Monday, November 25, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวันบช.น.ร่วมภาคีเครือข่ายจัดโครงการเสริมสร้างวินัยจราจร

    บช.น.ร่วมภาคีเครือข่ายจัดโครงการเสริมสร้างวินัยจราจร

     

    กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำร่องนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร เน้นการสวมหมวกนิรภัย 100% และสร้างวินัยจราจรมากขึ้น เพื่อลดสูญเสียและอุบัติเหตุทางถนน

    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) วันที่ 14 มิ.ย.65 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกบช.น. พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมแถลงข่าวโครงการ “เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร”

    พล.ต.ต.จิรสันต์ เปิดเผยว่า ในปี 2564 เขตที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ เขตลาดกระบังยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 86.71 และช่วงวัยที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ วัยทำงาน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

    เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึง เมษายน 2566 นำร่องในพื้นที่นิคมอุตสากรรมลาดกระบัง ที่มีโรงงานกว่า 200 แห่ง และมีพนักงานกว่า 50,000 คน เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรในคนวัยทำงาน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

    การจัดการอย่างเป็นระบบ ด้วยการส่งเสริมให้สถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยง มีมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้พนักงานในหน่วยงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วม สวมหมวกนิรภัย 100% ทั้งผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ และมีวินัยจราจร มากขึ้น ขณะที่ ตำรวจ จะมีการอบรมทักษะการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึง การตั้งจุดตรวจกวดขัน ในช่วง 3 เดือนแรก โดยจะเป็นจุดตรวจปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ก่อนจะบังคับใช้กฎหมายจับปรับจริง

    ด้าน นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกส่วนในสังคมต้องช่วยกัน  ภาคเอกชน จะมีส่วนสำคัญในการเริ่มต้น  อาจจะมีการสร้างกฎบัตรว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนภายในองค์กร โดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ และภาคีเครือข่าย พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ควบคู่การสร้างการรับรู้ภายในองค์กร

    ช่วงการดำเนินโครงการ จะมีการจัดเก็บสถิติการสวมหมวกนิรภัยในพื้นที่เป้าหมาย จากภาพวิดีโอ / วงจรปิด / กล้องจราจร โดยใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผล หรือจัดเก็บข้อมูลจากการสำรวจในพื้นที่จริง เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ วิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลต่อไป โดยเชื่อว่า นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จะเป็นโมเดลใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments