Tuesday, April 23, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนเกร็ดน่ารู้ จากพระราชพิธี “บรมราชาภิเษก

    เกร็ดน่ารู้ จากพระราชพิธี “บรมราชาภิเษก

     

    อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    กลับมาประจำการในคอลัมน์อีกครั้งหลังจากหายไปนานกว่า 2 เดือน

    ก่อนจะเลือกตั้งผมมีภารกิจทางการเมืองเลยทำให้เวลาหมดไปกับการเดินทางเป็นส่วนใหญ่

    พอเสร็จงานการเมืองก็มีพายุพัดถล่มชีวิตอีกระลอก กว่าอะไรๆจะค่อยๆกลับมาเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิมก็คงอีกสักระยะนะครับ

    ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่นั่งหน้าจอเฝ้ารอติดตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 กันอย่างใจจดใจจ่อ

    เพราะนี่คือโอกาสเพียงน้อยนิดในชีวิตของคนไทยที่จะได้ติดตามเลยนะครับ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ระดับนี้ไม่ได้มีกันบ่อยๆ

    ขนาดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติบางอย่างที่ว่าหาดูได้ยากแล้ว พิธีบรมราชาภิเษกของไทยน่าจะหาดูได้ยากที่สุดในโลกแล้วละครับ

    ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ เป็นไปตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ

    ต้องสมพระเกียรติ รักษาทุกรายละเอียดให้อลังการสะท้อนความงดงามปรากฏสู่สายตาคนทั้งโลก

    พระราชพิธีระดับนี้สื่อโซเชียลมีเดียรวดเร็วมากครับ แลกกับความมั่วบ้างจริงบ้าง ใส่ไข่ ใส่อารมณ์ แม้กระทั่งอคติก็เยอะโดยเฉพาะทวิตเตอร์

    แต่ข้อมูลบางอย่างผมเข้าไปอ่านแล้วก็อยากจะนำมาแบ่งปันเป็นเกร็ดความรู้ที่ในการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไม่ได้นำเสนอ

    ประการแรกอย่างที่เราทราบกันแล้วว่า พระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งรัชกาลที่ 10 ได้ทรงประกาศ คือ

    “เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

    พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทั้งนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่ในทวิตเตอร์ กรณีพระปฐมบรมราชโองการตั้งแต่รัชกาลที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศักราช 2328 มีพระปฐมบรมราชโองการว่า

    “…พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด…”

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ 17 กันยายน 2352

    “ แต่บรรดาพฤกษาและแม่น้ำใหญ่ น้อย และสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดิน ทั่วขอบเขตแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้

    ให้พระราชทานแก่ สมณะ พราหมณ อณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตามแต่ปรารถนาเถิด ”

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 1 สิงหาคม 2356

    “เจ้าพระยาและพระยาของซึ่งถวายทั้งนี้ จงจัดแจงบำรุงไว้ให้ดี จะได้รักษาแผ่นดิน ”

    ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 3 นี้ ไม่พบหลักฐานพระปฐมบรมราชโองการหลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

    พบแต่ “ พระราชโองการปฏิสันถาร ” ในการเสด็จมหาสมาคม ซึ่งโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าเพื่อรับการถวายราชสมบัติ

    จากนั้นจึงมีพระราชโองการตรัสปฏิสันถารกับเจ้าพระยา และพระยาทั้งปวง ซึ่งมีข้อความเดียวกันทุกรัชกาล

    ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีแต่เพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 15 พฤษภาคม 2394

    “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด”

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 12 พฤศจิกายน 2411

    “แต่บรรดาที่ไม่มีเจ้าของผลไม้ทั้งน้ำในห้วยละหารตรท่าก็ดี ตามแต่สมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎรจะมาแต่จตุระทิศต่างๆ ตามแต่จะปรารถนา”

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 เป็นคำภาษามคธ

    “อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

    แปลว่า “ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชนเราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ”

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษก

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 พฤษภาคม 2493

    “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

    นอกจากนี้ ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี เป็นฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีสำคัญ

    เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน

    โดยฉลองพระองค์ครุยที่ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้นมีคนตั้งคำถามว่าทำไมสีไม่สว่าง ทองไม่อร่ามสดใส

    ชาวทวิตเตอร์ก็ไปหาคำตอบมาว่า รัชกาลที่ 10 ทรงครุยสำคัญนามว่า “ครุยมหาจักรี”

    ฉลองพระองค์ครุยนี้ สร้างเมื่อ พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงฉลองพระองค์ครุยนี้ มาเป็นระยะเวลา 60 ปี จนถึงปีที่ 60 ของการครองราชย์

    รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงโปรดให้สร้างใหม่ แต่มีพระทัยมั่นที่จะสืบสานงานของพระราชบิดาอย่างเต็มเปี่ยมตามที่แสดงพระปฐมบรมราชโองการ

    และทรงฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีของพระราชบิดาเป็นเครื่องยืนยันความตั้งมั่นนี้

    จริงๆมีอีกหลายเรื่องอยากแบ่งปันแต่เนื้อที่ก็ยาวมาพอสมควรแล้ว

    โอกาสหน้าถ้ามีประเด็นน่าสนใจอีก รับรองว่าจะรีบหามาบอกเล่ากันอย่างนี้แน่นอนครับ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments