วันก่อนไปนั่งคุยกับพล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีตผบช.น. อดีตผู้การกองปราบปราม นักสืบบิ๊กเนมระดับปรมาจารย์ในวัย83
คุยกันหลายเรื่องตั้งแต่คดีดังในอดีต ยันไปถึงเรื่องปัจจุบันคดีน้องแตงโม ดาราสาวตกเรือสปีดโบ๊ตเสียชีวิตท่ามกลางความกังขาของสังคม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหลายเรื่องหลายประเด็น โดยเฉพาะตำรวจถูกสับเละเทะเพราะสังคมคลางแคลงใจในการทำคดี
ท่านวรรณรัตน์ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
ต้องไม่ทำงานไปปากพูดไป
คือการทำงานตำรวจมันก็ทำทั่วไป แต่ตำรวจต้องไม่ทำงานไปแล้วปากพูดไป คือประเด็นสำคัญคดีต่างๆ จะมีคู่กรณี หมายความว่า ถ้าในศาล ก็ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย ถ้าข้างนอก ก็คือผู้ร้าย กับตำรวจ
คนร้ายได้ยินตั้งหลักได้
เพราะฉะนั้น มันจะชิงเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบกัน ตำรวจพูดมากเท่ากับเอาพยานหลักฐาน หรือเป้าหมาย หรือจุดที่เราจะสืบสวน ไปพูดให้คนนอกฟัง แล้วผู้ร้ายมันก็ฟัง เวลาพูดอะไรไป มันก็จะตั้งหลักได้ ว่า เฮ้ย ตำรวจจะมาทางนี้แล้ว มันก็จะหาวิธีปกป้อง พูดง่ายๆ เอาความลับเรื่องการสืบสวน เอาเรื่องในสำนวนการสอบสวนมาพูด
ให้ข่าวได้ในเรื่องทั่วไป
พูดได้ แต่ต้องพูดในภาพทั่วไป ไม่เน้นข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ระหว่างฝ่ายโจทก์ กับฝ่ายจำเลย หรือฝ่ายตำรวจ กับผู้ร้าย มาพูดแล้วมันมีความได้เปรียบเสียเปรียบแน่ ถ้าตำรวจพูดมาก ผู้ร้าย ก็รู้ว่าตำรวจเคลื่อนไหวยังไง มันก็รู้ทางหนีทีไล่
ยุคก่อนสื่อช่วยหลอกโจร
สมัยก่อนกับสื่อ ถ้าพูดกันรู้เรื่องจะบอกว่าเฮ้ย อย่าเพิ่งเขียนนะ ผมจะไปเชียงใหม่ นะ แต่ความจริงผมจะลงใต้ แล้วก็ไปช่วยเขียนว่า ผมจะไปเชียงใหม่แล้ว นี่คือวิธีการ ไม่ให้ผู้ร้ายรู้ตัว ทั้งๆที่เรารู้แล้วผู้ร้ายอยู่ที่ไหน ถ้าผู้ร้ายไหวตัว มันตามยาก
ต้องคุมเกมให้ได้
แต่ถ้าเราล้อมไว้หมดแล้ว บล็อกจุดไว้ ว่าผู้ร้าย มีญาติพี่น้องที่ไหนบ้าง มีแฟนที่ไหน มีกิ๊ก ที่ไหน เราบล็อกไว้หมด เราก็อาจจะไปบอก หรืออาจจะพูดให้ผู้ร้ายเคลื่อนไหวได้ พอเคลื่อนไหว มันก็ไปในจุดที่บล็อกไว้หมด
ยกเคสไอ้ศักดิ์ปากรอ
เหมือนคดีไอ้ศักดิ์ ปากลอ แขวนคอ 5 ศพ ผมไปทำอยู่ 10 กว่าวัน พอรู้ว่า เป็นไอ้ศักดิ์ ปั๊บ มันเงียบกริบเลย ไม่มีคดีให้เห็นเลย เราก็ใช้แผน แหวกหญ้าให้งูตื่น รู้ตัวแล้วขณะนี้ พรุ่งนี้จะเข้า นั่นน่ะ อัศวิน ไปจับได้ที่โน่น เมืองกาญจน์ เห็นไหมมาถึงเมืองกาญจน์ เพราะเราไม่รู้ว่ามันไปไหน
ให้กำลังใจชุดทำคดี
อันนี้คือวิธีการของตำรวจ เพราะฉะนั้นบางเรื่องที่ตำรวจพูดไป ถ้าสังคมไม่เข้าใจนึกว่าตำรวจโง่ ไม่ใช่ หรือตำรวจไม่พูดเลย เงียบกริบเลย คงสืบอะไรไม่ออก ก็ไม่ใช่ ก็ให้กำลังใจตำรวจ ผมพูดทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายถึงแค่คดีแตงโม
อย่าเต้นตามสื่อ(โซเชี่ยล)
สมัยก่อนกับเดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนกัน สมัยก่อน สื่อมีไม่มาก มีหนังสือพิมพ์ มีทีวีวิทยุ ทีวีก็มีไม่กี่ช่อง เดี๋ยวนี้ สื่อมีออนไลน์ มีอะไร เยอะแยะ เฟซบุ๊ก อะไรอีกสารพัด เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง เขาก็เขียนของเขาไป บางคนก็เป็นคนมีความรับผิดชอบ ก็เขียนในกรอบ แต่บางคนก็สร้างจินตนาการไปเรื่อยเลย แล้วตำรวจจะไปเต้นตาม ก็ไม่ใช่
ยึดที่เกิดเหตุเป็นหลัก
การสืบสวนสอบสวน ต้องยึดที่เกิดเหตุเป็นหลักเท่านั้น ไม่ต้องไปอะไรอื่น ถ้าได้อะไรมา ก็เอามาดู ที่มันแมตช์กันไหม มันตรงกันไหม ได้ไหม อะไรต่ออะไร เช่นภาพบอกว่า ผู้ร้ายตัวโต พยานบอกตัวโต แต่ในที่เกิดเหตุมีหลักฐานชัดเจน ว่าผู้ร้ายตัวเล็กนิดเดียว อันนี้มันก็ต้องเอามาเปรียบเทียบ แต่ต้องทำเงียบๆ ไม่ต้องไปตอบโต้ ไม่ต้องไปบอกว่าไม่ใช่ อย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปแก้ตัว
คดีแตงโมโนคอมเมนต์
ส่วนความเห็นกับตำรวจสืบสวนในคดีแตงโม ผมไม่มีความเห็น เพราะ 1.ผมไม่เห็นที่เกิดเหตุ 2.ผมไม่ได้สอบ ไม่ได้คุยกับพยานใดๆ เลย
เพราะฉะนั้นคนที่จะมีความเห็นได้ คนที่จะชี้อะไรได้ ต้องเห็น ต้องรู้ ถึงจะพูดในเหตุผล ในกรอบของความเป็นจริง เพ้อเจ้อไปเรื่อยเปื่อย ถ้าอย่างโน้น อย่างนี้ ใครๆ ก็พูดได้ จะสังเกตว่าจะไม่ได้ยินจากผมเรื่องความเห็น
ชุดทำคดีต้องอย่าหวั่นไหว
แต่ว่าขอให้ตำรวจ ทำอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปหวั่นไหว ว่าใครจะอะไร ยังไงเชื่อมั่นว่าตำรวจทำคดีได้ ไม่เป็นไปตามที่สังคมวิจารณ์ เพราะสังคมบางส่วน ไม่เชื่อมั่นการทำงานของตำรวจ ก็เพราะว่าเขียนกันไปเขียนกันมา
สื่อสังคมมโนเขียนเปรอะ
ยกตัวอย่าง คดีของแตงโม ให้ดูการตรวจพิสูจน์ศพ ก่อนจะตรวจพิสูจน์ครั้งที่2 คือนิติเวช รพ.ตำรวจ เขาตรวจพิสูจน์ไปแล้ว สังคมก็เขียนอะไรต่ออะไร ฟันหักบ้าง เปรอะไปหมด ถูกอะไรต่ออะไร
พอมาตรวจพิสูจน์ชั้น 2 เห็นไหม ข้อเท็จจริงมันมีอะไรที่ผิดไปจากครั้งที่ 1 ไหม มันก็ไม่ผิดไปจากกัน ก็อาศัยไปเขียนกันเอาเอง
ให้ทำไปตามข้อเท็จจริง
นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้ชัดว่า สังคมเขาจะพูดกันไปยังไง แต่เราทำไปตามข้อเท็จจริงเอาตัวที่เกิดเหตุ เอาศพ เอาอะไรต่ออะไร ไปตามเนื้อผ้า ไม่ต้องไปคิดแก้ตัวมาก เหมือนว่าสังคมจะไปทางนี้รึเปล่า ก็ไปตอบโต้เขา ไม่ใช่
ปัดให้ความเห็นคนมาถาม
ที่มีตำรวจบางนายออกมา เตือนๆ ว่าไปกันใหญ่แล้ว ไอ้นั่นเป็นความรู้สึกเขาเหมือนกัน วันนี้พอผมพูดมาก เดี๋ยวก็หาว่าไปอีกแล้ว ผมไม่ยุ่งนะ ใครมาถามผมเยอะ แต่ผมบอกว่า ขออนุญาต โนคอมเมนต์
อย่างแรกไม่เห็นที่เกิดเหตุ
เนื่องจากว่า 1.ที่เกิดเหตุ ผมไม่เห็น ไม่ได้ซักถามพยาน หรือคนที่อยู่ในกลุ่ม 5 คนเลย ผมไม่คุยกับใครเลย เพราะผมไม่รู้ที่มาที่ไป ผมต้องรู้ว่าที่เกิดเหตุ มืดแค่ไหนอะไรยังไง การจะเห็นพยาน เห็นแค่ไหน ต้องสอบหมด
เหมือนคดีสองแม่ลูก ต้องสอบทุกคน สอบจนมั่นใจว่า มันเป็นไปไม่ได้ อย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ ต้องสอบกันขนาดนั้น
ติโซเชี่ยลเมนต์ไม่มีความรู้
คือสังคมเขาไม่ค่อยเชื่อตำรวจ บางคนบอกถึงขั้นขอเปลี่ยนพนักงานสอบสวนพอเขาไม่มีความมั่นใจ ก็จะร้องหา ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเรามั่นใจ เราก็ทำไปใครมาทำก็ได้ มันก็จะต้องลงเอยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ
แล้วบางคนเนี่ยคนที่คอมเมนต์ความเห็นในโซเชียล บางคนก็ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย ก็พูดไปจินตนาการไปแบบหนัง
ขอให้อดทนต่อความเจ็บใจ
แต่เหตุการณ์ที่กระทบมายังชุดทำงานของตำรวจเรื่องคดี ก็ต้องสอนให้ตำรวจอดทนอดกลั้น ต้องยอมให้สังคมต่อว่า คือตราบใดที่คดียังไม่คลี่คลาย ก็ต้องโดน ไม่รู้หลงทางไปไหนต่อไหนก็ต้องยอม อย่าไปเต้นตาม พอเขาแหย่หน่อย ก็ต้องออกมาแก้ตัว โน่นนี่ กลายเป็นขยายรายละเอียดข้อเท็จจริงในทางคดี
หลักฐานที่เกิดเหตุคือคำตอบ
คือต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น ต้องไม่ลำเอียง เป้าหมายต้องเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่ามันเป็นคดีอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุ ต้องทำไป อย่าเพิ่งไปตั้งธง เอาจากพยานหลักฐานที่ได้ ที่พบ จากที่เกิดเหตุ เท่านั้น พอได้แล้ว มันจะมีคำตอบของมันเอง ว่าอย่างนี้เป็นไปได้ไหม
เช่น อยู่ท้ายเรือ ตกข้างเรือ หรือแบบไหน ถูกทำร้ายก่อนหรือไม่ มันจะมีหมดจากตัวศพ บาดแผลเอย อะไรเอย ได้ทุกอย่าง แสงสว่างมีพอแค่ไหน ลักษณะน้ำกระเพื่อม แค่ไหน มีแรงแค่ไหน ทำไมคนตกแป็บเดียวแล้วจมหายเลย อะไรพวกนี้จะมีคำตอบ
ติงรุ่นน้อง–ให้ข่าวไม่มีระบบ
ผมว่าเขาก็ทำนะ แต่ว่าอาจจะเกี่ยวกับวิธีการที่จะนำเสนอหรือพูดกับสังคม ไม่มีระบบ เช่นผู้ให้ข่าว อะไรอย่างนี้ มันควรจะต้องกำหนดให้ชัดเจน ว่าใครจะพูดไม่ใช่ให้สังคมเดา ถ้าเป็นคดีใหญ่ๆ จะต้องมี ให้ใครพูด เขากำหนดไว้อยู่แล้วให้คนนี้ให้ข่าวอย่างเดียว คนอื่นไม่ต้องพูด พูดวันเดียวแล้วจบ ก็เลยเป๋ ก็ต้องพูดให้ชัดตั้งแต่วันแรก ว่าอย่าว่ากันนะ บางอย่างก็เปิดเผยไม่ได้
ชมทนายเก่งล่อตำรวจพูด
เปิดหมดก็เจ๊งสิ คู่กรณีมันได้เปรียบเสียเปรียบกัน เวลาขึ้นศาล การพูดไป เอาไปเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ แล้วทนายเขาเก่ง เดี๋ยวนี้นะ ใช้โซเชียล หลอกล่อให้ตำรวจพูด ต้องนิ่ง การทำงานสืบสวน ต้องเข้าใจว่า การพูดไป มันไม่เกิดประโยชน์กับทางคดี มันทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างโจทก์ จำเลยหรือระหว่างผู้เสียหาย ฝ่ายคนร้าย
นอกจากจะต้องมีโฆษกแล้ว ยังต้องอดกลั้น ต้องทน ใครด่าก็ด่าไป เราก็ทำไปแล้วความจริงมันจะพิสูจน์ออกมาเอง
นี่คือข้อคิดจากนักสืบเก่าชั้นครู พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ครับ
กากีกลาย22/3/65