Friday, March 29, 2024
More
    Homeปั้นลูก(ตร.)เป็นนักหวดเทนนิส-ไม่มีทางลัด

    เทนนิส-ไม่มีทางลัด

     

    เทนนิสเป็นกีฬาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะไปเรื่อยๆ แต่ละคนอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความพร้อม ใช่ว่าทุกคนที่หันมาเล่นเทนนิสจะประสบความสำเร็จในการเล่นอาชีพเหมือนกันหมด หรือพูดตรงๆก็คือมีไม่กี่คนหรอกครับที่สามารถเทิร์นโปรแล้วเดินทะลุฝั่งฝัน

    ขนาดฝรั่งได้เปรียบทั้งรูปร่างและระบบการฝึกซ้อมยังการันตีในอาชีพนี้นี้ไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับนักเทนนิสไทยที่ยังพัฒนาห่างไกลกว่าพวกเขาอีกหลายขุม

    บางคนประสบความสำเร็จสมัยเล่นเยาวชนไอทีเอฟ สามารถทำผลงานได้ดีติดท็อปเทนของโลก บางคนขึ้นเป็นมือหนึ่งโลกตั้งแต่อายุ 15-16 แต่พอเล่นอาชีพกลับสาละวนอยู่กับที่ เวียนวนอยู่แต่ในทัวร์ฟิวเจอร์เงินรางวัล 15,000-25,000 เหรียญสหรัฐฯหรืออย่างเก่งก็แค่เล่นในชาเลนเจอร์ทัวร์เงินรางวัลไม่เกิน 100,000 เหรียญฯสหรัฐฯ ไม่สามารถยกระดับไปเล่นในเอทีพีทัวร์ หรือดับเบิลยูทีเอทัวร์ของนักเทนนิสหญิงได้

    นักเทนนิสชั้นนำของเอเชียอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น จีน หรือไต้หวัน ตอนเล่นเยาวชนเล่นดีมากทำผลงานได้ยอดเยี่ยมติดท็อปเทนกันหลายคน แต่พอถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออายุ 18 ไปเล่นอาชีพเร่ิมทยอยหายหน้าหายตาไปทีละคนๆ เหลือยืนหยัดเล่นอาชีพได้ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะไต่ระดับอยู่ฟิวเจอร์ครับ ขณะที่แมตช์อาชีพ 15,000 เหรียญฯในบ้านเรา แทบไม่มีนักหวดไทยคนไหนหลุดเข้าไปเล่นในรอบเมนดรอว์ตามแร้งกิ้งโลกได้เลย ได้สิทธิพิเศษหรือไวล์การ์ดก็มีอันต้องตกรอบแรกสองรอบ นึกแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้

    เมื่อย้อนมาดูลูกตัวเองที่กำลังข้ามเส้นเยาวชนสู่อาชีพก็คงไม่ต่างจากนักหวดรุ่นพี่หรอกครับ หนทางข้างหน้ามีแต่ขวากหนามให้ก้าวผ่านอีกมาก แต่ผมก็เช่ือว่าเด็กไทยทุกคน มีหัวใจเลือดนักสู้ไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ เพียงแต่การปั้นนักเทนนิสนอกจากต้องทำกันเป็นระบบแล้วยังต้องต้องรอเวลาค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยทั้งเรื่องร่างกาย เทคนิคและแท็กติค ขนาดฝรั่งที่มีดีกว่าเราทุกอย่าง ยังต้องอาศัยเวลาเลยครับ มีไม่กี่คนหรอก ที่ก้าวกระโดดในอาชีพตอนอายุไม่ถึง 20

    ตอนผมพาลูกชายไปหาประสบการณ์ในเกมโปรเซอร์กิตรายการ 15,000 เหรียญฯช่วงปลายปี 60 ที่ทรูอารีน่าหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีโอกาสได้ดูนักหวดวัยโจ๋อายุ 18 ปีเต็ม ดีกรีมือ 3 จูเนียร์โลกชาวฮังการี แชมป์จูเนียร์ออสเตรเลี่ยนปี 2017

    จากนั้นเขาแทบทิ้งแมตช์เยาวชนไปเล่นอาชีพ ผลงานก็ดูลุ่มๆดอนๆครับ ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนตอนเล่นเยาวชน

    แร้งกิ้งนักหวดฮังการีตอนนั้นอยู่ประมาณ 600 ของโลกในระดับเอทีพี แต่พอมาเจอนักหวดรุ่นใหญ่มีอายุแก่กว่า 4-5 ปี และมีอันดับใกล้เคียงกัน เห็นได้ชัดว่าแม้ฝีไม้ลายมือแชมป์ออสซี่จูเนียร์จะดูดีกว่า แต่ร่างกายยังเป็นรองครับ เล่นไปเล่นมาจากที่สูสีตอนต้นเกม พอเข้าช่วงท้ายเซตคู่ต่อสู้ที่ร่างกายแข็งแกร่งกว่าเร่ิมเบียดได้ในเซตแรก 7-5 และเซตสองปิดแมตช์เอาชนะแบบเกมศูนย์ จอดป้ายไปแค่รอบสองเท่านั้น

    วีคต่อมานักหวดรุ่นใหญ่คนนั้นต้องโคจรมาเจอกับลูกชายผมที่ไม่มีอะไรไปเทียบกับแชมป์จูเนียร์แกรนสแลมได้เลย แต่ลูกผมแพ้ไป 26-36 ชนิดได้เกมเท่ากันเป๊ะ ขณะที่นักหวดวัยโจ๋รายนี้ไปแพ้รุ่นพี่วัยฉกรรจ์ที่ร่างกายกำยำกว่า ตกรอบเร็วอีกเช่นเคย

    นี่คือบทพิสูจน์ว่าเทนนิสไม่มีทางลัดเหมือนกีฬาชนิดอื่นครับ เส้นทางสายนี้ต้องใช้เวลาค่อยๆเดินไปทีละก้าว เก่งเล็กที่ว่าแน่เมื่อกระโดดมาชนรุ่นใหญ่ก็มีสิทธิ์ร่วงไม่เป็นท่าครับ

    —————————— เดอะวินเนอร์

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments