ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ของจีน ที่มีหนี้ยสิน 2.39 ล้านล้านหยวน(333,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประกอบกับประสบความล้มเหลวในการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ ถูกศาลฮ่องกงส่งชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
จากคดีที่ ท็อป ไชน์ โกลบอล ลิมิเต็ด เจ้าหนี้ต่างประเทศได้ยื่นฟ้องต่อศาลฮ่องกง เมื่อเดือนมิ.ย.2565 โดยผู้พิพากษาศาลฮ่องกงได้แต่งตั้งนายเอ็ดเวิร์ด มิดเดิลตัน และ นางสาวทิฟฟานี หว่อง ตัวแทนจากบริษัทปรับโครงสร้าง อัลวาเรซ แอนด์ มาร์แชล เป็นผู้ชำระบัญชีของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งหว่องเปิดเผยว่า พวกเขาจะเริ่มต้นดำเนินการโดยเรียกประชุมผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจกิจการและโครงสร้างของบริษัท และหารือเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป
“ชำระบัญชี” คือ ศาลสั่งให้เอเวอร์แกรนด์ต้องถูกผู้ชำระบัญชีเข้ายึดเอาทรัพย์สินไปขายแล้วนำเงินไปชำระหนี้
แต่ที่หลายคนสงสัยและนักลงทุนจับตามอง คือ คำตัดสินของศาลฮ่องกง จะบังคับใช้กับเอเวอร์แกรนด์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้ว่าเอเวอร์แกรนด์นำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และระดมทุนโดยขายตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศผ่านฮ่องกง
แต่เอเวอร์แกรนด์ จดทะเบียนตั้งบริษัทและมีทรัพย์สินส่วนใหญ่บนผืนจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนอกเขตอำนาจศาลฮ่องกง
ในแง่กฎหมายคำตัดสินของศาลฮ่องกง อาจปูทางให้ผู้ชำระบัญชีพยายามเข้าควบคุมทรัพย์สินบางส่วนของเอเวอร์แกรนด์ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เนื่องจากฮ่องกงกับจีนมีข้อตกลงการยอมรับคำตัดสินข้ามพรมแดน เกี่ยวกับล้มละลายและปรับโครงสร้างหนี้ ที่สามารถบังคับใช้ได้ในบางพื้นที่ของจีน
แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ศาลของจีนแผ่นดินใหญ่จะยอมรับคำสั่งเลิกกิจการของศาลฮ่องกงในคดีเอเวอร์แกรนด์มากแค่ไหน และจะบังคับอย่างไร
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2564 ผู้ชำระบัญชีในฮ่องกงสามารถขอความช่วยเหลือจากจีนในการเข้าควบคุมทรัพย์สินในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยเฉพาะใน 3 เมือง คือ เซี่ยงไฮ้ เซี่ยเหมิน และเสิ่นเจิ้น ทางจีนแผ่นดินใหญ่สามารถปฏิเสธคำขอได้ หากมองว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ นับตั้งแต่มีข้อตกลงนี้ ทางการจีนยอมรับคำสั่งศาลฮ่องกงเพียง 1 คดีจากทั้้งหมด 5 คดี
ที่สำคัญคือโครงการของเอเวอร์แกรนด์หลายแห่งดำเนินการโดยหน่วยงานของท้องถิ่น ที่ประชาชนหลายล้านคนเป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นเรื่องยากที่ผู้ชำระบัญชีจากนอกประเทศจะเข้ามายึดอายัดทรัพย์สินบนจีนแผ่นดินใหญ่ได้
นายชอว์น ซิ่ว ผู้บริหารระดับสูงของเอเวอร์แกรนด์ แถลงหลังทราบคำสั่งศาลฮ่องกงว่า บริษัทจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีการส่งมอบโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีนอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งภายในและนอกจีนจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินครั้งนี้
ส่วนนักธุรกิจต่างประเทศตลอดจนนักลงทุนมองว่า สถานการณ์เช่นนี้ ศาลจีนอาจจะปฏิเสธคำตัดสินโดยอ้างจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ และยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่าคำตัดสินของศาลฮ่องกงจะได้รับการยอมรับจากศาลจีนในแผ่นดินใหญ่ 3 เมือง ยากที่จะดำเนินการตามกระบวนการชำระบัญชี
เนื่องจากผู้ชำระบัญชีไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์บนจีนแผ่นดินใหญ่ หรือจะทำได้อย่างมากที่สุดแค่เข้าควบคุมอายัดทรัพยสินของเอเวอร์แกรนด์ในฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพียง25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น
วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีนครั้งนี้ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเฮดจ์ฟันจ์เฮย์แมน แคปิตอล นายไคล์ บาสส์ ระบุว่า
การที่จีนพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ส่งผลให้เกิดวิกฤติคล้ายกับวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ปี 2551แต่เป็นขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า โดย จีนกู้ยืมเงินธนาคารมากกว่าสหรัฐฯ 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับตอนที่สหรัฐฯเผชิญวิกฤติการเงินในตอนนั้น
เปรียบเทียบกับวิกฤติการเงินสหรัฐฯปี 2551 ระบบการธนาคารสหรัฐฯสูญเสียรวม 8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนประเมินว่าตอนนี้มีหนี้สินรวมกัน 13 ล้านล้านดอลลาร์
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ อาร์เธอร์ ลาฟเฟอร์ บอกว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤติหนี้ โดยในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ทั่วโลกมีหนี้รวม 307.4 ล้านล้านดอลลาร์ นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้ง้ประเทศร่ำรวยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นอยางมากรวม 100 ล้านล้านดอลลาร์ วิกฤติหนี้คาดว่าจะขยายตัวต่อไปอีกในระยะ 10 ปี เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
สิบปีข้างหน้าจะกลายเป็น “ทศวรรษแห่งหนี้”
ขณะนี้สัดส่วนหนี้ทั่วโลกต่อจีดีพีขยับขึ้นเป็น 336%ต่อจีดีพี เที่ยบกับค่าเฉลี่ย 110% ต่อจีดีพีของประเทศพัฒนาแล้วในปี 2555และ 35% สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
เพื่อจะชำระหนี้จะทำให้ประมาณ 100 ประเทศต้องตัดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านสังคมลง อาทิ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันปัญหาทางสังคม เป็นต้น
ประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ก่อหนี้รวมกันเกิน 80% ของหนี้ที่เกิดขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2566 ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่าง จีน อินเดีย และบราซิล ก่อหนี้เพิ่มมากที่สุด
การชำระหนี้จะกลายเป็นปัญหามากขึ้น เนื่องจากประชากรของประเทศพัฒนาแล้ว แก่ชราภาพลงต่อเนื่อง แรงงานในตลาดจะขาดแคลนมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ทุบโต๊ะ มีเพียง 2 ทางในการแก้ปัญหา ทางแรกคือ ขึ้นภาษี ส่วนอีกทางหนึ่งคือ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วกว่านี้
มันจะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อ 2 ทางแก้ มันย้อนศรกัน
เมื่อยักษ์ใหญ่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนล้มครืน หญ้าแพรกอย่างประเทศเล็กๆ อย่างไทยเราจะหลบให้พ้นวิถี ไม่ให้ราพณาสูรไปได้อย่างไร
แต่ว่าเดชะบุญที่ผู้นำไทยเวลานี้ มาจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแถวหน้า ไม่เคยล้มเหลวด้านธุรกิจนี้มาก่อน
คงพอจะมีกลเม็ดเด็ดพรายไว้รับมือปัญหาวิกฤติหนี้ได้บ้างหรอกมั้ง
ดอนรัญจวน 11/2/2567