AIS อุ่นใจ Cyber จับมือ ตำรวจไซเบอร์ ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันคนไทยห่างไกลภัยไซเบอร์
ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในวัน Safer Internet Day 2022
ตอกย้ำเป้าหมายการใช้งาน “อยู่กับ AIS ปลอดภัยที่สุด”
วันที่8 กุมภาพันธ์65: AIS อุ่นใจ Cyber จับมือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยให้มีความเข้าใจด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยห่างไกลภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพ
ในวัน Safer Internet Day มุ่งเน้นการสื่อสารอย่างตรงประเด็นเน้นย้ำ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมยกระดับเครื่องมือการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย
AIS Secure Net บริการที่ช่วยแจ้งเตือน และปกป้องคุณจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งทางเครือข่ายมือถือและเน็ตบ้านสำหรับลูกค้า AIS
รวมถึงบริการ Google Family Link สำหรับลูกค้าทุกเครือข่าย ที่ผู้ปกครองสามารถ ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ รวมถึงดูแลความปลอดภัยจากพิกัดปัจจุบันของบุตรหลานได้ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS อธิบายว่า
“ในปี 2564 ที่ผ่านมา จากการเก็บข้อมูลของ AIS อุ่นใจ Cyber มีภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้อินเตอร์เน็ตที่หลากหลายรูปแบบซึ่งสร้างความเสียหายให้กับคนไทยและลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยยังคงมีคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อเนื่องจากขาดภูมิคุ้มกันในการรับมือกับกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวมากับสถานการณ์ของบ้านเมืองในรูปแบบต่างๆ
เราจึงถือโอกาสพิเศษในวัน Safer Internet Day จับมือกับตำรวจไซเบอร์ ร่วมกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากอาชญกรรมทางเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ผ่านการสื่อสารไปยังกลุ่มประชาชนร่วมกัน
นอกจากนี้ AIS ยังมีเครื่องมือที่เป็นเสมือนกับเกราะป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ที่เปิดให้บริการสำหรับลูกค้าได้ใช้งานฟรีกับ AIS Secure Net บริการที่ช่วยแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งบนเครือข่ายมือถือและเน็ตบ้าน ที่วันนี้มีลูกค้าใช้งานแล้วกว่า 142,016 คน
สามารถป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น สแปม ฟิชชิ่ง ไวรัสต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์กับบริการ Google Family Link สำหรับลูกค้าทุกเครือข่าย ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือของบุตรหลานให้อยู่บนความปลอดภัยและสร้างสรรค์”
ด้าน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. กล่าวว่า
ในปีที่ผ่านมามีคดีความทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นกว่า 4,239 คดี คิดเป็นเม็ดเงินที่สร้างความเสียหายมากกว่า 7,000 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน ด้านการขายสินค้าออนไลน์/สินค้าผิดกฎหมาย การเผยแพร่ข่าวปลอม การแฮ็กระบบ การพนันออนไลน์ หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ
ทั้งหมดเป็นผลมาจากการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างผิดวิธี ขาดสติยั้งคิดของทั้งมิจฉาชีพและเหยื่อผู้เสียหายที่รู้ไม่เท่าทัน
ด้วยภารกิจของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการเริ่มต้นทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่าง AIS ที่เห็นความสำคัญของภัยจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ ในการร่วมกันสื่อสารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนไทยห่างภัยไซเบอร์
วันนี้อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นเสมือนกับเชื้อโรคที่สร้างผลกระทบให้กับทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน เราต้องร่วมกันฉีดวัคซีนทางความรู้ให้ประชาชนมีสติรู้เท่าทันโดยต้อง ไม่เชื่อ สรรพคุณอวดอ้างหรือการชักจูงทั้งในทุกรูปแบบ ไม่รีบ ตัดสินใจพูดคุยให้ข้อมูลส่วนตัวหรือตกลงเพราะความกลัว สุดท้ายต้องไม่โอนเด็ดขาด หากเข้าใจและนำ 3 ไม่ คือ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ไปใช้ในการรับมือ ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้เราปลอดภัยจากโลกไซเบอร์”