อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
แวะมาเรื่องการบ้านการเมืองกันบ้างนะครับ หลังจากกรณีดงขมิ้นจีวรบินดูท่าทางจะจบยากเป็นหนังเรื่องยาวแน่ๆ
ที่ต้องแวะคุยเรื่องการเมืองสักหน่อยเพราะที่ผ่านมา อะไรๆในบ้านเมืองมันวุ่นวาย แม้แต่อำนาจที่ค้ำวงการสงฆ์จนผิดรูปผิดร่างอย่างทุกวันนี้ก็เพราะ “การเมือง” ล้วนๆ
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก สวมวิญญาณนักคณิตศาสตร์คำนวณถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 ว่ามีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
ผมคัดมาทั้งดุ้นให้ลองอ่านกันดูครับว่าเห็นด้วยหรือไม่ อาจารย์สมชัย เขียนไว้ว่าดังนี้ครับ
โอกาสได้เลือกตั้ง ก.พ.ปี ๖๒ มีร้อยละ ๓๐
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พรป.ส.ส.ไม่มีส่วนใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาถึงขั้นตอนต่างๆที่ต่อเนื่องจากนี้ไป จะมีขั้นตอนดังนี้
๑. ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรกลับถึงประธาน สนช.
๒. ประธาน สนช. ส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี
๓. นายกรัฐมนตรีนำร่าง พรป. ทั้งสองฉบับขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธย
๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
๕. การชะลอการบังคับใช้ พรป.ส.ส. ๙๐ วันตามที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของ พรป.ส.ส.
๖. การกำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วันนับแต่ พรป.ส.ส.มีผลการบังคับใช้
ประมาณการเวลา ในขั้น ๑-๓ คือ ๑๕-๓๐ วัน ไม่สามารถทำได้เร็วกว่านี้เนื่องจากมีขั้นตอนทางธุรการที่ต้องใช้เวลา
ประมาณการเวลา ในขั้น ๔ คือ ๓๐-๙๐ วัน ไม่สามารถก้าวล่วงได้ เนื่องจากเป็นพระราชอำนาจ
ประมาณการเวลา ในขั้นที่ ๕ คือ ๙๐ วัน เนื่องจากป็นข้อกำหนดที่ต้องทำตามกฎหมาย
ประมาณการเวลาในขั้นที่ ๖ คือ ๙๐-๑๕๐ วัน โดย กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้
แต่ต้องเร่งรัดการดำเนินงานในขั้นตอนของ กกต.ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และกำหนดระยะเวลาการหาเสียงที่น้อยลง ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต้องเร่งรัดตนเองในเรื่องการทำไพรมารีโหวตเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมัคร
กรณีที่หนึ่ง เวลาน้อยที่สุดที่เป็นไปได้ คือ ๑๕+๓๐+๙๐+๙๐ วัน เท่ากับ ๗ เดือนครึ่งนับแต่ต้นมิถุนายน ๒๕๖๑ การเลือกตั้งจะมีได้ประมาณกลางกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
กรณีที่สอง หากขั้นตอน ๑-๓ ใช้เวลา ๓๐ วัน เวลาที่ใช้ คือ ๓๐+๓๐+๙๐+๙๐ วัน เท่ากับ ๘ เดือน การเลือกตั้ง จะมีขึ้นปลาย กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
กรณีที่สาม หากขั้นตอนที่ ๔ ใช้เวลา ๖๐ วัน เวลาที่ใช้คือ ๓๐+๖๐+๙๐+๙๐ วัน เท่ากับ ๙ เดือน การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒
กรณีที่สี่ หากขั้นตอนที่ ๔ ใช้เวลา ๙๐ วันเวลาที่ใช้คือ ๓๐+๙๐+๙๐+๙๐ วัน เท่ากับ ๑๐ เดือน การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนเมษายน ๒๕๖๒
กรณีที่ห้า หากขั้นตอนที่ ๖ กกต.ใช้เวลา ๑๒๐ วัน วันเวลาที่ใช้คือ ๓๐+๙๐+๙๐+๑๒๐ วัน เท่ากับ ๑๑ เดือน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒
กรณีที่หก หากขั้นตอนที่ ๖ กกต.ใช้เวลาเต็มที่ ๑๕๐ วัน วันเวลาที่ใช้ คือ ๓๐+๙๐+๙๐+๑๕๐ วัน เท่ากับ ๓๖๐ วัน หรือ เดือน มิถุนายน ๒๕๖๒
หากใช้วิธีการคิดทางคณิตศาสตร์แบบหยาบๆ กรณีที่จะเกิดการเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๒ จะมีเพียงแค่ ๒ ทางเลือกใน ๖ ทางเลือกที่เป็นไปได้ โอกาสความน่าจะเป็นจึงมีประมาณ ๑ ใน ๓ หรือประมาณร้อยละ ๓๐
ส่วนที่จะเกิดขึ้นจริงในวันใด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย (ยกเว้นขั้นตอนในพระราชอำนาจที่มิอาจเร่งรัด) ต้องจริงใจในการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้ง โดยหวังว่าคงไม่มีเรื่องการใช้อภินิหารทางกฎหมายใดๆมายื้อการเลือกตั้งออกไปอีก
ครับ…อย่างที่ทราบกันทั่วประเทศว่ารัฐบาลนี้เล่นลิ้นต่อปากต่อเวลายื้อออกไปมาแล้วกี่รอบ
บางคนตั้งคำถามว่าอะไรจะกระเหี้ยนกระหือรืออยากเลือกตั้งจนตัวสั่นขนาดนี้
สำหรับผมนั้นจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ไม่สำคัญหรอกครับ
เพราะต่อให้เลือกตั้งพรุ่งนี้เลย แต่ทหารออกมาถือปืนปฏิวัติรัฐประหารวันถัดไป มันจะมีความหมายอะไรหรือครับ