วันที่31 พ.ค. 65เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT: Police Cyber Taskforce, พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผอ.PCT, พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธ์ุ ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. รอง หน.ชุดปฏิบัติการที่ 1 PCT
ร่วมแถลงผลการจับกุมรวบแก๊งจีนไต้หวัน หลอกลงทุนคริปโตเคอเรนซี ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ผู้เสียหายชาวจีน และจีนไต้หวันกว่า 500 ราย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า
คดีนี้ ชุดปฏิบัติการที่ 1 PCT นำโดย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8 ร่วมกับ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. ตรวจพบชาวจีนไต้หวันกลุ่มหนึ่งมีพฤติการณ์น่าสงสัย (เนื่องจากเข้ามาด้วยวีซ่าทำงานในมูลนิธิการกุศล แต่กลับจะเดินทางไปเที่ยวเกาะสมุย)
จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า ในกลุ่มคนดังกล่าวมีบุคคลที่มีหมายจับจากต่างประเทศ 2 คน ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนผ่านโทรศัพท์และระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต”
ชุดสืบสวนเฝ้าติดตามจนทราบว่า คนกลุ่มนี้พักอาศัยอยู่ตึกแถว ในเขตประเวศ กรุงเทพฯ โดยจะเก็บตัวอยู่แต่ภายในตึกทั้งวันทั้งคืนไม่ออกไปไหนเป็นที่น่าสงสัย
ต่อมา วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้นำหมายค้นศาลอาญาพระโขนง เข้าตรวจค้นพบผู้กระทำความผิดพร้อมของกลาง ดังนี้
1. ผู้ต้องหา 6 ราย (เป็นบุคคลตามหมายจับจีนไต้หวัน 2 ราย)
2. คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 7 เครื่อง
3. โทรศัพท์มือถือ 45 เครื่อง
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและโทรศัพท์มือถือพบว่า กลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่น (คนจีนไต้หวัน) ในรูปแบบหลอกให้ร่วมลงทุนเหรียญสกุลเงินดิจิทัล และรับแลกเปลี่ยนเงินผิดกฎหมาย
มีการแบ่งหน้าที่กันทำและใช้บัญชีธนาคารสัญชาติจีนเป็นเส้นทางการเงินในการกระทำความผิด
จับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต” ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และผู้ต้องหาที่ 6 ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.ธนิตฯ ผบก.สส.สตม. กล่าวว่า หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดคดีถึงที่สุดแล้ว สตม. จะเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และผลักดันออกนอกประเทศ รวมถึงจะบันทึกข้อมูลบุคคลต้องห้ามไม่สามารถเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีกต่อไป
พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และหัวหน้าคณะทำงานสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ กล่าวด้วยว่า สถิติคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ ผบ.ตร. สั่งให้มีศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 29 พ.ค.65 พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความแล้ว 30,029 ราย
คดีที่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่
1.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 10,603 คดี แนะนำให้ เลือกซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือหรือรู้จักเท่านั้น
2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ (เช่น ให้รีวิวสินค้า,กดไลท์ Tiktok, กดไลท์สินค้า) 3,666 คดี ซึ่งช่วงนี้มีการระบาดหนักมาก ขอเตือนว่างานที่การันตีรายได้วันละ 500-1,000 บาท ส่วนมากไม่มีอยู่จริง อย่าเชื่อข้อความจากคนที่ไม่รู้จัก และขอแนะนำให้สมัครงานกับบริษัทที่จดทะเบียนเท่านั้น
3.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 2,993 คดี โดยเราพบว่า ข้อความอนุมัติวงเงินกู้จากคนที่ไม่รู้จักส่วนมากจะเป็นมิจฉาชีพ และขอฝากให้ประชาชน ติดตามจาก เพจ PCT Police เพื่อรู้ทันความคิดของคนร้าย ซึ่งคณะทำงานจะผลิตสื่อหรือคอนเท้นท์เตือนภัยในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งคนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 หรือ 191 ทั่วประเทศ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com