Sunday, September 8, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนเจาะลึกสาเหตุตำรวจฆ่าตัวตาย งาน-นาย หรือ “โรคซึมเศร้า”

    เจาะลึกสาเหตุตำรวจฆ่าตัวตาย งาน-นาย หรือ “โรคซึมเศร้า”

     

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    ส่งท้ายปีด้วยข่าวที่น่าเศร้า ทางทีมงาน PolicesNewsVarieties ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของ พ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธ์เกตุ หรือ สารวัตร”ป๊อป” สารวัตรฝ่ายแต่งตั้ง กองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

    การสูญเสียตำรวจหนุ่มอนาคตไกลครั้งนี้ต้องไม่สูญเปล่าครับ อย่างน้อยๆก็ต้องเป็นบทเรียนที่สังคมหันกลับเข้ามาให้ความเห็นใจอาชีพตำรวจว่าอยู่ภายใต้การทำงานที่กดดันมากแค่ไหน ไม่ใช่สักแต่ด่าเหมือนที่ผ่านมา

    ตั้งแต่ข่าวการฆ่าตัวตาย ผมได้ดู พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือ “หมอแอร์” ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง PPTV วิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงประเด็นและน่าสนใจมาก

    ผมสรุปจากคำพูดหมอแอร์ ได้ว่าตำรวจหลายคนมีอาการทางจิต เครียด ซึมเศร้า จาก 3 เหตุผลหลัก คือ
    1) งาน เนื่องจากในปัจจุบันงานที่ได้รับมอบหมายมีมากกว่าจำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบ ทั้งงานด่วน งานราษฎร์ งานนายฝากให้จัดการ หรือแม้แต่ในช่วงเทศกาลที่ประชาชนทั่วไปได้หยุดพักผ่อน กลับบ้านต่างจังหวัด แต่ตำรวจบางหน่วยได้รับคำสั่งห้ามลา ต้องเตรียมตัวพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

    2) นาย เมื่องานมีเยอะแล้วต้องมาเจอกับผู้บังคับบัญชาที่ไม่เข้าใจ มีอคติกับลูกน้อง ย่อมทำให้ตำรวจอยู่ในสภาวะกดดันเพิ่มมากขึ้น จากปกติ แต่หากเจอนายที่ดี สอดส่องเอาใจใส่ดูแลปัญหานี้ก็จะน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามด้วยระบบของตำรวจมีโยกย้าย นายเกษียณ ย่อมต้องเจอผู้บังคับบัญชาหลากหลายประเภท นี่เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญจากงานที่มีจำนวนมากทำให้ตำรวจเข้าสู่สภาวะเครียดได้ สิ่งที่ควรแก้ไขคือไม่ให้อำนาจกับผู้บังคับบัญชามากถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายกับลูกน้องได้ เพื่อป้องกันการแก่งแย่งชิงดี กลั่นแกล้ง


    การเฝ้ามองดู “เด็กนาย” เติบโตแซงหน้าไปนั้นเจ็บปวดจนสามารถทำให้ตำรวจฆ่าตัวตายได้

    3) ผลกระทบ หลังมีการอาการโรคซึมเศร้า ตำรวจจำนวนมากไม่กล้าเดินเข้าไปพบแพทย์ ทั้งๆที่มีโรงพยาบาลตำรวจให้บริการอยู่แล้ว เพราะเกรงว่าจะมีประวัติการรักษาที่มีผลกระทบต่อการเลื่อนขั้น แต่งตั้ง โยกย้าย บางคนถึงกับต้องหลบไปซื้อยาทานเอง มีบางคนที่รู้จักกับหมอเป็นการส่วนตัวเท่านั้นที่กล้ามาให้รักษา แต่เมื่อถึงเวลาซื้อยาก็ขอไปซื้อที่อื่นเพราะกลัวว่าจะมีชื่อเข้าไปในระบบเบิกยา การเข้าถึงแพทย์ของตำรวจไทยนั้นเข้าขั้นแย่มากๆ

    นี่ยังมีกูรูให้ข้อคิดเพิ่มเติมด้วยนะครับว่า “นาย”นั้นสำคัญกับชีวิตการทำงานตำรวจมาก หากบางคนไม่ถูกใจนาย นายก็สั่งย้าย หรือนายบางคนใช้ให้ลูกน้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อถูกตรวจสอบนายก็ลอยตัว คนที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยกลับกลายเป็นลูกน้อง ตรงนี้มีผลกับการเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการสร้างความเป็นธรรมในการเลื่อนขั้นเงินเดือน

    ผมเข้าไปดูในเพจ “โรงพยาบาลตำรวจ” ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งทีมแพทย์จิตเวช โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2560 เฉพาะข้าราชการตำรวจที่มาใช้บริการที่ห้องตรวจโรค ของโรงพยาบาลตำรวจ มีจำนวน 605 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนมากมาจากปัญหาการทำงาน ทั้งถูกกดดัน งานเยอะ ความเครียด และเรื่องโยกย้าย

    จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551- 2559 ของกองวิจัยข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังพบอีกว่าข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 299 ราย ขณะที่ยอดประชาชนที่เข้ามารับการรักษาด้วยโรคซึมเศร้า ในช่วงมกราคม ปี 2560 ถึง ปัจจุบัน มียอดรวมกว่า 1,813 ราย ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าข้าราชการตำรวจที่พบว่ามีการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากสุด อาจเพราะมาจากความเครียดจากการกดดันในสายงานที่รับผิดชอบ

    โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีตำรวจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเฉลี่ยเกือบปีละ 100 คน โดยในปี 2558 ตำรวจเข้ารับการรักษาโรคทางอารมณ์ 530 ราย พบป่วยเป็น โรคซึมเศร้า 95 ราย ,ปี 2559 เข้ารับการรักษา 594 ราย ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 79 ราย และปี 2560 เข้ารับการรักษา 605 ราย ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 83 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมตำรวจที่มาปรึกษากับจิตแพทย์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากยังมีความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในด้านลบ

    ทั้งนี้ คนรอบข้างหากพบเหตุความผิดปกติของตัวผู้ป่วยเช่น นิสัยส่วนตัวเปลี่ยนไปจากปกติ สิ่งที่เคยชอบเคยทำกลับไม่ชอบ หรือไม่ทำในสิ่งที่เคยทำ หรือนอนน้อย พักผ่อนน้อย มีการซึม มีความเครียดยาวนานกว่าปกติ อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ให้รีบติดต่อเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี

    ว่าที่ร้อยตำรวจตรี ชัยชนะ จรูญพิพัฒน์กุล กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่งสาเหตุมาจากการปล่อยให้ผู้ป่วยโรคนี้อยู่กับโซเชียลมีเดียนานๆ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการฆ่าตัวตายเนื่องจากโซเชียล ส่วนมากจะเป็นการบอกเล่าเรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ของคนอื่น และเมื่อผู้ป่วยเข้าไปเสพสิ่งเหล่านี้จะยิ่งตอกย้ำสิ่งที่คิดว่าตัวเองขาด และการใช้เวลากับโซเชียลยังทำให้ไม่ได้พบปะผู้คน ขาดการติดต่อสัมพันธ์ ยิ่งสร้างความซึมเศร้ามากขึ้น คนใกล้ตัวหรือคนรอบข้างต้องช่วยกันดู แลอย่างใกล้ชิด

    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลตำรวจเตรียมเปิดเพจเฟซบุ๊ค และสายด่วน ที่จะคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจิตเวช และมีแบบสอบถามให้ข้าราชการตำรวจลองทำเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แก่ข้าราชการตำรวจ ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยป้องกันปัญหาข้าราชการตำรวจที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและยังไม่รู้ตัว ก่อนที่จะก่อเหตุฆ่าตัวตายเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

    และนอกจากสายด่วน 1599 ทางโรงพยาบาลตำรวจ จะเปิดให้คำปรึกษาการติดต่อผ่านเพจ สายด่วนใหม่ที่กำลังจะเปิดภายในสิ้นปี 2560 นี้เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยจะเป็นความลับ เชื่อว่าจะมีตำรวจที่มีข้อสงสัยว่าตัวเองอาจจะป่วยด้วยโรคนี้ยินดีเข้ารับการปรึกษามากขึ้น
    วันนี้มาเป็นวิชาการ มีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเป็นงานเป็นการกันหน่อยนะครับ ทั้งหมดนี้อาจจะน่าเบื่อ อาจจะเป็นการพูดซ้ำซากกับเรื่องเดิมๆ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของตำรวจได้อย่างทันที แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าต้นเหตุจากการฆ่าตัวตาย มาจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว…จริงหรือ?

    สุดท้ายนี้ ขอสวัสดีปีใหม่ 2561 ตำรวจทุกท่านครับ หมั่นออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง แจ่มใส นั่งสมาธิ เข้าวัดหาความสงบตามเวลาที่สะดวก ขอให้คุณพระคุ้มครองตำรวจไทยครับ
    แล้วเจอกันปีหน้า ที่เก่า…เวลาเดิมครับ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments