ย้อนเวลากลับไป40กว่าปี
ในยุทธจักรสีกากี เอ่ยชื่อ “สิงห์เหนือ เสือใต้”เข้าใจทันที สิงห์เหนือ คือชลอ เกิดเทศ เสือใต้ คือ สล้าง บุนนาค
ราวปี23-26 กองปราบปราม สามยอด จัดเป็นดินแดนนักสืบที่มีชื่อเสียง ด้วยอำนาจการสืบสวนสอบสวนจับกุมทั่วฟ้าเมืองไทย ยุคนั้นนายตำรวจ 2คนนี้มีตำแหน่งรองผบก.ป. เป็น2 หัวหอกหน่วยงานอาร์มสวย เสือร้ายที่ว่าโหดเหี้ยมแค่ไหนต้องสยบ คดีไหนที่ว่ายาก เจอ2รองผู้การทำคดีเป็นต้องจบ
แอ๊ด-วิชเลิศ งามขำ อดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรม นสพ.ไทยรัฐ และอดีตนักข่าวไทยรัฐประจำกองปราบปราม เคยให้นิยาม2มือปราบ”ชลอ-สล้าง”ไว้
รองสล้าง จะเก่งเรื่องจับโจรเรียกค่าไถ่ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ทำงานเป็นระบบ ส่วนป๋าลอ จะมีคอนเนคชั่น สายข่าวมากมายในหลายวงการ โดยเฉพาะมือปืนในวงการเพลงลูกทุ่ง
ย้อนดูประวัติ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2480 ที่ อ.เมืองราชบุรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น14
ตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ ผู้บังคับกองโรงพักหาดใหญ่ รองผู้กำกับการ2กองปราบปราม รองผบก.ป. ผบก.ภ.เขต 12 ผู้ช่วย ผู้บัญชาการศึกษา ผู้บัญชาการศึกษา ผู้ช่วยอธิบดีตำรวจ และรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ตามลำดับ
ระหว่างที่รับราชการอยู่นั้น พล.ต.อ.สล้าง ได้รับฉายาว่า “เสือใต้” จากผู้ใต้บังคับบัญชาและนักข่าวเพราะความโชกโชนในพื้นที่ภาคใต้
คดีสำคัญที่ยังกล่าวขานพูดถึงเป็นตำนานคู่กับเสือใต้ นั่นคือคดีโกโหลนพ่อค้าแร่จังหวัดภูเก็ต ถูกคนร้ายลอบยิงตายระหว่างขับรถไปดูที่ดิน พร้อมกับนายปรีดี สุจริตกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี29 เป็นคดีโด่งดังซับซ้อนซ่อนปม ชิงไหวชิงพริบหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างตำรวจกับตำรวจในขณะนั้น
อีกคดีนั่นก็คือ กรณีวิสามัญ6ศพ โจ ด่านช้าง ที่สุพรรณบุรี เมื่อปี39
ภาพคนร้ายทั้ง6คน ถูกใส่กุญแจมือและถูกเจ้าหน้าที่พาเดินลุยน้ำมาจนถึงฝั่งแต่เจ้าหน้าที่กลับพาคนร้ายเข้าไปในบ้านอีกรอบ จากนั้นประมาณ 20 นาทีได้เกิดเสียงปืนดังรัวขึ้นและคนร้ายทั้งหมดได้ถูกวิสามัญฆาตกรรม
หลังเกิดเหตุฝ่ายตำรวจให้การว่า คนร้ายได้ขอให้ตำรวจนำตัวกลับเข้าในบ้านอีกรอบ เพื่อค้นหาอาวุธของกลาง ตำรวจจึงพากลับไปตามที่ร้องขอ แต่ระหว่างค้นหาอาวุธ หนึ่งในคนร้ายได้หยิบปืนที่ซ่อนไว้ขึ้นมาต่อสู้ เจ้าหน้าที่จึงต้องวิสามัญฆาตกรรม
นั่นคือภาพจำของ เสือใต้–สลัาง บุนนาค ก่อนเกษียณอายุราชการและจบชีวิตเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 61 ด้วยการกระโดดฆ่าตัวตายจากชั้น 7 ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในวัย 82 ปี
ขณะที่ สิงห์เหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หรือทุกคนเรียกกันติดปากว่า “ป๋าลอ” ก็สร้างชื่อเสียงในการปราบปรามโจรร้ายอย่างไม่แพ้กัน ยุคหนึ่งยิ่งใหญ่ถึงเรียกว่าเป็นอธิบดีน้อย เพราะเป็น ฉก.มหาดไทย
ป๋าลอ เกิดเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2481 โรงพยาบาลพระมงกุฎ กรุงเทพมหานคร ชั้นมัธยม จบการศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร รุ่น500
ปี พ.ศ.2498-2499 อายุย่าง17-18 ปี สอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อยจปร.รุ่นที่ 17 (อีก2ปีต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร)
แต่ด้วยความรักเป็นนักกีฬา คะแนนอยู่ในกลุ่มท้ายๆ ถูกโอนไปเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 15 รหัสประจำตัว1110009 ก่อนจบฝึกงานอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาล นางเลิ้ง
พ.ศ.2504 รับพระราชทานกระบี่ ติดยศร้อยตำรวจตรี รับราชการครั้งแรกเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง รองสารวัตร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพังงา รองสารวัตร สถานีตำรวจภูธร อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ปี 2507 รองสารวัตร โรงพักท่าบ่อ จ.หนองคาย รองผู้บังคับกองฝ่ายสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ
พ.ต.ต. หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอ่างทอง หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระนครศรีอยุธยา ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี
รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บังคับการกองปราบปราม มีผลงานปราบปรามอาชญากรรมได้มากมาย
ติดยศนายพล ผู้บังคับการตำรวจภูธร เขต8 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจศึกษา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ
นอกจากงานตำรวจแล้ว ชลอยังเคยเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปี 2525- 2538) และผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ยิ่งใหญ่ถึงขนาดไปชนะจีนถึงถิ่น 1-0 เมื่อปี 2533 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1990 ได้ที่4กลับมา
ภาพจำคือคดีเพชรซาอุ จับกุมเกรียงไกร เตชะโม่ง หัวขโมยปฐมบทอาถรรพ์เพชร โด่งดังถึงขั้นเรียก “ชีคชลอ”
ผจญวิบากกรรมครั้งใหญ่ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี2แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ถูกส่งไปอยู่ในเรือนจำ19ปี ตั้งแต่ปี 37 ถึงปี56 ได้รับการพักโทษเนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุ
ปี60 ป๋าลอในวัย79 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่ โดยพระอาจารย์ กัณหา สุขกาโม เจ้าอาวาสทำพิธีอุปสมบท ได้ฉายา “อิสสโร”แปลว่า”ผู้มีอิสระ”และกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อ.วังน้ำเขียวจ.นครราชสีมา
ก่อนจะลาสิกขาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ กระทั่งป่วยเข้ารักษาตัวที่รพ.มหาราช นครราชสีมา จวบจนวาระสุดท้าย เมื่อวันที่24พ.ย.66 มี น้องปลา–กุมาริกา เกิดเทศ ลูกสาวคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ร่างของชลอจะฌาปนกิจที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม วังน้ำเขียวในวันที่ 2ธ.ค.66
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นกฏธรรมชาติ
ทั้ง”สล้าง–ชลอ สิงห์เหนือเสือใต้”นายตำรวจมือปราบคู่นี้ไม่อาจฝืนกฏจักรวาลนี้ไปได้เช่นกัน
แต่เขาทั้งคู่กลายเป็นตำนานสีกากีเป็นตำนานมือปราบเมืองไทยที่ยากจะมีใครเหมือนและจะเป็นเรื่องเล่าขานไม่มีวันจบ
เฮียเก๋
2/12/66