ผู้การตำรวจท่องเที่ยวเมืองหลวง ผ่านงานมากมายหลายหน้าที่ แต่ทำได้หมดเพราะ “ตำรวจทุกคนทุกหน้าที่ ต้องทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
มีหลายคนบอกว่า พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 (ผบก.ทท.1) มีบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนตำรวจตำรวจแม้แต่น้อย
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตำรวจมากความสามารถคนนี้ผ่านการเป็นตำรวจมามากมายหลายหน่วยงาน
ผ่านทั้งงานสืบสวนและตำรวจสอบสวนกลาง ที่สำคัญยังอยู่ในตำแหน่งที่คุมกำลังสายสำคัญมาโดยตลอด
นั่นทำให้เขาถูกวางตัวเป็นผู้การฯตำรวจท่องเที่ยวที่รับผิดชอบดูแลกรุงเทพฯและเมืองหลักในภาคกลางรวมทั้งพัทยาดินแดนที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติจากทั่วโลก
และกำลังจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติภารกิจที่เปิดตัวไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้
พล.ต.ต.วรพงษ์ อาจจะไม่โด่งดังเหมือนมือปราบสายบู๊ แต่ก็มีดีกรีไม่แพ้ตำรวจหน้าอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เขาไม่ใช่นักเรียนนายร้อยสามพรานแต่จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่าน
การอบรม หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 22
เริ่มต้นสอบเข้าเป็นนายร้อยอบรมโดยใช้ปริญญาด้านกฎหมายเป็นนายตำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2527
ทำหน้าที่เป็นตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร ผบ.หมวดรบพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดนนานต่อเนื่องถึงสามปีในการนำกำลังเข้ารบสงครามไทย-เวียดนามที่ชายแดนไทยกัมพูชาช่องโอบก
หลังสงครามสงบในปี 2530 ด้วยทำความดีความชอบจากตำรวจชายแดนเขาถูกย้ายข้ามห้วยเข้าเมืองหลวงมาเป็น รองสารวัตรสอบสวน สน.ดอนเมือง
ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจบกฎหมาย อยากให้มาช่วยงานสำนวนในนครบาลที่มีจำนวนมาก ทำได้ไม่นานก็สร้างชื่อในการทำสำนวนคดี พระนิกร กับ สีกาอร ปวีณา ที่โด่งดัง วรพงษ์ โชว์ความสามารถให้ตำรวจนครบาลเห็นได้ราวสามปี เมื่อติดยศร้อยตำรวจเอกก็ถูกผู้บังคับบัญชาย้ายไปทำงานด้านสอบสวนที่ สน.ดินแดง
เพื่อแก้ไขปัญหาสำนวนสอบสวนล้นโรงพัก จนถูกมองว่าเป็นมืออาชีพด้านการทำสำนวนการสอบสวน
ทำงานได้เพียงปีเศษ ในปี 2537 ได้รับปูนบำเหน็จแหกโผขึ้นเป็นสารวัตรที่กองกำกับการตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาลเหนือ กองสืบในนครบาลสมัยนั้น
ที่มีแต่นักสืบชื่อดังมือฉมังมากมายในยุคที่ พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น เป็นผู้กำกับการ และพล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผบ.ตร. คนปัจจุบันเป็นสารวัตรเทียบเท่ากัน
ขณะนั้นเขาสร้างชื่ออีกครั้งด้วยการจับพระยันตระ พระชื่อดัง “สมีเขียว”
หลังเก็บวิชาสืบสวนจากรุ่นพี่ๆได้ 2 ปี อยากทำงานอื่นจึงย้ายข้ามห้วยไปสังกัดตำรวจสอบสวนกลางเป็น สารวัตรตำรวจทางหลวง จ.สกลนคร
เนื่องจากต้องการเก็บประสบการณ์อีกแบบหนึ่งอีกแบบหนึ่งตามคำแนะนำของผู้บังคับบัญชา จึงวนเวียนเป็นตำรวจอยู่ในภาคอีสานนาน 4 ปี
ก่อนไปขึ้นเป็นรองผู้กำกับการตำรวจทางหลวง 7 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คุมเส้นทางชายแดนภาคใต้ทั้งหมด
ย้ายเข้ามากรุงเทพฯอีกครั้งในตำแหน่ง รองผู้กำกับการหัวหน้าตำรวจสถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ถือเป็นตำรวจทำเลทอง
เขาเลื่อนขั้นอย่างต่อเนื่อง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารหน่วยเป็น ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจน้ำ ดูแลพื้นที่ในน้ำในเขตเมืองหลวง
แต่เป็นตำรวจน้ำได้เพียง 5 เดือน ก็ถูกโยกไปเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเด็กและสตรี (บก.ปดส./ปัจจุบันคือ ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์)
เพราะผู้บังคับบัญชาต้องการให้ไปช่วยงานด้านเด็กและผู้หญิงในยุคนั้นที่งานด้านนี้เริ่มเป็นกระแสนิยมของโลก
ก่อนที่จะอยู่หน่วยงานนี้มาต่อเนื่องจนเปลี่ยนชื่อเป็นตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการ บก.ปคม.
ติดยศ พลตำรวจตรี ครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับการกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เป็นได้ไม่นานก็ขยับไปเป็น ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจรถไฟ
ขณะนั้นเขาสามารถนำทีมสืบสวนจับขบวนการขนยาไอซ์ได้ของกลางบนรถไฟล็อตใหญ่เกือบ 600 กก.
เขาใช้เวลาในตำแหน่งแต่ละที่แค่เพียง 1 ปี ล่าสุดหลังจากตำรวจท่องเที่ยงยกฐานะขึ้นเป็นกองบัญชาการ เขาถูกดึงตัวให้มาช่วยงานด้านการท่องเที่ยวทันทีเพราะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ได้อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ดูแลกรุงเทพฯและ 30 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่สำคัญอย่างพัทยา จ.ชลบุรี
พล.ต.ต.วรพงษ์ นับได้ว่าเป็นตำรวจที่สังกัดมาหลายหน่วยงานมากเจอทั้งงานบู๊และงานบุ๋นแต่ก็อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญมาโดยตลอด
เขาแสดงทัศนะว่า
แม้งานจะแตกต่างกันออกไปเยอะแยะมากมาย แต่งานตำรวจทุกอย่างไม่ได้ผิดจากกันไปมากนัก เพราะทุกอย่างต้องทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ตำรวจทุกหน่วยต้องยึดถือหลักการนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะสังกัดอยู่หน่วยไหนก็ตาม ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมได้
ส่วนตัวแล้วชอบทุกหน่วยงานที่สังกัด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีความสุขกับการทำงาน โดยเฉพาะขณะนี้ได้ทำเรื่องตำรวจท่องเที่ยวที่เป็นงานสำคัญของเมืองไทย มีเวลาคิดหลากหลายโครงการที่ต้องนำมาพัฒนาตำรวจท่องเที่ยว
ปัจจุบันได้นำตำรวจตั้งแต่ รองผู้บังคับการไปจนถึงระดับสารวัตรจำนวนประมาณ 140 นาย ไปเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร
เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติภารกิจของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รุ่นที่ 1) ตามแนวทางยกระดับการบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
โดยได้มอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่และแนวทางการพัฒนาหน่วยงานให้กับข้าราชการตำรวจ การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพตำรวจประจำสถานีตำรวจ จุดการให้บริการต้องมีความพร้อม มีความสะอาดเรียบร้อย
เน้นการปรากฏกายตามสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเน้นการพบปะหาความร่วมมือจากฝ่ายเอกชนให้ประชาสัมพันธ์การทำงานผ่านช่องทางต่างๆ
เขาระบุว่า ตำรวจท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาองค์กร ประกอบด้วย 2 ด้านคือ ระบบในการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรายบุคคล
ความแตกต่างกันคือ ระบบในการทำงาน เมื่อมีการปรับเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้วก็จบ
แต่ศักยภาพของบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาและปรับให้มีความเหมาะสม กับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
การพัฒนาคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความรู้ในด้านต่างๆ ของบุคลากรเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างดียิ่งขึ้น
“เริ่มจากให้เขาแสดงออกทางความคิด ตำรวจท่องเที่ยวต้องทำอะไร ทุกคนก็จะทราบว่าต้องทำอะไรบ้าง
เสร็จแล้วเราให้พวกเขาระดมความคิดมาว่า แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่เขาอยากทำให้กับการท่องเที่ยว
สุดท้ายก็เอาสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่อยากทำ มามิกซ์กันกลายเป็นเอกสารเป็นเปเปอร์ว่า นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรทำร่วมกันและประกาศออกไปให้รู้กันเป็นแนวทางทั่วประเทศ”
พล.ต.ต.วรพงษ์ กล่าวพร้อมกับบอกว่า สิ่งที่ตำรวจท่องเที่ยวกำลังทำนั้นคือ การตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดในกระบวนการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ควบคู่ไปกับการบริการนักท่องเที่ยว
โดยจะใส่เทคโนโลยีเข้าไปช่วยอำนวยความสะวดกในการทำงาน ขณะนี้กำลังจะเริ่มอบรมรุ่นที่สอง เป็นตำรวจชั้นประทวน 200 นาย
ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะตำรวจเหล่านี้เป็นระดับปฏิบัติการที่ต้องเจอกับนักท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น
ตำรวจประทวนต้องเจาะรายละเอียดลงไปกับนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเข้าไปถาม ต้องยิ้มแย้ม ต้องหยุดทักทายพูดคุย ปรากฏตัวในที่เห็นเด่นชัด ที่สาธารณะและจุดเสี่ยง
“เทคโนโลยีที่เรานำมาใช้นั้นคือ กล้องตรวจจับทะเบียนรถยนต์ในพื้นที่พัทยา เราใช้งบประมาณของการท่องเที่ยวไป 36 ล้านบาท
ปัจจุบันคดีเกิด 1,300 กว่าคดี เราจับได้ 1,200 กว่าคดี ได้ถึง 90% สามารถเอาข้อมูลของเราและฐานข้อมูลจากกล้องที่เรามี ไปไล่ทำคดีให้กับตำรวจท้องที่ได้
ยกตัวอย่าง คดีล่าสุด คนไทยงัดบ้านชาวต่างชาติแล้วก็เข้าไปงัดเซฟมี่พัทยา แถวบ้านเขาไม่มีกล้อง แต่เรามาไล่มาดูของเรา
เราพบลักษณะคนร้าย พบมอเตอร์ไซค์ลักษณะนั้น แล้วเราก็ไล่ เสร็จแล้วเราก็ได้ทะเบียนรถยนต์ ในที่สุดแค่ไม่เกิน 7 วัน เราก็ตามไปจับได้ที่นครปฐม”
พล.ต.ต.วรพงษ์ กล่าวและบอกว่า ในอีกไม่นานระบบกล้องที่พัทยาจะพัฒนาเพิ่มมากขึ้นจนครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด
“ภาพรวมตำรวจท่องเที่ยวในเวลานี้ ทุกคนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมาก แต่เวลานี้ตำรวจท่องเที่ยวรับผิดชอบทั่วประเทศ มีคนแค่ 2,000 นิดๆ
ฉะนั้นในความเป็นจริงเราควรจะเพิ่มกำลังคนแยกไปเป็นระดับสารวัตรทุกจังหวัด เพราะตอนนี้การท่องเที่ยว เน้นทุกจังหวัด รัฐบาลต้องการเน้นที่เมืองรอง เราก็ต้องไปสร้างความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ
แต่เมืองรอง กลับไม่มีกำลังเลย ไม่มีตำรวจท่องเที่ยวเลย เราก็พยายาม ตอนนี้เราก็เอาตู้คอนเทนเนอร์ไปตั้ง เอาตำรวจชั้นประทวน 2-3 นายไปดูแล เรามีเท่านี้ แต่ต้องดูทั้งอำนวยความสะดวก และปัญหาอาชญากรรมด้วย”
พล.ต.ต.วรพงษ์ กล่าวและว่า ตำรวจท่องเที่ยวต้องดูทุกอย่าง โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและการแก้ไขปัญหาให้กับนักท่องเที่ยว
ทั้งด้านปกติ หรือกรณีเกิดอาชญากรรม หรือเกิดเป็นคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือว่าผู้ต้องหาต้องเข้าไปดูหมด เพื่อไปแจ้งสถานทูตให้เขาเข้ามาดูแล พล.ต.ต.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ชาติหลักๆ ที่เราเน้นเป็นพิเศษคือนักท่องเที่ยวจีน เพราะมาไทยเยอะที่สุดปีหนึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน ส่วนอินเดียมาเป็นอันดับสองด็เป็นหลักล้านเช่นกัน
เราดูแลให้กับนักท่องเที่ยวทุกประเทศ แต่นักท่องเที่ยวจีนมาเยอะ นอกจากนีจะมีล่ามของเรา เป็นผู้ช่วยตำรวจ รวม 5 ภาษา คือ ภาษาจีน อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย
หากมีปัญหาสามารถโทรศัพท์มาที่หมายเลข 1155 เรามีคนพูด 5 ภาษานี้รับโทรศัพท์ท่านทันที 24 ชั่วโมง ที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกตอบปัญหานักท่องเที่ยวได้หมดครบถ้วน
CR.คอลัมน์ Inquiry Line หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2562 โดย วัสยศ งามขำ