Friday, November 22, 2024
More
    HomeCan i showอีกครั้งกับ "ออม มติชน" โดดเด่นเป็นที่ 1 น่าจับตามอง

    อีกครั้งกับ "ออม มติชน" โดดเด่นเป็นที่ 1 น่าจับตามอง

    img_0940
    สนับสนุนเรื่องราวดีดี

    เรื่องเด่นจาก นิตยาสาร Cop’s Magazine  คอลัมส์ อินทรีเหนือเมฆ โดย ดารินทร์ 

    Cop’s Magazine ฉบับประจำเดือนมกราคม 2559 เปิดบทสัมภาษณ์สื่อมวลชนคนเก่ง“ออม” จันทรพร กุลโชติ ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเก่งและเจ๋ง เป็นอันอับต้นๆของวงการสื่อสายตำรวจ-อาชญากรรม และในวันนี้ทางทีมงาน Police News Varieties  นำท่านผู้อ่านมาตอกย้ำซ้ำแนวคิดในอีกมุมมองที่ลึกลงไปกว่าเดิม 

    ในบทบาทการเป็นสื่อ บางครั้งมันละเอียดอ่อนกว่าที่คิด”

    นักข่าวสาวจากหนังสือพิมพ์มติชน “ออม” จันทรพร กุลโชติ ชาวจังหวัดปัตตานี แม้หน้าตาจะคมขำตามแบบสาวใต้ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า เธอมีเชื้อสายจีน บรรพบุรุษเดินทางมาจากประเทศจีน เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย ที่ปัตตานี

    ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อนในครอบครัวที่พ่อเป็นตำรวจ แม่เป็นแม่บ้าน บ้านของเธอตั้งอยู่ในอำเภอเมือง กลางชุมชนชาวมุสลิม ทำให้ได้เห็นทั้งวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวมุสลิม แม้จะต่างศาสนากัน แต่ก็มีความผูกพันกันมาก

     

     15965333_1198854190228120_18468929701490661_n

    เจ้าตัวลำดับเรื่องราวว่า ครอบครัวจะค่อนข้างเป็นที่รู้จักในชุมชน เพราะตั้งแต่รุ่นทวด เป็นนายด่านศุลกากร พ่อเป็นตำรวจ เวลามีงานประเพณีของชาวมุสลิม ครอบครัวก็จะไปร่วมงานเสมอ ที่บ้านเราเป็นบ้านสวน จะมีบ่อน้ำ คนมุสลิมจะเข้ามาขอตักน้ำไปใช้ เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนในบ้าน จะมีชื่อภาษายาวี ที่ชาวบ้านตั้งให้ “อย่างออมมีชื่อภาษายาวีว่า รอปีย๊ะ แปลว่าผู้ที่มีความมั่นคงในจิตใจ พ่อกับแม่ พูดภาษายาวีได้ เวลาจะนินทาลูกๆ ก็จะพูดเป็นภาษายาวี เราก็จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่รู้แล้วว่า เนี่ยกำลังนินทาลูกสาวชายแดนด้ามขวานหัวเราะ

    ชีวิตในวัยเด็ก เธอไม่ได้รับรู้การทำงานของตำรวจมากนัก พ่อเป็นตำรวจชั้นประทวน ทำงานตำรวจสื่อสาร อยู่ประจำห้องวิทยุ เลิกเรียนก็จะเดินมารอพ่อที่โรงพัก นั่งดูพ่อทำงาน และกลับบ้านพร้อมกันทุกวัน โดยจะชอบไปยืนดูชาร์ทผังผู้บังคับบัญชาว่า ใครเป็นใคร ชอบท่องชื่อ ชอบจำ ช่างสงสัยและช่างถาม

    หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ในสายวิทย์ ทั้งที่ไม่ได้ชอบนัก เพราะเป็นเด็กกิจกรรม แต่เลือกเรียนด้วยค่านิยมของเด็กต่างจังหวัด เมื่อต้องเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนๆต่างสอบติดในคณะที่ควรจะไปของเด็กสายวิทย์ แต่ตัวเธอเอง ไม่ติดคณะใดเลย รู้สึกเคว้งมาก พอตั้งหลักได้ ก็มองหาที่เรียน ยุคนั้นยังมีค่านิยมของการเรียนนิเทศศาสตร์อยู่ ตัดสินใจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เลือกในสาขาวารสารศาสตร์ เพราะรู้สึกว่า ชอบการเขียน เรียนทางนี้ น่าจะตอบโจทย์ตัวเองมากกว่า

    การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในยุคของการแข่งขันด้านวิชาชีพ มหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนก็มีคณะทางด้านนิเทศศาสตร์เป็นตัวเลือกของตลาดแรงงาน เธอตั้งเป้าหมายให้ตัวเองว่า จะต้องเรียนให้ได้เกียรตินิยม เพื่อจบมาแล้ว จะได้ถูกเลือกรับเข้าทำงาน

    เริ่มฝึกงาน ตั้งแต่ปี 2 ซึ่งเร็วมาก เพราะอยากหาประสบการณ์ เดินไปขออาจารย์ ส่งไปฝึกงานโรงพิมพ์ของเพื่อน ตอนนั้น คือ ทำหน้าที่ถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ ไม่ได้มีงานเขียนอะไรเลย แต่มันก็ทำให้เราได้เห็นโลกของการทำงานจริงๆ ว่าเขาอยู่กันยังไง สำหรับเด็กปี 2 คนหนึ่ง ก็ถือว่าได้เยอะนะว่า โลกจริงๆ มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป

    IMG_1666

    ช่วงที่เรียน ปรากฏว่า มีนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชนมาสอน ทำให้นักศึกษาสาวเกิดความรู้สึกสนใจ และชื่นชอบการทำข่าวในสไตล์มติชนที่เข้มข้นน่าติดตาม กลายเป็นแรงบันดาลใจ อยากไปฝึกงานที่นั่น พอปิดเทอมปี 3 จึงไปขอฝึกงานตามที่ตั้งใจไว้ ได้ไปอยู่โต๊ะ เฉพาะกิจ ฝึกงานเพียง 2 วัน ก็ได้รับมอบหมายให้ไปติดตามทำข่าวคดีสำคัญคดีหนึ่ง

    จันทรพรเล่าว่า พี่คนรับเข้ามาฝึกงาน เอาจดหมายฉบับหนึ่งมาให้ เป็นจดหมายที่ลงในคอลัมน์หัวข้อว่า จดหมายจากแดน 5 ซึ่งเราเพิ่งอ่านมาจากหนังสือพิมพ์มา และรู้สึกว่าน่าสนใจ เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่เรียนจบวิศวะฯ เขียนจดหมายมาจากในคุกบางขวาง ถูกตำรวจจับกุมพร้อมกับพ่อในคดีจำหน่ายยาเสพติด เขาอ้างว่าเขาถูกบังคับให้รับสารภาพ แม้ตอนนั้น จะไม่มีความรู้อะไรเลย ทั้งเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หรือด้านคดี ไม่รู้แม้กระทั่งว่าอัยการคืออะไร แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปตามคดีนี้ ก็พยายามทำอย่างเต็มที่

    เธอไปติดต่อที่เรือนจำบางขวาง บอกวัตถุประสงค์กับเจ้าหน้าที่ตรงๆ ขอคุยกับคนที่เขียนจดหมาย ก็ได้พูดคุยกันในห้องพบญาติ ผ่านโทรศัพท์ จดข้อมูลที่คุยกัน หลังจากนั้นก็ไปคุยกับญาติ ไปคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ คือ ...ดุษฎี อารยวุฒิ ตอนนั้นตำแหน่งอยู่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ เป็นตำรวจคนแรกที่ได้คุยในการทำงาน “การสั่งงานของหัวหน้าเรา เหมือนสั่งคนที่มีประสบการณ์แล้ว มันยากนะ แต่นั่นเป็นการฝึกที่ดี เพราะได้ใช้ความพยายามจนสำเร็จ ได้ฝึกทั้งความคิด ทั้งทำการบ้าน ไปหาความรู้ ในสิ่งที่ไม่รู้ให้มากขึ้น และได้ตามคดีนี้จนคดีถึงที่สุด

    15977246_10212032331142840_2624128542812776808_n

    ข่าวชิ้นนั้น ถือเป็นข่าวชิ้นแรกได้ตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่ง แม้จะไม่ใช่หัวไม้ แต่สื่ออื่นหันมาเล่นข่าวตาม เป็นความภูมิใจสำหรับเด็กฝึกงานคนหนึ่งกับหนังสือพิมพ์ในอุดมคติ ที่ได้รับโอกาสให้ทำงานที่ท้าทาย กระทั่งขึ้นชั้นปี 4 ตัดสินใจกลับมาฝึกงานที่มติชนอีกครั้ง ก่อนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ครอบครัวอยากให้กลับไปทำงานที่บ้าน แต่ใจที่เริ่มรักงานข่าว และอยากทำงานที่มติชน แม้ตอนนั้นยังไม่มีเปิดรับ เธอจึงไปทำงานที่ “อีไฟแนนซ์” เว็บไซต์ข่าวสายเศรษฐกิจ การเงิน ที่สมัครไว้ก่อนเรียนจบ ไม่ได้ตรงกับความถนัดของตัวเอง ต้องส่งข่าวแบบเรียลไทม์ เพื่อให้นักลงทุนประเมิน ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านการเงิน ตลาดทุน ทุกคนจะใช้ทับศัพท์กันหมด นักข่าวแหล่งข่าวคุยกันในภาษาที่เธอเข้าไม่ถึง แม้พยายามแก้จุดบกพร่องตัวเอง หาหนังสืออ่าน ศัพท์ที่ไม่รู้

    สาวปัตตานียอมรับว่า ไม่ใช่ฟีลเรา จึงเริ่มส่งใบสมัครงานไปที่อื่น และได้ไปทำที่ผู้จัดการออนไลน์ ยุคแรก ๆ ที่เริ่มมีการทำข่าวออนไลน์ เน้นการทำงานในออฟฟิศ ไม่ตอบโจทย์ตัวเองที่อยากทำข่าวภาคสนามมากกว่า ทำได้ไม่ถึงเดือน พี่ที่มติชนโทรมาถามว่า สนใจทำข่าวโต๊ะอาชญากรรมหรือไม่ ไม่ลังเลที่จะตอบตกลง โดยให้ไปอยู่ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็เป็นเหมือน จเรของโต๊ะ ส่วนไหนคนขาด ก็โยกไปช่วยทำ

    วันแรกให้ไปช่วยที่ ปส. เฝ้าผู้ต้องหา เจไอ และเคส เล่าต๋า แสนลี่ ที่เรือนจำสันติบาล ไปนั่งเฝ้า นั่งคุยหน้าเรือนจำ ก็ได้ข่าวกลับมา ได้เรียนรู้ว่า บรรยากาศก็เขียนให้เป็นข่าวได้

    15781058_1621043467911291_1545625959495645863_n

    จากนั้นไม่นาน รุ่นพี่นักข่าวที่อยู่ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าไปอยู่ในออฟฟิศ จันทรพรจึงประจำอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเต็มตัว ในยุค พล...สันต์ ศรุตานนท์ เป็นผู้นำ ต้องปรับตัว และทำการบ้านมาก ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับนักข่าวฉบับอื่นๆ ในตอนนั้น เห็นโลกของการทำงาน ที่ทุกคน คือ ตัวจริงหมด ไม่มีใครจะมาคอยสอนคอยบอก นักข่าวรุ่นพี่หลายคนเคยวิ่งตระเวนมาจะเติบโตมาพร้อมกับแหล่งข่าว ทำให้มีแหล่งข่าวที่สามารถเช็กข่าวได้ ในขณะที่เธอต้องใช้วิธีครูพักลักจำ ฝึกจากความไม่รู้

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเรื่องของการเมือง และการบริหาร ถึงพ่อจะเป็นตำรวจ แต่ไม่ใช่นักเรียนนายร้อย เราก็จะไม่เข้าใจเรื่องรุ่น ก็ขึ้นไปห้องสมุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติชั้น 15 ไปนั่งอ่านทำเนียบรุ่น ใครรุ่นไหน ฉายาอะไรกัน ต้องจด เวลาพี่ๆไปทานข้าวกับแหล่งข่าว ถ้าไปได้ ออมก็จะไป แล้วนั่งสังเกต คนนี้เรียกกันชื่อนี้ เรียนตำรวจมารุ่นนี้ๆ ตอนนั้นจำได้ว่า มีข่าวการตั้งกรรมการสอบ ด้วยความที่ออมไม่รู้ว่า มีกระบวนการ วันเวลา ก็ขึ้นไปรอที่สำนักงานของคนที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบทุกวันเลย เพราะไม่รู้ว่าควรไปตามที่ห้องประชุม พอกลับมาคิดตอนนี้ ก็ขำตัวเอง ขึ้นไปทำไม แต่ความผิดพลาดก็ดี ตรงที่ทำให้ออมจำ และรู้ว่าจะทำให้มันดีขึ้นได้ยังไง

    ความกดดันในการทำงาน ทำให้พยายามสร้างจุดแข็งให้ตัวเอง โชคดีที่ตอนนั้น มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาใช้ ...ตำรวจ ปี 2547 ส่งผลให้เธอมีโอกาสศึกษาข้อกฎหมาย เหมือนโตไปพร้อมกับโครงสร้าง ซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อจะได้คุยกับแหล่งข่าวได้รู้เรื่อง หรือนำไปเขียนงานได้ เพราะมติชน จะให้พื้นที่การเขียนสกู๊ป เขียนวิเคราะห์ มีรุ่นพี่ที่มติชนสอนเสมอว่า การรู้หลักทุกอย่าง คือพื้นฐานให้กับตัวเอง เพื่อจะได้รู้ว่า อะไรที่ผิดไปจากนี้ ไม่ใช่

    15726663_1606967355985569_3419504605020533933_n

    คนข่าวหนังสือพิมพ์ค่ายมติชนมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกลางอากาศ ระหว่าง พล...สันต์ กำลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ต้องไปดักรอรับเพื่อสัมภาษณ์ที่สนามบินดอนเมือง และได้ทำข่าวแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติครั้งแรก ยุค พล...โกวิท วัฒนะ พาเธอเห็นภาพการเมืองภายในองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กว้างขึ้นตามความผันผวนของนักการเมืองระดับผู้นำประเทศ

    นับมาจากปี 2546 ที่ได้เริ่มต้นอาชีพนักข่าวเต็มตัว ประจำอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นปมอยู่ในใจเธอ เมื่อมีพี่ตำรวจที่สนิทกัน ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าเรื่องราวของนายตำรวจหนุ่มคนหนึ่ง และอยากให้ไปทำข่าวการทำงานของเขา คือ ผู้กองแคน ...ธรณิศ ศรีสุข หัวหน้าชุด ตชด. ฐานปฏิบัติการเขื่อนบางลาง นักรบจู่โจมที่มีผลงานยอดเยี่ยม ทำชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับทางการมากขึ้น ทว่ายังไม่มีโอกาสได้ไปทำข่าว ผู้กองแคนถูกยิงเสียชีวิต

    พี่เขาถามออมว่า รู้ไหมตำรวจคนที่จะให้มาทำข่าว นำเสนอชีวิตเขา คือผู้กองแคน สุดท้ายออมไม่ได้ไปทำข่าว เพราะตอนนั้นคิดว่าถ้านำเสนอออกไป ตัวเขาอาจจะเดือดร้อนก็ได้จนมาถึงเคสจ่าเพียร สมเพียร เอกสมญา มาร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ทำข่าวนี้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้นำเสนออะไรลึกซึ้งมากมาย หลังจากนั้นไม่นานจ่าเพียรเสียชีวิต ออมร้องไห้ ทั้งที่ทำมากกว่าเดิม มันรู้สึกแย่ ตำรวจไม่ดี มี แต่ตำรวจที่ดีก็มีเยอะ คนที่เลือกมาเป็นตำรวจอย่างน้อย ตั้งใจดี เคสจ่าเพียรชัดเจนมาก ใครๆก็ยกย่อง ข่าวนี้มันสะท้อนอะไรหลายอย่าง พิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบ ทำลายชีวิต”

    15726415_10155285760253465_5165980339198659634_n

    ครั้งนั้นกลุ่มนักข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถนำเสนอข่าวอะไรได้มากนัก แต่เลือกทำเสื้อ จ่าเพียร 12 มี..53” เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก การทำงานข่าวอยู่กับตำรวจ อยู่กับการแต่งตั้ง พยายามสื่อความหมายมากกว่าแค่เสื้อตัวหนึ่ง ต่อไปถ้าอะไรที่ทำได้มากกว่านี้ เธอจะทำทันที คือ การให้กำลังใจกันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เขายังรับรู้ได้ มันรู้สึกดีกว่า

    ขณะเดียวกัน ข่าวที่มีคุณค่าในจิตใจเป็นความประทับใจที่สุดในชีวิตของจันทรพรกลับไม่ใช่ข่าวซีฟ ข่าวคดีสำคัญใด เธอจำแม่นว่า พล...ปิยะ อุทาโย เป็น ผู้บัญชาการสารนิเทศ โทรศัพท์มาบอกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสรับสั่ง เรื่องการปรับขบวนเสด็จ จะทำอย่างไร ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด เราก็เอาคู่มือไปอ่านแล้วเขียนเป็นข่าว เขียนอย่างระมัดระวังทีเดียว เพราะเราไม่แม่นราชาศัพท์ นำเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริว่าไม่อยากให้รถติด มีแนวทางขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไม่ต้องปิดถนนนาน ไม่ต้องปิดอะไรทั้งหมด ถ้าไม่ใช่พระราชพิธี “ออมเขียนไปตามรายละเอียดที่ได้รับมา ไม่ได้คิดอะไร พอข่าวออกไป พล...ปิยะ บอกว่า ออม พระองค์ท่านทอดพระเนตรแล้ว รับสั่งว่า ขอบใจมาก คือ ออมรู้สึกว่า ออมก็ไม่ได้ทำอะไร แค่ทำข่าว เป็นหน้าที่เราอยู่แล้ว แต่คำพูดคำเดียว ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน เราเพียงแค่ละอองธุลี เธอบรรยายด้วยน้ำเสียงจริงจังน้ำตาซึม

    ปัจจุบัน จันทรพร ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปในเส้นทางสายงานข่าว เป็นนักข่าว ดูแลรับผิดชอบประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวในประเทศ ดูข่าวกระบวนการยุติธรรม กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และยังดูแลเว็บไซต์ข่าวมติชน รับผิดชอบส่วนข่าวในประเทศ เธอว่า การไปหาแหล่งข่าว ไม่ใช่จะได้ข่าวทุกครั้ง บางครั้ง คือ ได้เพื่อน ได้มิตร ได้ความรู้ แหล่งข่าวแรกๆ อาจจะยังไม่เปิดใจ ยังไม่เชื่อใจเรา การอยู่กับตำรวจ บางครั้ง คือ การเชื่อใจกัน การจะบอกอะไรกับเรา เขาจะพูดโกหกกับเราก็ได้ เราก็ไม่อยากได้ เราอยากได้ความจริง แต่ก็ใช่ว่าเมื่อรู้แล้ว เราจะพูดความจริงออกไปได้ทุกอย่าง

      15622092_10153978023996481_6222911092902073363_n

    จันทรพรทิ้งแง่คิดว่า ทำงานข่าวอยู่ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในองค์กรที่เสมือนเป็นเสาหลักความมั่นคงแท่งหนึ่ง แหล่งข่าวล้วนเป็นข้าราชการระดับผู้ใหญ่ อะไรที่เราเสนอไป ถ้ามันเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติก็ต้องชั่งน้ำหนัก ต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอ เหมือนเรื่องของภาคใต้ ออมเป็นคนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ ไม่อยากให้ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้น ตั้งใจที่จะทำอะไรให้ได้มากกว่านี้ แต่ในบทบาทการเป็นสื่อ บางครั้งมันละเอียดอ่อนกว่าที่คิด บางครั้งก็ดูหยาบกว่าที่คิด มันไม่ได้เหมือนในหนังที่เราจะไปบู๊ แต่ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าแค่การนำเสนอข่าวออกไป นักข่าวก็คล้ายๆ ตำรวจ เพราะเป็นงานที่ใกล้ชิดคน ได้เห็นความเดือดร้อนของคน ทั้งคนที่ได้ คนที่เสีย เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนชอบ ไม่ชอบ ถามว่าที่ทำอยู่ ถึงจะมีบางจุด ที่ทำให้ออมท้อ หมดไฟ สุดท้ายก็จะพยายามดึงตัวเองกลับมาคิดบวก เพราะเรายังรักที่จะทำงานในอาชีพนี้

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments