แก๊งจีนแดงป่วนผู้ประกาศข่าว
ตัดต่อภาพหน้าจอขายสินค้า
คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
มิจฉาชีพที่ตั้งตัวเป็นองค์กรข้ามชาติระบาดในประเทศไทยทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากจีน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “แก๊งจีนแดง”
วิธีหากินของแก๊งจีนแดงที่ผ่านๆมา คือ ทำตัวคล้ายกับแก๊งพนันออนไลน์ทั่วไป เข้าประเทศในรูปแบบนักท่องเที่ยว ต่างคนต่างเดินทางมาเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ เปิดโรงแรมหรือเช่าบ้านรับเป็นเจ้ามือ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊กเป็นเครื่องมือทำมาหากิน พูดง่ายๆคืออาศัยประเทศไทยเป็นแหล่งปฏิบัติการ
หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ไปหลอกผู้เสียหายที่จีนแผ่นดินใหญ่ และประเทศใกล้เคียงบ้าง เมื่อปลายปีที่แล้วตำรวจสามารถจับผู้ร่วมขบวนการแก๊งจีนแดงแก๊งหนึ่งได้ 23 คน โดยคาดว่าแก๊งนี้มีประมาณ 40-50 คน
นี่แค่แก๊งเดียวเท่านั้น ยังเหลืออีกเป็นสิบๆแก๊ง ในไทย โดยเชื่อว่ามีทั้งชาวไทย และมาเลเซีย สมรู้ร่วมคิด
ล่าสุด “แก๊งจีนแดง” อัพเลเวลความโกงขึ้นมาอีกขั้น คราวนี้ใช้ความมีชื่อเสียงของสื่อมวลชนไทยเป็นเครื่องมือมาหลอกคนไทย โดยคนไทยด้วยกันเองร่วมมือกับชาวจีนที่อยู่นอกประเทศไทย
วิธีการง่ายๆคือ เปิดอินเตอร์เน็ตในโน๊ตบุ๊ก ดูข่าวออนไลน์ หลังจากนั้นเอาภาพหน้าจอที่มีผู้ประกาศข่าวกำลังอ่านข่าวมาตัดต่อ ส่งให้คนไทยในประเทศเขียนข้อความหลอกลวง ใส่ภาพสินค้าลงไป ให้เหมือนกับว่ามีการขายสินค้านั้นๆผ่านทางรายการจริงๆ
มันก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากที่มีคนหลงเชื่อ เพราะมันไม่สมจริงเอาเสียเลยแม้แต่นิดเดียว และถึงแม้ว่าจะไม่เนียนหรือไม่มีผู้หลงเชื่อ แต่ก็เกิดความเสียหายกับสถานีโทรทัศน์ช่องนั้นๆ เนื่องจากนำเอาโลโก้ และตัดต่อผู้ประกาศข่าวไปโฆษณาสินค้า มีความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ หลายกระทง
มีคนเข้าไปสอบถามทำทีว่าสนใจอยากซื้อสินค้า ปรากฏว่ามีการตอบกลับมาจริงๆ แต่เมื่ออ่านแล้วก็เหมือนเป็นการตอบผ่านโปรแกรมแปลภาษาในเฟซบุ๊กเสียมากกว่า จับใจความเป็นไทยไม่ค่อยได้ จึงสันนิษฐานกันว่าลักษณะการก่อเหตุเหมือนแก๊งจีนแดง แต่คราวนี้ใช้ประเทศอื่นเป็นฐานปฏิบัติการ หรือไม่ก็เป็นแก๊งคนจีนที่อยู่ในไทย
ขบวนการนี้มีคนไทยเกี่ยวข้องแน่นอนครับ ตามพฤติการณ์แล้วจะให้ปลอดภัยคนก่อเหตุหรือผู้ที่เผยแพร่ภาพตัดต่อน่าจะอยู่ต่างประเทศเพื่อป้องกันการตรวจสอบ ไอดีแอดเดรส
คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าว และบรรณาธิการข่าวอาเซียนของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้เสียหาย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหลังถูกมิจฉาชีพตัดต่อภาพขายสินค้าออกมาเผยแพร่ โดยระบุว่า ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาให้เพจเหล่านี้ใดๆทั้งสิ้น
“รายการที่นี่ไทยพีบีเอสไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านี้ เป็นการตัดต่อใช้ภาพข่าวหลอกลวง สร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า ใครพบเห็นการตัดต่อลักษณะนี้เพิ่มเติมช่วยกัน report ได้นะคะ ฝ่ายกฎหมายของ ThaiPBS กำลังเก็บข้อมูลและดำเนินการอยู่ค่ะ” ณัฎฐา โพสต์เฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม ยังพบผู้ประกาศข่าวที่ตกเป็นผู้เสียหายถูกแก๊งจีนแดงตัดต่อภาพนำไปขายสินค้า เช่น กิตติ สิงหาปัด จากรายกรข่าว 3 มิติ , น้องไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ จากเรื่องเล่าเช้านี้ ,ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เป็นต้น
นี่ละครับเทรนด์การก่อเหตุบนโลกไซเบอร์ที่ปีนี้เริ่มต้นจากลองเชิงจากเบาไปหาหนัก วันนี้อาจจะยังมีผู้หลงเชื่อไม่มากนัก แต่แก๊งจีนแดงก็พัฒนาความโกงไปเรื่อยๆ น่าสนใจมากว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จะรับมือโจรโซเชียลมีเดีย ได้อย่างไร