หมอพีช-ร.ต.อ.นพ.ปริย ต๊ะวิชัย นายแพทย์ (สบ1) โรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ แพทย์หนุ่มรุ่นใหม่ที่ความตั้งใจมุ่งมั่น ตั้งใจ เต็มร้อยกับภารกิจบนสายเส้นทางสีกากี
หลายบทความก่อน เราพูดคุยกับตำรวจที่มีเส้นทางหลากหลายกันไป ทั้งสายอบรม สายกิจกรรม แน่นอนว่าตำรวจทุกนายเมื่อมีการปะทะ จับกุม ปิดล้อม ย่อมต้องได้รับบาดเจ็บไม่มากก็น้อย
แล้วพวกเขารักษาอย่างไร ความแตกต่างในการรักษาต่างกันหรือไม่ หมอพีชจะมาเล่าประสบการณ์นี้ให้เราฟังกัน
หมอพีช ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5 เสมือนเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตจริง
ย้อนกลับไปตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยสยาม เรียนจบ 6 ปีเต็มก่อนที่จะใช้ทุนที่โรงพยาบาลตำรวจ ในจ.ยะลา เพราะมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง น้อยคนหนักที่จะกล้าเข้ามาประจำการ ตัดสินใจมาเป็นแพทย์ที่นี่
โตมากับครอบครัวตำรวจ จึงเห็นคุณค่า ความสำคัญในการรักษาให้พี่ๆตำรวจทุกนาย ให้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ถ้าด่านหน้าเราไม่แข็งแรง ไม่ได้รักษา แล้วใครล่ะ “จะดูแลประชาชน”
ยิ่งพอรู้ว่าหมอพีชตัดสินใจเองไปประจำที่จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่สีแดง ทำให้เราเองก็เกิดคำถาม หมอไม่กลัวเลยหรอ ?
คำตอบที่ได้กลับมาก็ประทับใจไม่น้อย นอกจากไม่เคยกลัวตาย หมอพีชยังชื่นชมพี่ๆตำรวจทุกนายที่ลงไปประจำและทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ
พี่ๆเหล่านี้เปรียบเสมือนยาใจชั้นดี ที่เวลาเหนื่อย หรือท้อ แค่ได้รู้ว่าหมอพีชทำหน้าที่ให้ใคร ก็ยิ้มสู้!!
ถึงเป็นหมอแต่ก็ไม่หยุดเรียนรู้วิชาตำรวจ
หมอพีชเล่าว่าทุกครั้งที่มีลงพื้นที่ จะขอติดไปในพื้นที่เสมอ ดั่งคำที่ว่า “ฟังเขาเล่าไม่เท่าลงไปเอง” (เชื่อหรือไม่ว่าขณะสัมภาษณ์หมอพีชของเราก็อยู่กลางป่านะจ๊ะ)
หมอเล่าว่าทุกๆการทำงานในพื้นที่เสี่ยงก็เหมือนหนังสือเรียน ที่หมอจะค่อยๆถอดบทเรียนไปเรื่อยๆ แล้วนำมาใช้กับการทำงาน แม้จะไม่รู้ยุทธวิธีได้ดีเท่าพี่ๆ ตำรวจ แต่ในแง่ของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้าไม่มีบุคลากรทางการแพทย์แล้วใครจะให้ความรู้ได้ดีเท่าหมออีก
เหตุการณ์สามจังหวัดไม่สงบลงง่ายๆ ด่านหน้าทุกคนยังต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง เมื่อหมอพีชมีโอกาสได้ลงพื้นที่กับพี่ ๆ นอนกลางดินกินกลางทรายด้วยกันมา ยิ่งทำให้เราอยากลงมาประจำที่นี่ต่อไปอีกเรื่อย ๆ
เวลาทำงานร่วมกันแล้วได้รับรอยยิ้มกลับมา ถือเป็นยาแรงให้หมอพีชอยากรักษาเขาให้ได้ดีที่สุด ถึงแม้ใครจะครหาหรือกังขาในอาชีพตำรวจมากมาย เพราะทุกที่มีขาวและดำ
หมอเชื่อว่าคนที่ทำไม่ดี วันข้างหน้าเขาก็จะได้รับผลของมันเอง หมอจึงตั้งใจอย่างมากในการถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นในการรักษา
“ความรู้ถ้าเรารู้คนเดียวตายไปมันก็อยู่แค่เรา แต่ถ้าเราถ่ายทอดได้มันสร้างผลดีมากกว่า”
หมอพีชเล่า
การทำงานในส่วนนี้ ทุกคนต่างไม่รู้ว่าจะได้กลับมามั้ย ข้าวที่กินอาจจะเป็นมื้อสุดท้ายหรือเปล่า ชีวิตไม่แน่นอนเสมอ เราเป็นเพียงผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่สร้างความสงบสุขของสังคม เหยื่อได้รับความยุติธรรม คือ แรงผลักดันให้หมอพีชตั้งใจทำทุกวันนี้
เห็นเส้นทางการเป็นหมอตำรวจของหนุ่มคนนี้ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงอยู่มากแต่หนุ่มพีชยืนยันขอเลือกเอง บอกเลยว่าทางฝั่งครอบครัวเป็นห่วงสุดๆ ด้วยความว่าลูกคนเดียว แต่ก็เคารพการตัดสินใจเสมอ
เพราะงั้นสาวๆ คนไหนที่รับได้ในหน้าที่การทำงานที่มีความเสี่ยงแบบนี้ได้ ก็ฝากติดตามหมอพีชด้วยนะค้าาาา ~ FB : Pariya Tavichai
“ศุพิต พ.” บันทึก10/9/65