การทำงานข่าวในแต่ละยุคสมัยมีความเหมือนและแตกต่างกันออกไป ทั้งด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร ทำให้”ข่าว”เริ่มเปลี่ยน มีการแข่งขันด้านความไวเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดเป็นส่วนรองลงมา
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ นายจักรี ผดุงขันธ์ เจ้าของนามปากกา “หมีดำ ดินแดง” ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วัย 49 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในสมรภูมิน้ำหมึกแห่งนี้มาเกือบ 30 ปี
“ จักรี หรือ หมีดำ ดินแดง “ เริ่มต้นชีวิตทำงานจากการเป็นลูกจ้างรับงานจัดงานเสิร์ต หรือ งานอีเวนต์ มีงานตลอดทั้งเดือน
แต่โชคชะตาพลิกผันราวปี 2532 ได้รับการติดต่อชักชวนจาก”พี่นวย อาชญากรรม”ให้ไปร่วมทำหนังสือรายสัปดาห์ ชื่อ “อาชญากรรม” ที่มี “พี่ใหญ่ ท่าไม้” เป็นผู้ก่อตั้ง
ได้เงินเดือน 3 พันกว่าบาท และได้เร่ิมรู้จักการถ่ายรูป – ทำข่าว เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ครูพักลักจำ ฝึกฝนด้วยตนเอง
จักรี ย้อนรำลึกความหลังเมื่อครั้งเข้ามาสู่ชีวิตการเป็นนักข่าวให้ฟังว่า หลังเข้ามาทำงานให้กับหนังสือ”อาชญากรรม” พี่โย่ง ดอนไท ช่วยแนะนำแนวทางในการทำงานโดยให้ศึกษาจากหนังสืออาชญากรรมเป็นหลัก
ส่วนวิชาการถ่ายภาพ เริ่มศึกษาจากหนังสือของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมไปถึงเข้าอบรมกับสถาบันฝึกฝีมือแรงงานเป็นเวลา 4 เดือน จนกระทั่งสามารถถ่ายภาพข่าวได้
ระหว่างการทำงานที่ถือว่าใหม่สำหรับตนเองในเวลานั้น ได้แอบดูศึกษาจากพี่นักข่าวไปด้วยเรียกได้ว่า “ครูพักลักจำ” นอกจากนี้ยังได้นามปากกามาด้วย คือ “หมีดำ ดินแดง” เนื่องจากยุคนั้นนิยมมีนามปากกา โดย “โจ บางแค” ตั้งให้
คดีฆ่า“แคล้ว ธนิกุล” คดีใหญ่นักข่าวใหม่
คดีสำคัญในชีวิตเริ่มต้นการทำข่าว จักรีเล่าว่า คดี “แคล้ว ธนิกุล” อดีตเจ้าพ่อนครบาลถูกลอบสังหาร บนถนนปิ่นเกล้า – นครชัยศรี หมู่ที่ 1 ต.ทรงคะนอง อ.สามพราน จ.นครปฐม
ถือได้ว่าเป็นคดีใหญ่สำหรับนักข่าวมือใหม่ ในค่ำวันที่ 5 เม.ย. 2534 ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าให้ไปช่วยทำข่าวการลับสังหารในครั้งนี้ เพื่อไปช่วยช่างภาพที่ไปก่อนแล้ว
จากสำนักพิมพ์ที่ตั้งอยู่แถวจรัญฯถือว่าไม่ไกลกระโดดขึ้นรถใช้เวลาไม่นานก็ถึงที่เกิดเหตุ ในขณะนั้นยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาถึง ได้เดินเก็บข้อมูลถ่ายภาพพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดเพื่อนำกลับมาเขียนข่าว
ทำข่าวตจว.ยุคก่อน เต็มไปด้วยความยากลำบาก
จักรี เล่าย้อนถึงอีกคดีน่าสนใจว่า คดีอุ้มฆ่า พ่อ – ลูก ปมขัดแย้งทางธุรกิจ ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นงานที่ถูกมอบหมายให้ไปตามคดีในต่างจังหวัดที่ระยะทางค่อนข้างไกล แต่มีงบประมาณให้แค่ 500 บาท ซื้อตั๋วรถและที่พัก
แต่เมื่อไปถึงแม่สอด รถที่จะไปอุ้มผางหมด ต้องไปขออาศัยนอนที่โรงพักแม่สอด รุ่งเช้าอีกวันต้องให้ตำรวจช่วยโบกรถปูนที่จะข้ามไปฝั่งพม่าขอติดไปด้วย นั่งหลับมาตลอดทางจนถึงด่านแม่กก คนขับรถปูนสะกิดให้ลง มันเป็นการเดินทางที่แสนทรหดมาก
ตอนนั้นเป็นเวลาตี 4 ทุกอย่างมืดสนิท มีเพียงตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ที่บริเวณด่าน ขออาศัยนอนจนเช้า ตำรวจตระเวนชายแดนใจดีขับรถจยย.วิบากเข้าไปส่งที่โรงพักอุ้มผาง
อยู่ทำข่าวที่นั้นได้ 3 วัน ไม่ได้ข้อมูลอย่างที่หวัง เนื่องจากการสื่อสารในยุคนั้นแสนจะลำบาก รูปที่เกิดเหตุร้อยเวรยังต้องขอนักข่าวในท้องที่อยู่เลย การสอบปากคำพยานหรือหญาติแต่ล่ะที่ใช้เวลาในการติดต่อกันาน
“ถอดใจกลับเมืองกรุงฯ ขากลับรถหมดอีกต้องอาศัยนอนวัดที่อุ้มผาง เงินที่ติดตัวมาก็หมด ต้องขายพระหลวงปู่ทวด ที่ห้อยติดคอให้ กับตำรวจที่แม่สอดในราคา 600 บาท ซ้ำร้ายกระเป๋าเงินดันมาหาย แต่โชคดีทำกระเป๋าตกในรถปูนครั้งขามา
คนขับรถปูนก็ดีในเที่ยวขากลับเขาได้เอามาฝากไว้กับตำรวจที่ด่านแม่กก จนได้คืนในที่สุด” นายจักรี เล่าถึงความลำบากในการทำข่าวในยุคนั้น
“พฤษภาทมิฬ 35” ย้ายค่ายมาแนวหน้า
จักรี เปลือยชีวิตเบื้องหลังข่าวต่อไปว่า หลังเสร็จจากงานที่อุ้มผาง ตัดสินใจลาออกจากหนังสืออาชญากรรม ออกมาเตะฝุ่นอยู่หน้าม.รามคำแหง ขายกางเกงยีนกับเพื่อนอยู่สักพัก ก่อนที่จะได้รับการติดต่อจากเพื่อนให้ไปสมัครงานกับ “พี่พจ พรพต บุญยาสัย” หัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์แนวหน้า ได้รับมอบหมายให้เป็นช่างภาพสายเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนสายงานข่าว จากอาชญากรรมก็ต้องเริ่มปรับตัวใหม่ ได้เรียนวิชาความรู้ในเรื่องการสัมภาษณ์บุคคลเพิ่มขึ้น มีโอกาสได้รับมอบหมายให้ทำข่าวสัมภาษณ์แทนนักข่าวบ้าง และยังมีโอกาสได้เข้ามาช่วยกองบรรณาธิการข่าวหน้า1 รับข่าว ทำอย่างนี้อยู่ 2 ปี
หวนคืนข่าวอาชญากรรม เข้าซุ้มไทยรัฐ
เจ้าของฉายาหมีดำ ดินแดงเล่าถึงจังหวะชีวิตที่ได้หวนคืนวงการข่าวอาชญากรรม ว่า ระหว่างทำงานที่แนวหน้าก็มีเพื่อนรักคือ พิสันต์ ใจการุณ เป็นนักข่าวตระเวนหนังพิมพ์ไทยรัฐ ชักชวนให้ไปลองสมัครนักข่าวที่ไทยรัฐ ก่อนที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นนักข่าวไทยรัฐ ในราวเดือนสิงหาคม ปี 2538
เริ่มต้นขึ้นรถฝึกกับรถข่าวตระเวนที่มี “พี่เอ๋ ไทยรัฐ” เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำในการใช้ชีวิต ถ่ายภาพ ทำข่าว และเพิ่มความละเอียดในขั้นตอนการหาข่าว ฝึกอยู่ประมาณ 3 – 4 เดือน ก็ได้เป็นตัวจริงแทนพี่เอ๋ นั้นเอง
ทำข่าวตีหัวเป็นเรื่องปกติ
นายจักรี พูดถึงการทำงานข่าวตีหัวว่า ในยุคนั้นการทำข่าวตีหัวฉบับอื่นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องสนุก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกตีหัวเลย ครั้งหนึ่งเคยตกข่าว มือปืนชื่อดังอย่าง “หมึกเพชร” ที่มาจบชีวิตด้วยการถูกคนงานก่อสร้างใช้เข็มเย็บกระสอบแทงเสียชีวิต
ที่ตกข่าวนี้เนื่องจากความไม่รอบคอบในการเช็คข่าว ได้ยินวิทยุรายงานว่าเป็นการทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ แต่สุดท้ายคนที่ตายเป็นมือปืนชื่อดัง จากเหตุการณ์นี้สอนให้จำเลยว่าต้องเช็คให้ขาดในแต่ล่ะงาน ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะอาจจะพลาดแบบนี้ก็ได้
ร่วมทำข่าวสืบสวนคดีดังหลายคดี
จักรี ย้อนถึงคดีดังในสมัยก่อน ว่า ทีมนักข่าวตระเวนไทยรัฐมีการทำงานเป็นทีม แต่ล่ะคนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในการทำข่าวคดีสำคัญต่าง ๆ การทำข่าวสืบสวนถูกสอนจากรุ่นพี่มาว่า ในที่เกิดเหตุให้เป็นทำตัวเป็นร้อยเวร และ หลังเกิดเหตุให้ทำตัวเป็นนักสืบ นักสอบสวน ซึ่งในบางคดีเราอาจจะได้ข้อมูลดีในที่เกิดเหตุ แต่บางคดีอาจจะได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับพยานหรือญาติ
คดีสำคัญ อย่างเช่น กรณีลอบสังหาร “นายแสงชัย สุนทรวัฒน์” , การลอบยิง “พญ.นิชรี มะกรสาร” , ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นอกจากนี้ยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับคดีฆาตกรรมอำพรางอื่น ๆ อีกหลายคดี แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำข่าว แต่นั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ในการเป็นนักข่าว นายจักรี กล่าว
ข่าวม็อบ “ไม่เสี่ยงตาย แต่ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่”
นายจักรี กล่าวถึงประสบการณ์ทำข่าวชุมนุมประท้วง ว่า ผ่านการทำข่าวการชุมนุมหลายม็อบ ได้ใช้ชีวิตกิน นอน เฝ้าม็อบก็นาน หากถามถึงว่าการทำข่าวมีความเสี่ยงหรือไม่ บอกได้เลยว่า “ไม่มีคำว่าเสี่ยงตาย แต่ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่”
ที่ผ่านมาเจอเหตุการณ์อันตรายหลายครั้ง เช่น เหตุปะทะระหว่างม็อบย่านคอกวัว มีการใช้อาวุธปืนยิงกันกินเวลากว่า 5 นาที ในขณะนั้นพยายามจะถ่ายภาพ แต่กดชัตเตอร์ได้เพียง 2 -3 ภาพ ก็ต้องหมอบเนื่องจากถูกสะเก็ดปูนที่ลูกกระสุนปืนกระแทกแตกใส่ที่บริเวณปลายคิ้ว นับได้ว่าเป็นการเสี่ยงตายที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง
“เหาะนรก” ภาพรางวัลแรกในชีวิต
สำหรับรางวัลในชีวิตการเป็นนักข่าวอาชญากรรม จักรีเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ภาพเหาะนรก เป็นภาพชายที่กำลังคลั่งเพราะฤทธิ์ยาบ้าหรือในสมัยนั้นเรียกว่ายาม้า มันเป็นยุคที่ยาบ้าพัฒนาสูตรให้มีฤทธิ์อาการหลอนทำร้ายตนเอง
ชายเมายาบ้ารายนี้ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าตึกย่านถนนเพชรบุรี พูดจาไม่รู้เรื่อง ทางเจ้าหน้าที่พยามเกลี้ยกล่อมแต่ไม่สำเร็จ นักข่าวอาชญากรรมทุกสำนักแห่มาถึง เช่นเดียวกับทีมข่าวไทยรัฐวิ่งมาช่วยกันทุกเขต
ช่างภาพหลายคนต่างหามุมที่เหมาะ ส่วนผมเองหันไปขอป้าเจ้าของตึกติดกันขึ้นไปข้างบนดาดฟ้า ปรากฎว่าป้าอนุญาต รีบวิ่งขึ้นไปเฝ้าคอยรออยู่นาน จนกระทั้งชายดังกล่าวตัดสินใจกะโดดลงจากตึก
วินาทีนั้นรีบกดชัตเตอร์ กล้อง Nikon Fm2 จับภาพไว้ได้อย่างครบถ้วน ส่วนชายที่กระโดดตกลงไปเกาะราวเหล็กชั้นที่ 1 ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือไว้ได้ นายจักรี เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้นภาพชายกระโดด หรือ ภาพ “เหาะนรก” ได้ตีพิมพ์ลงหน้า1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นภาพชุด
ต่อมาได้นำไปส่งเข้าประกวดตามสมาคมฯที่เกี่ยวข้อง จนได้รับรางวัล ภาพข่าวชมเชย มูลนิธิอิศรา อมันตกุล , รางวัลภาพข่าวต่อเนื่องชนะเลิฯ และ รางวัลภาพข่าวอาชญากรรมชนะเลิศจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และ รางวัลชนะเลิศ จากชมรมผู้สื่อข่าว – ช่างภาพ อาชญากรรม
ตั้งใจมุ่งมั่นคว้าปริญญา ตรี – โท
นายจักรี กล่าวถึงการศึกษาเรียนรู้ของตนเองด้วยว่า สมัยวัยรุ่นเรียนหนังสือไม่เป็นชิ้นเป็นอัน พอโตมีอายุขึ้นมาอีกหน่อย พยายามลงเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งใจเรียนกระทั่งการศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์สิ่งพิพม์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะนิเทศศาสตร์ สาขาดิจิทัล ปริญญาทั้งสองใบนั้น เป็นเพราะพยายามตั้งใจจึงได้มา
การเปลี่ยนแปลงตามยุคของคนข่าว
นายจักรี มองการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยการทำข่าว ว่า ในสมัยก่อนเราทำข่าวกันจากพื้นฐานความจริง แต่สมัยนี้เอาข้อมูลมาจากโซเชียล บางข้อมูลไม่แน่ชัดว่าจริงหรือไม่ แข่งขันกันที่ความเร็ว การติดต่อสื่อสารกับรีไรต์หรือหัวหน้าก็น้อยลง เมื่อก่อนได้พูดคุยส่งข่าว หารือประเด็นข่าวกัน จนนำมาสู่การแตกประเด็นที่ดีกว่า แต่สุดท้ายนักข่าวก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
วางแผนชีวิต วันสุดสิ้นถนนน้ำหมึก
เหยี่ยวข่าวตระเวนไทยรัฐวัย49 ยังบอกถึงการวางแผนหลังเกษียณจากวงการนักหนังสือพิมพ์ ว่า ปัจจุบันมีธุรกิจครอบครัวเกี่ยวกับน้ำมันเหลือง ช่วยรักษาโรคปวดตามข้อและอื่น ๆ ชื่อว่า “บารมี” หากเลิกเป็นนักข่าว จะนำน้ำมันเหลืองบารมีออกไปจำหน่ายตามงานประจำปีในต่างจังหวัด พร้อมกับถ่ายรูป จดบันทึกเรื่องราวที่พบเป็นสารคดีเขียนลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า ชุมชนคนถ่ายภาพ เพื่อให้สมาชิกและเพื่อนได้ระลึกถึงกัน
ข้อคิดถึงน้องนักข่าวอาชญากรรม
“ในวงการข่าวต้องเรียนรู้อย่าหยุด เรียนรู้จากพี่ ๆ หากผิดพลาดก็จดจำแก้ไขคิดเสียว่าเป็นครู ไม่ให้ผิดอีก แต่ล่ะเหตุการณ์จะคอยสอนเรา ” จักรี หรือหมีดำ ดินแดง กล่าวทิ้งท้าย