กองบังคับการตำรวจน้ำ เป็นหน่วยงานปิดทองหลังพระอีกหน่วยหน่ึงของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วีรกรรมล่าสุด คือการส่งหน่วยมนุษย์กบของตำรวจน้ำ ฝ่าน้ำท่วมนำน้ำมัน 4,000 ลิตร เข้าไปที่รพ.สกลนคร ได้ทันท่วงทีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หากไปช้ากว่านี้ อาจจะเกิดความสูญเสีย เพราะผู้ป่วยไอซียู ที่ต้องใช้เครื่องหายใจอยู่ในขณะนั้นอาจจะต้องเสียชีวิต เพราะเครื่องปั่นไฟไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงเดินเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับผู้ป่วยเหล่านั้น
“เด็กอยากเป็นหมอ แต่พอเรียนหนังสือ ม.5 ไปดูหนังเรื่องนายร้อยสอยดาว เลยเปลี่ยนใจไปสอบเป็นทหาร แต่พ่อกับแม่ไม่อยากให้เป็น เพราะตอนนั้นมีสงครามเย็นเลยเลี่ยงไปเลือกเหล่าเป็นตำรวจน้ำ ทั้งที่ตอนนั้นไม่รู้ว่าตำรวจน้ำคืออะไร ซึ่งจริงๆแล้วเป็นตำรวจที่ไปฝากเรียนกับนักเรียนนายเรือ เป็นตำรวจที่ใช้เรือได้ โดยเหล่านี้จะผลิตตำรวจน้ำประมาณปีละ 70 คน ..…”
ผู้การเสือ-พล.ต.ต.ธนพล ศรีโสภา รหัสเรียกขานเจ้าพระยา 1 ผู้บังคับการตำรวจน้ำคนที่ 27 เตรียมทหารรุ่น 28 นรต.รุ่น 44 รับผิดชอบดูแลเรือตำรวจน้ำ 184 ลำ 39 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ชายทะเลทั้งอ่าวไทย และอันดามัน รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง เปิดฉากเล่าคร่าวๆถึงที่มาการเป็นตำรวจน้ำตั้งแต่พ้นรั้วโรงเรียนนายเรือ จนก้าวมาถึงจุดสูงสุดของหัวหน้าหน่วยตำรวจน้ำ
เริ่มชีวิตตำรวจกับยอดมือปราบ “ จบจากนายเรือก็มาอยู่ที่นี่ เป็นผู้คุมเรือ 4 ปี ตั้งแต่ ร.ต.ต.จนถึง ร.ต.ท.แต่ตอนนั้นผมทำงานเรือจริงๆ แค่ปีเดียว ที่เหลืออยู่ชุดเฉพาะกิจของกองบังคับการ ต่อมากองบัญชาการ มอบหมายให้เป็นชุดสืบสวนผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง ก็ทำงานอยู่กองปราบ
ถือว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย ก็ลองไปทำงานดู พวกคดีขโมยรถยนต์ เป็นชุดของท่านรังสิต ญาโณทัย สมัยนั้น ตอนนั้นท่านรังสิต เป็นผู้ช่วยผบช.ก. เลยได้ไปทำงานกับพี่หาญพล นิตย์วิบูลย์ ตอนเป็นสารวัตร พี่ไชยยา รุจจนเวท จากนั้นผมมาเป็นนายเวร พล.ต.ต.นิเวศ นาคสมบูรณ์ ท่านจบโรงเรียนนายเรือมาเหมือนกัน ผมก็ได้เรียนรู้ ระบบงานจากท่าน……”
กำราบโจรสลัดด้วยการเจรจา พอนายเกษียณ ผมย้ายไปอยู่กองทะเบียน 4 เดือน แล้วไปเป็นหัวหน้าตำรวจน้ำ นราธิวาส 2 ปีกว่า แล้วย้ายมาอยู่เกาะสีชัง ตั้งศูนย์ปราบโจรกรรมที่แหลมฉบัง ของตำรวจน้ำ หลังจากนั้นย้ายไปเป็นสารวัตรตำรวจน้ำ แหลมงอบ ภารกิจคือป้องกันและปราบปรามโจรสลัดชายแดน ถ้าไปเช็คข่าวดู หลังจากปี 2545 มา ปล้นเรือแทบจะไม่มี คือปกติการทำประมงในพื้นที่ จ.ตราด ที่จะเข้ามาชายแดนมันจะต้องไปเสียค่าน้ำ คือค่าสัมปทาน แล้วทีนี้ผู้ประกอบการคนไทยบางคนก็จะขี้โกง เช่น เรือชื่อหมายเลข 1 ก็จะทำชื่อหมายเลข 1 ซ้ำกันหลายลำ ทางโน้นก็จับเรียกค่าไถ่ ผมก็ไปประสานกับท่านนายกสมาคมชาวประมง ว่าเรื่องนี้ ท่านต้องชัดเจน ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ ก็พยายามไปพูดคุย แต่เรื่องการจ่ายค่าสัมปทาน ผมไม่ยุ่งนะ ไปคุยกันเองกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า หลังจากวางระบบ คนตราดที่ทำมาหากิน หรือคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำมาหากิน ก็เข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเลย เขาก็โอเค.ทำมาหากินได้ ปัญหาโจรสลัด มันก็ไม่มี เพราะมีการพูดคุยกัน ทุกอย่างจะจบด้วยการเจรจา แล้วมันก็จะยั่งยืน
ขึ้นพ.ต.อ.ถิ่นเก่า ปักหลักจนเป็นผู้การ หลังจากนั้นถูกย้ายไปเป็น รอง ผกก.อก.บก.ภ.จว.สระแก้ว ช่วงนั้นสมัครใจลงไป ทางท่านจงรัก จุฑานนท์ ผบช.ภ.2 ขณะนั้นก็เห็นว่าไม่ควรจะอยู่อำนวยการ ให้ปรับเป็น รอง ผกก.หัวหน้าสืบจังหวัดสระแก้ว ปราบปรามผู้มีอิทธิพลในจังหวัดอยู่ 2 ปี จนผู้บัญชาการก็ปรับเปลี่ยน ถูกย้ายไปเป็น รอง ผกก.หัวหน้าสถานี แล้วก็ปรับไปเป็นสารวัตรใหญ่หนองบ่อฝ้าย โรงพักเล็กๆใกล้เมือง แล้วย้ายกลับมาอยู่ตำรวจน้ำ ไปช่วยงานคอมมานโด กองปราบ ได้ครึ่งปี ไปอยู่รถสายตรวจ สมัยนั้นพี่ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น สว. อยู่ในชุดอารักขา ก่อนกลับมาเป็น ผกก.4 ตำรวจน้ำ ที่คลองเตย คุมพื้นที่ 9 จังหวัด เขตพระราชฐาน สมัยนั้น มี 9 ที่ ตั้งแต่อยุธยา ถึงประจวบฯ ก็ทำงานด้านนี้มา 4 ปี แล้วมาขึ้นรอง ผบก.ที่นี่ 5 ปี ก่อนขึ้นเป็น ผบก.
มีภารกิจและประชาชนเป็นตัวตั้ง ตอนนี้เป็นผู้การกองเรือตำรวจ ในแนวความคิดผม มันก็คือใช้เรือได้ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องนำพาลูกทีมผม รวมทั้งอุปกรณ์ ให้ปฏิบัติงานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบ คือเราเอาภารกิจเป็นตัวตั้ง เราจะเซิร์ฟ เราใช้ภาษีของรัฐบาลที่จ่ายมาให้เรา ภารกิจเราคือทำงานภายใต้กรอบคำสั่ง ทีนี้กรอบคำสั่งก็คือ ใช้คน กับเรือตรวจการณ์ ส่วนประกอบของเรือ ก็เช่น อาวุธปืน เครื่องยนต์เรือ อะไรอย่างนี้ ภาพรวมจะมีแค่นี้ แล้วก็มีพื้นที่แอเรีย ให้เราดูแล ในทะเล ในแม่น้ำ หลักการกว้างๆ คือ ผมต้องบริหารคนกับอุปกรณ์ ให้ตอบสนองกับภารกิจ และประชาชนก็เป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว เพียงแต่งานอะไรเท่านั้นเอง เพราะงานตำรวจ มันคืองานควบคุมอาชญากรรม หรือลดอาชญากรรม แต่ตำรวจน้ำ เป็นหน่วยพิเศษ ที่จะต้องดูเรื่องความมั่นคง เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทรัพยากรเราทั้งนั้น นี่คืองานแฝง
มีพระราชนิพนธ์ ร.6 เป็นแนวปฏิบัติ ผู้การเสือ ผู้การตำรวจน้ำบอกอีก” ผมยึดพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เมื่อก่อนจะติดอยู่หน้าทางเข้าห้องผู้บังคับการตำรวจน้ำ พระองค์ท่านนิพนธ์ไว้ว่า ความรู้คู่เปรียบด้วยกำลังกาย เฮย สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง ปัญญาประดุจดังอาวุธ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม เป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบแล้วผมจะปฏิบัติตามนี้เป็นแนวทาง ถ้าพูดถึงไอดอล คือพระราชนิพนธ์บทนี้เลย…..”
ภูมิใจเป็น อ.บรรยายกฏหมาย มันเหมาะสำหรับงานตำรวจน้ำ เพราะผมมองแล้วว่า ผมจบมาทางทหาร ผมไม่ได้มีความรู้เดิมทางด้านเกี่ยวกับกฎหมาย แต่ผมสามารถพัฒนาตัวจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งผมเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายให้กับสถาบันส่งเสริมการสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นความภูมิใจที่ผมได้รับ ผมไม่ได้จบปริญญาตรี ปริญญาโทด้านกฎหมาย แต่จบนิติศาสตร์ศรีปทุม ด้วยการที่เราพยายามศึกษาจนได้รับเกียรตินี้ ประมาณ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2558 ดังนั้น ผมก็พยายามบอกลูกน้อง ถ้าเรายึดพระราชนิพนธ์บทนี้ เราสามารถปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร สุดท้าย เราจะสามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบได้บรรลุ คือพระราชนิพนธ์บทนี้ค่อนข้างจะครอบคลุม คือ มีองค์ความรู้ แล้วจะต้องสุจริต รวมทั้งมีสติด้วย
ตำรวจน้ำต้องทำงานเป็นทีม “ทั้งหลายทั้งปวง ตำรวจน้ำ 1,500 คน คือองค์ประกอบที่จะขับเคลื่อน ผมจะพูดกับเขาเสมอว่า พวกท่านเปรียบเสมือนเรือลำหนึ่ง ผมเป็นผู้บังคับการตำรวจน้ำ ผมอาจจะดูเวลาขับเรือ แต่ตำรวจคนหนึ่ง อาจเป็นแค่น็อตตัวหนึ่ง แต่ไม่มีน็อตตัวนี้ เรือมันจะสั่น เฟือง ยางพักน้ำ ไม่มี เครื่องอาจจะน็อก คือ เครื่องมันก็มี 2 เครื่อง ก็ยังวิ่งได้นะ แต่มันอาจจะช้าลง บางคนเป็นเรดาร์ เราก็จะรู้ว่าเรือเราอยู่ตรงไหน การทำงานของตำรวจน้ำ ต้องทำงานเป็นทีม เราแบ่งหน้าที่ ฟังก์ชั่นกันทำ แต่ก็ต้องแบ่งหน้าที่กัน ทดแทนงานกันได้ นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะขับเคลื่อน แม้ว่ามันจะยากอยู่ เพราะการพัฒนาบุคคล มันยากที่สุด ผมเรียนเลย ใน 4 เอ็ม บุคคล ยากที่สุด แมททีเรียล มันนี่ ไม่ยาก แต่สร้างคนนี่ยาก แล้วสร้างให้ยั่งยืน ก็ยิ่งยากกว่า แล้วสร้างคนให้ยั่งยืน ให้เขาไปต่อยอด พัฒนาในสิ่งที่ดี นั่นยากที่สุด……”ผู้การเสือ ผู้การตำรวจน้ำปิดท้าย
กากีกลาย4/1/61