Friday, November 22, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนปรากฏการณ์ FAKE NEWS ข่าวลวง ข่าวหลอก

    ปรากฏการณ์ FAKE NEWS ข่าวลวง ข่าวหลอก

     

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    กระแสโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า สร้างผลกระทำให้กับสื่อหลักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายในการนำคลิปหรือข่าวมาจากเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมากมารายงาน

    เมื่อการแข่งขันบนโลกออนไลน์มีปัจจัยหลักคือ ยอดไลค์ ยอดแชร์ จึงทำให้เกิดเว็บข่าวปลอม หรือแม้แต่อินโฟกราฟฟิคปลอม

    สังคมไทยเพิ่งจะได้รู้จักกับ “เฟคนิวส์” (Fake News) บนโซเชียลมีเดียไม่นานนัก หลังสร้างความเสียหายให้กับ “ผู้ที่อยู่ในข่าว”

    แต่จริงๆแล้วเฟคนิวส์นั้น อยู่คู่สังคมไทยหรือที่เราเรียกว่า “ข่าวลือ” มาอย่างยาวนาน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากปากต่อปาก มาเป็น การกดไลค์ กดแชร์

    เฟคนิวส์แบบไทยๆ ยังเป็นการสร้างข่าวเท็จขึ้นมาเพื่อเล่นกับกระแสสังคมจนทำให้เกิดยอดแชร์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยังมีการเขียนข่าวที่อยากให้เป็น โดยเป็นการกุข่าวขึ้นมา เช่น “ครูปรีชายอมรับแล้วไม่ใช่เจ้าของหวย” , “ตำรวจเตรียมแจ้งข้อหาหัวหน้าวิเชียร” เป็นต้น

    นอกจากนี้ล่าสุดเรายังพบการนำภาพ บิ๊กตำรวจระดับรองผบ.ตร. ก้มตัวไหว้ผู้ต้องหาคดีลักลอบฆ่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นภาพที่ถูกนำเสนอเพียงเพื่อสร้างความเข้าใจผิดและความเกลียดชัง เนื่องจากผู้เผยแพร่ต้องการปั่นกระแสสังคมที่คดีดังกล่าวไม่คืบหน้า

    บนโลกออนไลน์ ยังมีคลิกเบท (Clickbait) หรือการพาดหัวข่าวให้หวือหวา สร้างความสนใจหรือโน้มเอียงรายละเอียดข่าว แต่เมื่อเข้าไปอ่านแล้วกลับไม่มีข้อความอย่างที่พาดหัว ซึ่งถูกจริตกับคนไทยเป็นอย่างมากที่ไม่ชอบอ่านเนื้อหาข่าวยาวๆ แค่เพียงอ่านพาดหัวข่าว 2 บรรดทัดก็สามารถตัดสินและให้ความเห็นโจมตีได้แล้ว

    แวดวงวิชาการสื่อสารมวลชนต่างประเทศ เรียกว่า เฟค นิวส์ (Fake News)หรือข่าวลวง ที่สื่อมวลชนมืออาชีพกำลังเป็นกังวลกันอยู่ เพราะข่าวลวงนั้น ส่งผลกระทบทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสติปัญญาของคนในสังคม

    หากมองความเกี่ยวพันระหว่าง “เฟคนิวส์” กับตำรวจ สิ่งที่ต้องตระหนักมีอยู่ 2 ประเด็นครับ

    อย่างแรกเลยคือ ภาระงานที่มากขึ้นแน่นอน เนื่องจากผู้ที่เสียหายจากการตกเป็นข่าวจะเข้าแจ้งความมากขึ้น ในขณะที่การติดตามตัวนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการแชร์อินโฟกราฟฟิค หรือข้อมูลภาพ

    อีกประเด็นที่สำคัญคือ การปฏิบัติงานต่อสู้กับข่าวลือนั้นเป็นเรื่องยากเสมอ ข่าวลือที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นการโยนหินถามทาง ถูกสร้างมาเพื่อสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจผิด ถูกสร้างมาต่อต้านกับข่าวจริงที่ถูกต้อ ง หากข้อมูลข่าวนั้นเกี่ยวข้องกับตำรวจ ก็เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับความเข้าใจผิด ดังนั้นตำรวจควรมีโฆษกขึ้นมาตอบโต้ ชี้แจงข้อเท็จจริงบนโซเชียลมีเดีย

    ไม่ว่าจะเป็นเฟคนิวส์ หรือคลิกเบท ต่างก็มีจุดประสงค์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย กลุ่มคนที่ทำเรื่องเหล่านี้นอกจากต้องการยอดไลค์ ยอดแชร์แล้ว ยังไม่สนใจด้วยว่าการกระทำนั้นมีผลต่อบุคคลที่อยู่ในข่าวมากน้อยอย่างไร

    การต่อต้านหรือรู้เท่าทัน เฟคนิวส์บนโซเชียลมีเดียจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีที่ได้ผลดีที่สุดคืออย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆบนเฟซบุ๊ก อย่าเพิ่งแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้รับการกลั่นกรอง ควรรอจนกระทั่งกระแสข่าวนั้นเบาลง เมื่อสื่อหลักค่อยๆทยอยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องออกมา แล้วจึงวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือนั้น

    วันนี้มาเป็นวิชาการเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากกระแสเฟคนิวส์ทำสื่อมวลชนปั่นป่วนไปไม่น้อยทีเดียว

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments