เปิดใจ “ผกก.อ้อ” พงส.หญิงแกร่งกับตำแหน่งผู้บริหารโรงพักนาน 39 วัน
ภายหลัง พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า ผบก.น.8 มีคำสั่งเด้งนายตำรวจ 5 เสือ สน.ตลาดพลู ไปช่วยราชการ ศปก.บก.น.8 จากเหตุการณ์ทหารสนธิกำลังกับ ป.ป.ส.กทม.บุกเข้าทลายสถานบันเทิงเวฟผับ แหล่งท่องราตรีชื่อดังซึ่งเปิดให้บริการเกินเวลา เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ชื่อของ “ผู้กำกับอ้อ” พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ผกก.(สอบสวน) บก.น.8 ซึ่งถูกส่งไปนั่งรักษาราชการแทน ผกก.สน.ตลาดพลู อย่างไม่มีกำหนดในห้วงนั้น กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมาในทันที
เป็นตำรวจหญิงหัวหน้าโรงพักคนแรกในประวัติศาสตร์ตำรวจไทย ถึงแม้จะรักษาการณ์ก็ตาม
ยอมรับได้หลายประสบการณ์ใหม่
ตลอดระยะเวลาทั้งสิ้น 39 วัน เจ้าตัวได้ทำหน้าที่ในฐานะรักษาการณ์ผู้กำกับการโรงพัก “ผู้กำกับอ้อ”เล่าให้ฟังว่า
ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับมาเยอะมาก การเป็นหัวหน้า เข้าไปรักษาการณ์งานบริหารของสถานีตำรวจ ถือว่าเป็นเนื้องานของอาชีพเราโดยตรง
จากที่เคยรับผิดชอบงานสอบสวนเพียงหน้าเดียว เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่นี้ทำให้ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับงานในโรงพักทุกๆ ฝ่าย
ดูแลหลากหลายหน้าที่
“ช่วงที่รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผู้กำกับการ ต้องดูแลทั้งด้านการป้องกันปราบปราม ดูแลชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน งานด้านการสืบสวน ดูสถิติคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ผลการจับกุม การบริหารงานการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนว่าแต่ละวันรับแจ้งความคดีใดบ้าง งานธุรการซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องงบประมาณการเบิกจ่ายในด้านต่างๆ ในโรงพัก และงานด้านการอำนวยการจราจร
ในห้วงที่ไปรักษาการณ์นั้นเป็นช่วงที่การจราจรค่อนข้างประสบปัญหาหนักทุกพื้นที่ เพราะเป็นเวลาที่เด็กๆ กำลังเปิดเทอมพอดี ดังนั้น นอกจากการออกตรวจพื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างที่ตำรวจสายตรวจต้องทำ เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ในความรับผิดชอบแล้ว
ยังได้มีโอกาสออกไปช่วยจัดการจราจร แก้ปัญหา และอำนวยการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน ก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าจดจำ เพราะไม่เคยได้ทำอะไรแบบนี้มาก่อน”
ปูมหลังเกิดแพร่ มาโตกรุงเทพ
เกิดที่บ้านแม่ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จ.แพร่ แต่มาโตในย่านภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เรียนจบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสุภาคมศึกษา จบมัธยมปลายจากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ก่อนไปสำเร็จหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยมิชชั่น เมื่อปี พ.ศ.2534
จบพยาบาล-ก้าวตามรอยพ่อเป็นตำรวจ
“ตอนเล็กๆ เด็กผู้หญิงสมัยนั้นยังมีอาชีพในฝันไม่หลากหลายเหมือนตอนนี้ หลักๆ ก็ตั้งความหวังไว้ที่อาชีพครู และอาชีพพยาบาล ตัวเราเองมีคุณพ่อรับราชการเป็นตำรวจสังกัด บช.ปส. ชื่อ ร.ต.ท.ประยูร เอกฉัตร คิดว่าอยากจะรับราชการเหมือนอย่างคุณพ่อเพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง…”
หลังจบออกมาได้ทำงานตามสาขาที่เรียน อยู่ 6 ปี ที่แรกเป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลธนบุรี นานประมาณ 4 เดือน
จากนั้นช่วงปี พ.ศ.2535 ทางโรงพยาบาลตำรวจ เปิดรับสมัครบุคคลภายนอกที่มีวุฒิพยาบาล เข้าไปเป็นข้าราชการในสังกัด ได้ลองไปสมัครและบรรจุเป็น ร้อยตำรวจตรี อัพดีกรีเป็นพยาบาลผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในปีถัดมา
ต่อยอดชีวิต ป.ตรี นิติศาสตร์
ระหว่างนั้น “ผู้กำกับอ้อ” หาความรู้เพิ่มเติมด้วยการสมัครลงเรียนหลักสูตรปริญญาตรี ภาควิชานิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพราะส่วนตัวเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถต่อยอดให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
กระทั่งปี พ.ศ. 2542 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับสมัครข้าราชการตำรวจหญิง ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านนิติศาสตร์ เพื่อเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนจึงเป็นบทเริ่มต้นเข้าสู่ต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมจวบจนทุกวันนี้
โอนย้ายเป็นพนักงานสอบสวน
“ตอนนั้นตัดสินใจสมัครและทำเรื่องโอนย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวน ตามความเห็นส่วนตัวมองว่า งานพยาบาลกับงานพนักงานสอบสวน นั้นไม่ได้แตกต่างกัน
เพราะเป็นการทำงานบริการประชาชน ต้องทำงานเกี่ยวข้อง และมีปฏิสัมพันธ์กับคน ให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกชนชั้นเฉกเช่นเดียวกัน
ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน มา 20 ปี ก็ยังมีโอกาสนำประสบการณ์ความรู้ที่เคยได้รับจากวิชาชีพพยาบาลมาใช้ควบคู่กันไปอยู่เรื่อยๆ
อาทิ หากเริ่มสังเกตเห็นว่า ประชาชนที่เข้ามาแจ้งความมีอาการเจ็บป่วย ก็จะแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย เรื่องการโภชนาการและการรับประทานยาในเบื้องต้น บ่อยครั้งแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ตัวเองรู้จัก
องค์ความรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก เมื่อครั้งได้ร่ำเรียนมาสมัยเป็นพยาบาลก็ช่วยงานในหน้าที่พนักงานสอบสวนได้มาก เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานสอบสวนหญิง ต่างทำหน้าที่รับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีเป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมา ก็สามารถนำความรู้เรื่องจิตวิทยาเด็กมาใช้ในการทำงานได้อย่างลงตัว”
หน้างาน พงส.หญิง ไม่ต่าง พงส.ชาย
“ผู้กำกับอ้อ” ให้ความเห็นว่า อุปสรรคของผู้หญิงในการทำหน้าที่พนักงานสอบสวน หากมองในภาพรวมคงเป็นเรื่องของภาระในหน้างาน ที่ต้องทำไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะความรับผิดชอบจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของฝ่ายผู้ต้องหา
หน้างานนี้จะมีความรับผิดชอบกว้างขวางมาก คดีที่มีโทษทางอาญาทั้งหมดตกอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน
การปรับตัวให้สอดคล้องกับภารกิจคือ เวลานี้กฎหมายมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ การทำงานมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของเวลา บวกกับการปรับเปลี่ยนตามสภาวะของสังคม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวพันกับงานของพนักงานสอบสวน ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องอัพเดทตัวเองก้าวตามไปให้เท่าทันตลอดเวลา
ปัญหาอยู่ที่ความก้าวหน้าในสายอาชีพ
ปัญหาของพนักงานสอบสวนที่ผ่านมา มองว่า เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในสายอาชีพ เรื่องขวัญและกำลังใจในการทำงาน ที่ผ่านมามีการยุบแท่งพนักงานสอบสวนเกิดขึ้นทำให้คนทำงานท้อถอยหมดกำลังใจ คนที่รักในงานด้านการสอบสวนมองไม่เห็นอนาคตว่าตนเองจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร อยากให้ผู้บังคับบัญชาเล็งเห็นถึงความสำคัญของพนักงานสอบสวนให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังพอมีแสงสว่างเกิดขึ้นที่ปลายอุโมงค์ “ผู้กำกับอ้อ” บอกความคืบหน้าล่าสุด
สารวัตรเสมียนคดีโรงพัก คือข่าวดี
“มีแนวทางที่ผู้บังคับบัญชากับสมาคมพนักงานสอบสวน กำลังพิจารณาร่วมกัน โดยพยายามผลักดันในเรื่องการเปิดตำแหน่งสารวัตรผู้ควบคุมงานเสมียนคดีประจำโรงพัก
โดยจะให้พนักงานสอบสวนระดับสารวัตร ได้มีโอกาสเลื่อนไหลขึ้นไปเติบโตตามสายงานของตัวเองมากขึ้น เรื่องนี้มองว่ามีประโยชน์มากทั้งด้านจิตใจของคนทำงาน และด้านการให้บริการประชาชน
งานเสมียนคดีประจำโรงพัก จะเป็นหน้างานที่ช่วยสนับสนุนให้พนักงานสอบสวน มีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น
เพราะสารวัตรตำแหน่งใหม่นี้จะมาช่วยสนับสนุนทั้งในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลสาระบบทางคดี การจัดเก็บของกลาง การหาผลคดี การรายงานสถิติคดี การนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องฝากขัง และเรื่องอื่นๆ จิปาถะที่พนักงานสอบสวนต้องแบกรับกันอยู่จนทำให้งานไม่เกิดประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร”
ยืนยันหัวหน้าโรงพัก ตำรวจหญิงเป็นได้
ทิ้งท้ายก่อนจาก “ผู้กำกับอ้อ” ยืนยัน การเป็นผู้บริหารโรงพักไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้หญิง เพราะเราจะเน้นใช้หลักการบริหารงานบุคคล
แรกๆ อาจต้องเหนื่อยจากการทำการบ้าน การศึกษาทั้งบุคคล เรียนรู้อุปสรรคของการทำงาน อีกทั้งตรวจสอบสภาพพื้นที่ ซึ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิง ต่างก็ต้องทำเช่นเดียวกันหมดตามขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่
อาชีพตำรวจมีสายการบังคับบัญชาชัดเจน ผู้บังคับบัญชามีอำนาจออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตาม
ดังนั้นหลักการบริหารง่ายๆ คือเราต้องทำทุกวันตามหน้าที่ให้ดีที่สุด.
GreenBear16/6/62