Thursday, May 2, 2024
More
    Homeบทความทั่วไป“บิ๊กโอ๊ด ปส.” ยก “ครูแดร์” ตำรวจผู้เสียสละ

    “บิ๊กโอ๊ด ปส.” ยก “ครูแดร์” ตำรวจผู้เสียสละ

    กะเทาะเปลือกแนวคิด พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส.แม่ทัพปราบยาเสพติด ชู “ครูแดร์” ตำรวจผู้เสียสละยุคใหม่ เข้าถึงชุมชน เสริมภูมิคุ้มกันหมู่เด็กนักเรียน ในยุคยาบ้าเกลื่อนเมือง

    เป็นที่ทราบกันดีปัจจุบันราคายาบ้าถูกราวกับลูกอมขนมขบเคี้ยว  คือ ดัชนีชี้วัดได้เป็นอย่างดีถึงปัญหายาเสพติดในปัจจุบันว่าสาหัสสากรรจ์เพียงใด

    แน่นอนว่าเป็นไปตามกลไกการตลาด เมื่อปริมาณ Supply ของขบวนการยานรกที่ลักลอบนำเข้ามามีมากจนยากเกินจะป้องกัน ย่อมหมายถึงตัวเลข Demand นักเสพหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามมา

    นี่จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่พอจะพิสูจน์ได้ว่าลำพังการแก้ปัญหาในเชิงรุก เร่งปราบปรามเพียงด้านเดียวคงไม่สำฤทธิ์ผล หากไร้ซึ่งแนวทางการเสริมสร้างความรู้เป็นเกาะคุ้มกัน  เพื่อลดปริมาณนักเสพหน้าใหม่ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเยาวชน กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง

    ด้วยประการฉะนี้จึงอยากให้มองเห็นความสำคัญของ “ครูแดร์” อีกหนึ่งแรร์ไอเทมของบุคลากรตำรวจที่มักถูกมองข้ามในสายตาผู้คน

    บทบาทของตำรวจที่ต้องสวมหมวกอีกใบในการเป็นครู…..

    เป็นที่รู้กันดี บุคลากรตำรวจที่จะทำหน้าที่เป็น”ครูแดร์”ได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานในระดับกองบัญชาการในสังกัด ภายใต้การกำกับของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด( บช.ปส.) ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ

    พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส. ในฐานะแม่ทัพหน่วยงานป้องปรามยาเสพติด ให้คำนิยามครูแดร์ของตัวเองว่า

    อย่างแรกเราต้องทราบในบริบทหน้าที่ของคำว่าครู คือ การให้ความรู้นักเรียน เช่นเดียวกับบทบาทหน้าที่ของตำรวจ คือการดูแลความปลอดภัยเข้าถึงประชาชน

    ดังนั้นครูแดร์ในรูปแบบของตน จึงไม่ใข่แค่การให้ความรู้เด็กนักเรียนในห้องเรียน แต่ต้องมีการลงพื้นที่เข้าถึงครอบครัวของนักเรียนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายให้เข็มแข็งตั้งแต่ภายในครอบครัว  

    อย่างเดิมที ห้องนึงจะมีนักเรียนประมาณ 50 คน แต่ถ้าหากเราสามารถเจาะเข้าถึงครอบครัวของนักเรียนได้ นั่นหมายถึงเราจะมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 50 ครอบครัว ซึ่งจะคล้ายกับแนวทางของโครงการชุมชนยั่งยืน ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความเข้มแข้งในชุมชนให้ปลอดยาเสพติด เพียงแต่บริบทของการขับเคลื่อนของโครงการครูแดร์จะมีมิติที่แตกต่างออกไป

      “อย่างชุมชนยั่งยืน จะเป็นการให้โอกาสผู้เสพด้วยการพามาบำบัดให้กลับตัวกลับใจคืนสู่สังคมไม่หวนกลับเข้าไปในวังวนเดิมอีก

    แต่ในกรณีของครูแดร์จะเป็นการปลูกฝังเด็กนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นได้ รู้ถึงพิษภัยและโทษ เหมือนกับเป็นวัคซีนเสริมเกราะคุ้มกันให้พวกเขาห่างไกลจากยาเสพติด ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป”

    ผบช.ปส. ยกตัวอย่าง พร้อมเท้าความที่ไปที่มาของโครงการ “ครูแดร์”ด้วยว่า

    ครูแดร์ มาจาก อักษรย่อคำว่า D. A. R. E.ของซื่อโครงการ DRUG ABUSE RESISTANCE EDUCAION

    เป็นโครงการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในเด็กนักเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่หลายประเทศทั่วโลกจะนำมาใช้เฉพาะในประเทศไทยโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี 2542

    ปัจจุบันมีครูแดร์ด้วยกันทั้งหมดประมาณ 8,000 คน แต่ละปีจะมีครูแดร์เกษียณอายุราชการไปจำนวนหลายคน เราจึงจำเป็นต้องพยายามเฟ้นหาครูแดร์ใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทน

    ผู้ที่จะมาเป็นครูแดร์จะต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วยใจ เพราะการจะนำตำรวจมาเป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีศรัทธาและรักในการสอน ดังคำที่ว่า “ทำด้วยศรัทธา อาสาด้วยใจ” นี่คือคติในการทำงานเพื่อสังคมของเหล่าครูแดร์ สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ และ ที่สำคัญต้องรักในการสอนสามารถเข้ากับเด็กนักเรียนหรือผู้คนในชุมชนได้ และเป็นที่ไว้ใจของชาวบ้านเด็กนักเรียน

    เพราะต้องยอมรับว่าเด็กวัยรุ่นมักจะเชื่อฟังเพื่อนหรือครู มากกว่าพ่อแม่

    ฉะนั้นการทำให้เขาไว้ใจ กล้าที่จะปรึกษาปัญหากับเรา จะยิ่งเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเหล่านี้

      “ปัจจุบันเรามีครูตำรวจแดร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหลายคน และที่น่าภูมิใจในจำนวนนี้มีครูแดร์จำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจและสมัครเข้ามาเป็นครูแดร์ เพราะประทับใจและชื่นชอบในสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็กนักเรียน พอโตขึ้นได้เป็นตำรวจจึงอยากอาสาเข้ามาสานต่อหน้าที่นี้ต่อไป “
     

    “อย่างที่บอกครูแดร์ในไทยมีการก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 ผ่านมากว่า 24 ปี เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา  จำเป็นต้องมีการปรับประยุกต์รูปแบบการเรียนการสอน มีการนำสื่อสังคมออนไลน์ เทคโนโลยี เข้ามาใช้เพื่อให้เด็กนักเรียนเกิดความสนใจและสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุด”

    ผบช.ปส. กล่าวทิ้งท้าย

    จากเรื่องราวที่ไล่เรียงมาทั้งหมดนี้ ทำให้ได้รู้ว่า

    ครูแดร์ นั้นถือเป็นบุคลากรตำรวจที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก และ ถือเป็นบุคลากรตำรวจที่ยอมเสียสละเพื่อพี่น้องประชาชนไม่น้อยไปกว่าตำรวจหน้าที่อื่น ๆ

    พวกเขาเหล่านี้ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะสวมหมวกเป็นตำรวจก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎ์ร

    แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรับบทบาทเป็นครูผู้คอยให้ความรู้กับเด็กนักเรียน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คอยให้การสนับสนุน หรือ ซัพพอร์ตพวกเขาเหล่านี้อย่างเต็มที่

    เพราะนี่คือวัคซีนโดสสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเด็กนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติด ท่ามกลางวิกฤตยาเสพติดเกลื่อนเมือง

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments