Wednesday, September 11, 2024
More
    HomeCan i showป๋านัน แสงจันทร์ ตำนานคนตำนานโรงเหล้า

    ป๋านัน แสงจันทร์ ตำนานคนตำนานโรงเหล้า

    ใครที่เป็นคอเพลงเพื่อชีวิต ต้องรู้จักร้านโรงเหล้าแสงจันทร์ สถานที่ดื่มที่เที่ยว ถึงตอนนี้มีทั้งหมด 8 สาขา สาขาแรก แสงจันทร์สุวรรณภูมิ จากนั้นมาเป็นแสงจันทร์พระราม 2 แสงจันทร์เอกมัย-รามอินทรา แสงจันทร์ราชพฤกษ์ แสงจันทร์นวนคร แสงจันทร์ศรีนครินทร์ แสงจันทร์นครศรีธรรมราช แล้วก็แสงจันทร์เกษตรนวมินทร์

    เจ้าของแสงจันทร์ ทั้ง 8 แห่ง เป็นอดีตตำรวจเก่า ปัจจุบันเป็นประธานนักเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 64

    แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ชีวิตเขาเจออะไรมาเยอะ วันนี้ไปรู้จักกับ ป๋านัน-ส.ต.ท.อนันต์ สุวรรณปาน ประธานกรรมการโรงเหล้า แสงจันทร์ ตำนานเพลงเพื่อชีวิตกันครับ

    วัยเด็กเกิดร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช
    เป็นคนร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เรียนประถม ที่หมู่ 3 สมัยนั้นไม่มีถนน ไม่มีรถวิ่ง เดินเท้ามาเรียนหนังสือ ตั้งแต่ ป.1-6 เดินเท้า 8 กิโลเมตร ไปกลับจนจบ ป.6 โรงเรียนวันเถลิงติยาราม แล้วสอบเรียน ม.1 โรงเรียนในอำเภอ ตอนนั้นพ่อยังมีชีวิต สร้างบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์ ชั้นเดียว ให้ลูกมาเรียนหนังสือ ช่วงเรียน ม.1 ก็ยังไปกลับบ้านที่อยู่บนเขา เป็นที่จับจองสมัยนั้น ไม่มีกรรมสิทธิ์ ก็แผ้วถางไปเรื่อย ปีนึงก็ถางสัก 5-10 ไร่

    ตอนนั้นพ่อมีที่อยู่ประมาณเกือบ 200 ไร่ แต่นั่นเป็นจุดเริ่มที่มีปัญหา คือมันมีที่ตรงตีนเขาตรงที่รถมาถึง แล้วจัดซื้อขายกัน มี 2 ฝ่ายจะมาซื้อ สุดท้ายเจ้าของที่ขายให้พ่อผม เป็นข้อพิพาทกันว่า พ่อไปซื้อตัดหน้าเขา

    พ่อ-พี่ชายโดนยิงดับห่างกันแค่ 2ปี
    ป๋านันเล่าความหลังให้ฟังต่อ

    เรียนอยู่ ม.2 ประมาณปี 2523 พ่อโดนยิงเสียชีวิต ทีนี้ก็เหมือนกับแก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมา สมัยนั้นที่นครฯ อย่างที่รู้กันอยู่

    กระทั่งปี 2525 พี่ชายคนโต โดนยิงเสียชีวิตอีก วันที่พี่ชายโดนยิง ผมอายุ 16 ปี พี่ชายคนโตอายุ 17 เดินมาด้วยกัน ผมเดินนำหน้า พี่ชายตามหลัง ได้ยินเสียงปืนดังผมก็วิ่งหนี เสียงปืนนานเลยนะ คิดอย่างเดียวทำยังไงจะเอาตัวรอดกลับมาให้ได้ วิ่งแบบไม่คิดชีวิต มาบอกแม่ที่บ้าน พี่ชายโดนยิง หลังจากนั้นช็อกเลย แม่ไปแจ้งตำรวจที่โรงพักไปชันสูตรพลิกศพ น่าจะประมาณสัก 20 นัด ที่โดนยิง ก็เหลือกัน 4พี่น้อง

    จบม.6 หนีตายเข้ากรุงเทพ
    ตอนนั้นแม่ก็ร้องไห้ พ่อโดนยิงตาย ลูกก็โดนอีก ที่ทั้งหมดที่มีอยู่ก็เริ่มเข้าไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว เพราะตั้งแต่พ่อโดนยิงตายมา ต่างฝ่ายก็แก้แค้นกันมา จนสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ แม่ก็ต้องเลี้ยงลูก แล้วตอนนั้นพี่ชายผมยังอยู่ ลูก 5 คน แม่ก็เลี้ยงคนเดียว แม่เคยทำสวนก็มารับจ้าง รับซื้อของ ก็ลำบาก จนสุดท้ายตอนที่ผมจบ ม.6

    ทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียวก็ต้องขายไป เพราะแม่ก็ไปหยิบยืมเงินมาให้ลูกได้ไปเรียนหนังสือแล้วก็มาเช่าบ้านที่อยู่ตรงข้ามทาวน์เฮ้าส์เดือนละประมาณ 700 บาท สุดท้ายก็มาเช่าบ้านอยู่ ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะมันไม่มีที่ไป 1.อยู่ที่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร 2.ก็จะโดนยิงไปด้วย

    เป็นบ๋อยร้านอาหาร-รปภ.ก่อนสอบเข้าตร.
    มาเรียนรามฯ มาเช่าหอกันอยู่ที่ซอยวัดเทพลีลา เดือนละ 30 บาท เป็นบ้านห้องไม้เก่าๆ เลยวัดเทพลีลา ซ้ายมือเป็นโรงเลื่อย อยู่กัน 3 คนกับเพื่อน ก็อาศัยเพื่อนอยู่เพราะเราไม่มีเงิน สุดท้ายไปสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร ชื่อห้องอาหารน้ำพุ เดี๋ยวนี้เป็นไทยพาณิชย์ปาร์ค เงินเดือน 600 บาท ออกจากห้องอาหารน้ำพุ มาสมัครเป็นบ๋อยโรงแรมราชาพาเลซ ตรงรัชดาฯ พักหนึ่ง มาสมัครเป็นเซคคิวริตี้ ห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

    แล้วจับพลัดจับพลู มาสมัครสอบเป็นตำรวจนครบาล รุ่น 64 มี พ.ต.ท.สมเกียรติ ภาชนะกลาง สว.ส.ก็มีเยอะหลายคน อย่างแป๋ง กองปราบ ก็รุ่นเดียวกัน รุ่นผมจบออกมาทั้งหมด 560 คน ผมเป็นหัวหน้าเขต เป็นหัวหน้านักเรียนหมวดที่ 3

    ญาติไม่ยอมรับเหมือนน้องชาย
    ที่ไปเป็นตำรวจ คือแต่ก่อน ผมไม่ชอบ แต่น้องชายผม ชื่อเฉลิมวุฒิ สุวรรณปาน หลังจบ ม.6 โรงเรียนที่ร่อนพิบูลย์ ไปสมัครเป็นตำรวจ จบนครบาลรุ่น 61 บรรจุลงเป็น สปพ.อยู่รถสายตรวจ ตอนนั้นเราก็ทำงาน แต่ปัญหาคือตอนกลับบ้าน ญาติพี่น้องจะมาคุยกับน้องชาย เพราะน้องชายเป็นตำรวจ ไอ้เราก็เหมือนไม่มีงานเป็นหลักเป็นแหล่งมีความรู้สึกเจ็บใจ หมายถึงว่า

    เวลากลับบ้าน ญาติพี่น้องไม่ยอมรับ แต่น้องชายนี่ญาติพี่น้องยอมรับ เหมือนเราไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง ก็เลยกลับขึ้นมาสอบตำรวจ สุดท้ายก็สอบตำรวจได้

    ทุกข์ซ้ำน้องชายรถคว่ำเสียขณะไปหาแม่
    ต่อมาน้องชายสอบนายตำรวจได้ เลือกไปอยู่ที่ อ.ทุ่งสง เป็น รอง สว.สอบสวน เพื่อดูแลแม่ อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ขับรถจาก อ.ทุ่งสง จะไปหาแม่ที่ร่อนพิบูลย์กลางดึก ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร บังเอิญฝนตกหนักเลยเสียหลักชนเสียชีวิตที่ อ.ร่อนพิบูลย์ ตอนนี้เหลือน้องสาว ดร.วราภรณ์ สุวรรณปาน เปิดร้านอยู่ที่ซอยนานา สุขุมวิท ซอย 4 แล้วมีน้องชายคนสุดท้อง จบปริญญาโท ช่วยบริหารงานร้านแสงจันทร์รามอินทรา ครัวคุณสา แล้วแสงจันทร์สุวรรณภูมิ

    บรรจุเป็นตำรวจลูกแถวสน.ลุมพินี
    ส่วนผมพอจบตำรวจก็ไปบรรจุที่สน.ลุมพินี ตำแหน่งแรก ลูกแถว 6 เดือน ติดยศ ส.ต.ต.เป็นผู้บังคับหมู่ ผมเป็นตำรวจลุมพินี อยู่ 12 ปี แต่ด้วยเราไม่มีเงิน ภรรยาไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ลูกคนแรก แฟนก็อยู่ที่นครราชสีมา บ้านพ่อตา เพราะว่าเงินเดือนก็แค่ 4 ,000 บาท บ้านพักที่โรงพักก็ไม่มี ต้องอยู่กันแบบเป็นห้องรวม เลยให้แฟนอยู่

    จนลูกชายคนโต 3 ขวบ ถึงได้บ้านพัก เลยพาครอบครัวมาอยู่แฟลตตำรวจที่ สน.ลุมพินี

    หยิบยืมเพื่อน 5 แสนเช่าที่เปิดร้านอาหาร
    ช่วงเป็นตำรวจ หลังจากว่างเว้นจากงานเอาเวลาไปรับจ้าง เหมือนเป็นบอดี้การ์ดให้ร้านในซอยนานา ช่วยดูแลร้านหาเงินพิเศษ นั่งดูเขาไปเรื่อยๆ ว่าร้านเขาทำยังไง ด้วยเบสิกที่เคยเป็นพนักงานบริการมาก่อน ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

    แล้วมีวันหนึ่ง มีพื้นที่ว่างให้เช่าตรงโรงแรมราชา สุขุมวิท ซอย 4 เจ้าของเดียวกับโรงแรมราชาพาเลซ ที่เคยเป็นบ๋อย เลยไปขอเช่าเขาทำร้านอาหาร ไปคุยกับเจ้าของโรงแรม เขาให้ผมเช่าเดือนละ 5 แสนสมัยนั้น

    เก็บหอมรอบริบหาเงินมาได้ก็ประมาณ 4-5 หมื่น ก็ไปขอเช่าอยากมีร้าน ก็เลยไปหยิบยืมเงิน ใครที่หยิบยืมได้ ไปหยิบยืมหมด

    ฮิลลารี่ ซอยนานา ร้านแรกในชีวิต
    สุดท้ายก็มีร้านเป็นของตัวเอง ที่ซอยนานา ชื่อร้านฮิลลารี เพราะสมัยนั้นเปิดร้าน ก็ไม่มีชื่อร้านในใจเลย แล้วบังเอิญว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้น ฮิลลารี แล้วร้านซอยนานา เหมือนว่าบริการนักท่องเที่ยว แล้วประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยนั้น บิลคลินตัน ก็เลยเอาชื่อร้านว่าฮิลลารี ก็เอาเป็นหนึ่งไว้ก่อน เลยเป็นที่มาของชื่อร้านฮิลลารี

    มรสุมชีวิต ถูกให้ออกจากตำรวจ แต่ไม่ท้อ
    ทำร้านมา 2 ปี ชีวิตก็หักเห เพราะโดนออกจากตำรวจปี 2547 ขอไม่กล่าวถึงเรื่องนั้น แต่ทุกวันนี้ยังมีความภูมิใจ ไม่ว่าไปที่ไหน ยังเล่าได้ว่า สิ่งที่ผมต้องโดนออกจากตำรวจ ผมไม่ได้ทำ ก่อนนี้ผมโดนย้ายไปที่อำนวยการ ภาค 3 ประมาณ 7 เดือน หลังจากนั้นมีคำสั่งให้ผมออก ด้วยความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกว่าเจ็บใจ เลยตั้งปณิธานว่า 

    ในเมื่อถนนสายนี้ เขาไม่อยากให้เราเดิน แม้ไม่เป็นตำรวจ ชีวิตเราต้องไม่อดตาย เพราะเรามีลูกที่ต้องดูแล มีแม่ที่ต้องดูแล เลยตัดสินใจหาที่ ตอนนั้นทำร้านที่สุขุมวิทพอมีรายได้จุนเจือครอบครัวอยู่ ร้านฮิลลารียังอยู่

    แสงจันทร์สุวรรณภูมิเปิดที่แรก
    ผมชอบดนตรีสไตล์เพื่อชีวิต อยากเปิดร้านสไตล์เพื่อชีวิต เจอที่อยู่แปลงหนึ่งที่ลาดกระบัง ก็ไปติดต่อเพื่อนที่เป็นตำรวจลาดกระบัง ช่วยติดต่อเจ้าของให้ว่าอยากเช่า เดิมแต่ก่อนเขาทำร้านหมูกระทะ แล้วเจ๊ง ส่วนผมก็คิดว่าอีกประมาณ 1 ปี สนามบินสุวรรณภูมิจะเปิด ที่ตรงนี้ถ้าเช่า

    ค่าเช่ามันก็ถูก แล้วเป็นที่แปลงใหญ่ เลยตัดสินใจเช่าที่ไประดมหุ้นมา ใช้ชื่อว่า ร้านแสงจันทร์สุวรรณภูมิ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว เพราะผมชอบเพลงแสงจันทร์อยู่ก่อน

    ตามติดด้วยแสงจันทร์ท่าข้าม 
    เปิดร้านวันแรก ลูกค้าก็เยอะ มีผลประกอบการดี มีกำไร ด้วยความคิดเรา เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร จากที่ไม่มีอะไร ความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยานในใจ มันก็ยังมีอยู่ ก็คิดว่า มันดีนะ เปิดมาได้ปีกว่าๆ ผมก็เห็นว่าร้านมันดี ชื่อนี้มันน่าจะใช้ได้ เลยไปตระเวนหาเช่าที่ ไปได้ที่ที่ถนนพระราม 2 ก็เลยเปิดในชื่อ แสงจันทร์ พระราม 2 ที่ท่าข้าม ลูกค้าก็เยอะ

    เห็นว่ามันน่าจะไปต่อได้ ก็พอดีมาเห็นที่ร้านเชสเตอร์ตรงเลียบทางด่วน เจ้าของร้านเป็นเจ้าของที่ดินร้านแสงจันทร์ ที่ผมเช่าอยู่ที่สุวรรณภูมิ เขาบอกว่าพี่นัน อยากทำมั้ย ผมเบื่อ ไม่อยากทำแล้ว ไปเช่าต่อเลย ผมขอหุ้นด้วย ก็เลยมาปรับปรุง จากร้านเชลเตอร์ ก็เป็นแสงจันทร์ สาขาเอกมัย รามอินทรา

    ยึดหลักบริหารไม่เอาเปรียบ-แบ่งปัน
    หลักบริหารงานของผมคือ 1.ผมไม่เอาเปรียบลูกน้อง 2. ได้มา ผมแบ่งปัน ถ้าทำดี มีกำไรเยอะ ไม่มีร้านอาหารไหนที่แต่ก่อนเขาจะให้โบนัสลูกน้อง ไอ้เราโตมาจากคนที่ไม่มี ได้มาเราก็แบ่ง ตั้งเป็นโบนัส ตั้งเป็นยอดขาย มีโบนัส ขายได้เยอะ มียอดขายเยอะ ก็ให้บริษัทที่ผลิตเหล้า เบียร์ บางทีก็ให้ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวเมืองนอกบ้าง พาครอบครัวไป

    เราก็คิดในใจว่า ที่เราเติบโตมาทุกวันนี้ ก็เพราะครอบครัว ลูกน้อง มีส่วนที่ทำให้เราเติบโต เราก็แบ่งปันให้ตั๋วเขาไป ทำดี ขยันขันแข็ง ประวัติดี ก็ให้ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวเมืองนอก ทีนี้ปากต่อปาก ชื่อเสียงเกิด เวลาต่อยอดมันก็ง่ายขึ้น

    ช่วยเหลือชาวบ้านทุกภัยพิบัติ
    ถึงวันนี้ผมยังทำงานวันละ 10 กว่าชั่วโมง เหมือนเดิม แล้วก็มีหลักในใจ 1.ได้แล้วแบ่งปัน 2.ทำความดีเยอะๆ น้ำท่วมประเทศไทย 5-6 ครั้ง ผมมีส่วนร่วมทุกครั้งช่วยชาวบ้าน ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่โคราช น้ำท่วมจังหวัดภาคกลาง ผมจัดคอนเสิร์ตการกุศล ระดมเงินช่วยเหลือ ได้เงินมาประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ผมจัดรถ 70 กว่าคัน ไปบริจาคของให้ทุกจังหวัดในภาคกลาง

    ตอนน้ำท่วมใหญ่ที่โคราช ผมจัดคอนเสิร์ตการกุศล หาเงินหาอุปกรณ์ ไปบริจาคพี่น้องชาวโคราช 12 ล้านบาท น้ำท่วมที่ปราจีนบุรี ตอนนั้นได้เงินมาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท แล้วน้ำท่วมที่ฉะเชิงเทรา ก็ไปอีกรอบหนึ่ง ก็ได้อีกล้านกว่าบาท น้ำท่วมใหญ่ที่นครศรีธรรมราช 2 ครั้ง ผมก็ไปร่วมบริจาค ตั้งใจที่จะทำความดี ทุกๆ ครั้งที่มีภัยพิบัติ ก็จะหาวิธีการไปทำความดี ส่วนหนึ่ง โรงเรียน วัด ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เรื่อย

    พิษเศรษฐกิจปรับร้านเป็นวาไรตี้
    ถึงตอนนี้ เพลงเพื่อชีวิตมันเซาๆ ไป เดี๋ยวนี้เลยต้องเป็นวาไรตี้ คำว่าเพื่อชีวิต มีอยู่ได้ส่วนหนึ่ง ร้านหนึ่งเล่นเพลงเพื่อชีวิต สัก 20-30 % เท่านั้น แต่ก็เป็นองค์ประกอบของแสงจันทร์ เราใช้คอนเซ็ปต์ว่า ตำนานเพลงเพื่อชีวิต แต่ความเป็นจริงในร้าน ไม่ได้เป็นเพลงเพื่อชีวิตอย่างเดียว เราเป็นวาไรตี้ แล้วก็เป็นแบบนี้มาตลอด

    ประคองแค่อยู่ได้ เพื่อลูกน้อง
    ตอนนี้ประคองแค่ให้อยู่ได้ ตอนนี้ยังยืนอยู่ได้ แต่อย่าไปคาดหวังเรื่องผลประกอบการอะไร แค่อยู่ได้พอ มีค่าจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินจ่ายลูกน้อง เงินเดือนลูกน้องจะออกทุกวันที่ 5 ไม่ว่าวันนั้นจะตรงกับวันอะไร เพราะนึกถึงตัวเอง สมัยเช่าหอพัก หรืออพาร์ต์เมนต์อยู่ พอถึงเวลา จะไปอ้างกับเจ้าของว่าเงินเดือนไม่ออกบ้าง นู่นนี่นั่น แล้วเจ้าของก็จะด่าเราอย่างโน่นอย่างนี้ ผมถึงบอกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางทีเงินเดือนออกช้า 2-3 วัน เขาก็เดือดร้อนแล้ว

    ชีวิตถูกลิขิต เหนื่อยแต่หยุดไม่ได้
    ทุกวันนี้แสงจันทร์ จุคนได้ต่ำสุดก็ 600 สาขาที่เล็กที่สุดนะ มีหลายสาขา มีหลายไซส์ ที่ใหญ่สุด น่าจะอยู่ที่ประมาณสัก 1,000 นิดๆ มาถึงตรงนี้ก็คิดว่าผมก็เหนื่อยมากนะ แต่ต้องคิดทุกวัน หยุดไม่ได้เลย แล้วต้องห่วงทุกวัน ต้องใส่ใจ ทำทุกอย่าง ต้องวิ่งทุกวัน ไม่เคยได้หยุด

    ผมมีเวลาให้ครอบครัวค่อนข้างจะน้อย ผมกลับไปอยู่บางทีตี 2 ตี 3 ก็หลับกันหมดแล้ว เหมือนกับชีวิตเรามันลิขิตให้เป็นแบบนี้ แล้วถ้าไม่ทำ แล้วครอบครัวจะอยู่กันอย่างไร

    ยืนยันเลือดตำรวจยัง 100%
    ชีวิตผมต่อให้เลือกได้ ก็ยังอยากเป็นตำรวจ เลือดผมนี่ตำรวจ 100%ผม ตอนนี้นครบาล 64 กองร้อย 3 ผมยังเป็นประธานอยู่ ไปเลี้ยงรุ่นทุกปี ทุกคนต้องหยอดเงินใส่กล่อง แต่เงินทั้งหมดที่หยอดใส่กล่อง เอาไปเป็นกองทุนรุ่น ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ของรุ่นผมจ่ายเอง จัดการเองทั้งหมด ถ้ามีโอกาสก็จะจัดงานคอนเสิร์ต อาเงินไปเป็นกองทุนของรุ่น ไม่เคยทิ้งตำรวจนะ 

    อยู่ตรงไหน ก็คิดว่าเป็นตำรวจ
    ชีวิตมันเกิดจากตำรวจนะ ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงจุดไหน ไม่ว่าเราจะเป็นยังไง ก็ยังคิดว่าเราเป็นตำรวจ ดูแลกันไป ร้านทุกร้านที่ตำรวจมา ถ้าสายตรวจมาออกตรวจตอนดึกๆ ก็มาทานข้าวกัน ดูแลกันไป มาแวะทานข้าวกันได้ เราดูแล เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันน้อยแล้วที่จะดูแลตำรวจ อยากกินอะไรก็มากินกัน เป็นที่รู้กัน บางที่ร้อยเวร สอบสวน ตกเย็นก็ข้าวกล่อง ใส่ไป ให้ได้กิน มีแล้วก็ต้องแบ่งปัน

    สิ่งเดียวที่ทำให้ยั่งยืน คือแบ่งปัน
    สิ่งเดียวที่ทำให้ยั่งยืนก็คือการแบ่งปัน แต่ถ้าคนเดียว ผมถามว่าเอาไปทำอะไร ตายไปลูกน้องก็ด่าฉิบหาย ว่าเอาเปรียบเขาโน่นนี่ ไม่เกิดประโยชน์หรอก ทุกสิ่งทุกอย่างนะ นี่คือความคิดผม พิสูจน์กันได้ ว่าวันไหน เราเป็นคนดีรึเปล่า วันที่เราตายไปแล้วใครมาร่วมงานศพเรามากที่สุด เราไม่เห็นหรอก แต่สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ว่าเราทำความดี นี่คือคนดี ไม่งั้นคงไม่มีใครไปร่วมงานศพเยอะ นั่นคือสิ่งที่พิสูจน์ได้เลย

    ครับ…..นี่คือเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ป๋านัน ส.ต.ท.อนันต์ สุวรรณปาน เจ้าของโรงเหล้าแสงจันทร์ ตำนานเพลงเพื่อชีวิต ครับ

    เฮียเก๋ 9/10/61

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments