Tuesday, April 8, 2025
More
Homeอาชญา (ลง)กลอนแถลงการณ์ประณาม หยุดโจรไม่ได้

แถลงการณ์ประณาม หยุดโจรไม่ได้

 

อาชญา(ลง)กลอน
ธนก บังผล

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ถ้านับหนึ่งที่เหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง หรือกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาถึงปีนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว

หากเป็นชีวิตคนก็เริ่มเป็นวัยรุ่น หากเป็นรถยนต์ก็เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเก่า เป็นสุราที่บ่มมานานขนาดนี้ราคาก็ต้องแพง

แต่หากเปรียบเป็นความป่วยไข้อะไรสักอย่าง ตลอดเวลา 15 ปีคงมีแต่ความทุกข์ทรมาน ซึ่งคงไม่ผิดนัก ถ้าผมจะเปรียบเหตุการณ์ความไม่สงบปลายด้ามขวานไทยเป็นโรคภัยชนิดหนึ่ง

ในฐานะโลกของผมไม่สวย อีกทั้งยังเคยลงไปทำงานข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง ปี 2548-2549

แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาไม่นาน แต่ก็เป็นจังหวะที่สถานการณ์กำลังปะทุและสังคมยังคงมึนงงกับปัญหานี้อย่างหนัก

ประการแรกคือ เราพยายามที่จะประคับประคองความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่จนแทบจะกลายเป็นเอาอกเอาใจผู้ก่อความไม่สงบ

เช่น การพยายามหลีกเลี่ยงใช้คำว่า “โจรใต้” ซึ่งเหมือนเหมารวมคนทั้งภาคใต้ มาใช้คำว่า “ผู้หลงผิด” หรือ “ผู้ก่อเหตุ”

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ตีภาพรวมของพื้นที่ 4 จังหวัด (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ที่มีเหตุรุนแรง ให้เป็น “จังหวัดชายแดนภาคใต้”

นอกจากนี้รัฐยังใช้มาตรการให้ “ผู้หลงผิด” สามารถเข้ามอบตัวกับทางราชการโดยไม่มีความผิด และเยียวยาด้วยเงินจำนวนมหาศาลให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย

ปัจจุบันก็ยังเป็นที่กังขาว่าเป็นการจ่ายเงินให้กับครอบครัวของผู้ก่อเหตุที่ถูกทหาร-ตำรวจ วิสามัญไปบ้างหรือไม่

ผมมองว่าวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงขั้นตอนที่ถูก ที่เหมาะสม ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

เปรียบกับอาการป่วยของโรคแล้วการให้ยารักษาแบบเดิมๆเป็นระยะเวลานานๆนั้น มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะดื้อยามากกว่าที่จะหายขาด

วิธีเช่นนี้สุ่มเสี่ยงมากนะครับที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่ในภาคอื่นๆที่รับข้อมูลข่าวสารความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า หมอ “เลี้ยงไข้” หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น พอเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงพระวัดรัตนานุภาพ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส จนมรณภาพและบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เหมือนกัน

ประการแรก คือ เมื่อยุทธวิธีการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี เป็นการ “ลอบฆ่า” โดยเรายังไม่สามารถระบุได้ว่าใครหรือองค์กรไหน คือ “ผู้สั่งการ” ที่มีอำนาจสูงสุด

เช่นเดียวกับทางการเองก็ยังเดินหน้าเปิดโต๊ะ “เจรจา” กับใครก็ไม่รู้ ที่รับประกันกับคนในพื้นที่ไม่ได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะยุติทันที

นั่นหมายความว่าที่ผ่านมา 15 ปี รัฐได้ตกเป็น “ผู้สูญเสีย” ในปัญหานี้อย่างแท้จริง คือเสียทั้งเวลา งบประมาณ และบุคลากร

แล้วเราจะยังต้องเป็นผู้สูญเสียอีกนานเท่าไรก็ไม่มีใครตอบได้เช่นกัน

ประการที่ 2 คือ ผมคิดว่าวิธีการปฏิบัติหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นช่างละมุนละม่อม ละเมียดละไม อ่อนหวานเหลือเกิน

เนื่องจากการออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุนั้น ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมใดๆให้บรรดาผู้ก่อความไม่สงบได้สะทกสะท้านหรือรู้สึกผิดเลยแม้แต่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น “แถลงการณ์ประณาม” มันยังไม่สามารถสะกิดให้คนในชาติเกิดความรู้สึกร่วมในความรุนแรงครั้งนี้ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะมาจากองค์กรหรือหน่วยงานใด กี่ฉบับก็ตามที 

 

เรากำลังอยู่ในภาวะ “ชินชา” กับสถานการณ์ความไม่สงบทั้งๆที่ครอบครัวของผู้สูญเสียเหล่านั้นกำลังโศกเศร้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเพิ่มมากขึ้นทุกครั้ง

ผมยอมรับด้วยว่า มันคงไม่มีวิธีอื่นใดที่จะทำได้ดีไปกว่าการออกแถลงการณ์ประณามเหตุฆ่าพระสงฆ์ นักบวช ไม่ว่าการกระทำนั้นต้องการสร้างความแตกแยก-เกลียดชังทางศาสนาหรือไม่

เพราะอย่างน้อยมีแถลงการณ์ก็ยังดีกว่าไม่มีปฏิกริยาใดๆ

นอกจากนี้มันยังได้ยึดพื้นที่ข่าวในทุกช่องทางการสื่อสารซึ่งมองแล้วก็ไม่ต่างอะไรไปจากการประชาสัมพันธ์ผลงานให้กับผู้ไม่หวังดีอีกทางหนึ่ง

ผมเพียงแต่คิดว่าเวลาได้ผ่านมาจนป่านนี้แล้ว เหตุใดรัฐบาลยังคง “ตั้งรับ” รอให้ผู้ก่อความไม่สงบลงมือก่อนอยู่บ่อยครั้ง

15 ปีแล้วที่มาตรการอันนุ่มนิ่ม ประนีประนอมให้เกียรติ อันเปรียบเหมือนเราเปิดหน้าเข้าใส่รอให้คนอื่นชกนั้น

ทำไมเราจึงยังไม่สามารถโต้กลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง เพื่อจะก้าวไปสู่การ “ปิดเกม” ในท้ายที่สุด

สังคมเราทุกวันนี้มีแถลงการณ์อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด ออกมาได้ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดความหมาย ไม่มีใครจดจำหรือทำตามด้วยซ้ำ

มาตรการหรือพิธีการอะไรที่มันซ้ำๆ มันก็ไม่แปลกเลยที่เราจะเฉยๆกับมัน

นาทีนี้ ปีนี้ ผมอยากเห็นการไล่ล่าครับ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments