฯ บ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ครูเอมมี่บอกว่า มีความยากลำบากหลายอย่าง แน่นอนละว่าตามชายแดนแล้วคงต้องแยกภาพโรงเรียนในเมืองที่พวกเราคุ้นเคยออก เพราะโรงเรียนตชด. จะอยู่ตามบริเวณชายแดน หรือบนพื้นที่สูง นอกจากถนนที่ขรุขระยากต่อการสัญจรแล้ว ไฟฟ้ายังไม่มีอีกด้วย
โจทย์หินที่ยากที่สุด ณ ตอนบรรจุอยู่ที่แม่ฮ่องสอนคือ ตอนนั้น เป็นเพียงครูผู้หญิงคนเดียวจากครูทั้งหมด 4 คน ที่นอกจากจะต้องต่อสู้กับการใช้ชีวิตในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังต้องพยายามทำหน้าที่การเป็นครู
ยอมรับว่า การที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรง หลายครั้งท้อ เพราะได้ทำหน้าที่สอนเด็กชั้นป.1 ซึ่งยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไหนจะการเรียนการสอนที่ยากเพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
ครูเอมมี่บอกว่า
แค่ทีวีถ้าจะนำมาเปิดสอนเด็ก ๆ เปิดแค่เครื่องเดียวเท่านั้นละก็ ไฟได้ดับทั้งโรงเรียนแน่นอน ดังนั้น ไม่ต้องนึกถึงสื่อการเรียนการสอนทางไกลเลย ที่นั่นสอนให้ครูเอมมี่ต้องต่อสู้ด้วยตนเองล้วน ๆ
ต้องขอบคุณในความใจสู้ทำให้ฮึดขึ้นมาใหม่ เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในแต่ละวัน ทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ ทั้งสังคมที่เติบโตมา ทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้ออำนวยเหมือนเด็กในเมือง
พอวันนี้ครูเอมมี่ผ่านมาจากจุดนั้นได้กว่า 5 ปี มองย้อนกลับไปในวันนี้ที่โรงเรียนมีไฟฟ้าเข้าถึง พัฒนาขึ้น ก็อดภูมิใจในตัวเองไม่ได้
ในฐานะครู เอมมี่บอกกับเราว่า
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน แน่นอนอยู่แล้วคือ การอยากได้โอกาสทางการศึกษา ถึงแม้ในโรงเรียนตชด. จะมีอุปกรณ์ เสื้อผ้าให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสักบาท และมีทุนทางการศึกษาหรือที่เรียกว่า นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ เพื่อให้เด็กๆในสังกัดได้สอบแข่งขัน
แต่ด้วยข้อจำกัดของเด็กหลายคนที่เติบโตในพื้นที่ต้องการหาเงินช่วยพ่อแม่ หลายครั้งเด็กเหล่านั้นก็ต้องยอมปล่อยมือจากการเรียนออกไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ในประเทศเดียวกันที่มีการศึกษา ที่แม้จะขยายโอกาสไปยังพื้นที่ห่างไกล
แต่ในมิติหนึ่งการขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก ก็ยังทำให้เห็นถึงความแตกต่างของสังคม
ต้องขอบคุณเหล่าคุณครูไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังมุ่งพัฒนา สร้างเครือข่ายโรงเรียนตชด. ให้เข้มแข็ง สร้างรั้วโรงเรียนให้เด็กๆ ต่างมีภูมิคุ้มกันทางการศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ สอนทักษะการใช้ชีวิต เพื่อนำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ในอนาคต
หอมปากหอมคอกันแล้วกับพาร์ทในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่ครูเอมมี่ถ่ายทอดให้เราฟังมาทั้งหมด นอกจากสร้างความประทับใจจนเห็นถึงเสน่ห์ความเป็นโรงเรียนตชด.แล้ว ครูเอมมี่ยังพัฒนาตนเองในทุกด้าน ๆ
แม้การต้องมาทำหน้าที่ครูและละการเรียนในวัยปริญญาตรีออกไป แต่ครูเอมมี่ก็ไม่ย่อท้อกลับมาศึกษาปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ใหม่ในปี62 ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในปี64
ครูเอมมี่บอกว่า การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก ทั้งงานสอน งานเอกสารที่ต้องทำควบคู่กันไป ความท้อแน่นอนล่ะว่าเพิ่มขึ้น แต่เพราะวินัยและจิตสำนึกของการเป็นครูทำให้ตนเองไม่ย่อท้อจนคว้าใบปริญญาได้ที่สุด
ครูเอมมี่ในวันนี้ กับเด็กหญิงเอมมี่ในภาพทรงจำ เรียกว่า เติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพทั้งครอบครัวที่คอยเป็นกำลังใจ ทั้งความพยายามไม่ย่อท้อกับความฝันตนเอง จนก้าวเข้ามาเป็นครูที่มีจิตวิญญาณมุ่งมั่น อยากให้เด็กที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกลได้รับโอกาสเหมือนตัวเองในวันวานนั้น
นับว่า เป็นผลผลิตที่ล้ำค่าจากโรงเรียนตชด. แม้วันแรกหนทางจะยากลำบาก ทั้งต้องจุดไฟอ่านหนังสือ ต้องอยู่อย่างยากลำบาก
ต้องปรบมือและยกให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่เยาวชนรวมไปถึงหลายๆคน ในความบากบั่นของครูเอมมี่ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ วันที่ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวให้เราผ่าน “กุหลาบโล่เงิน”
“ศุพิต พ.” บันทึก9/7/66