Saturday, April 27, 2024
More
    Homeท่องปทุมวัน“ผู้การจราจรกลาง”พูดเรื่องจริงรถติดเพราะอะไร

    “ผู้การจราจรกลาง”พูดเรื่องจริงรถติดเพราะอะไร

    ลูกชายนายทหารชั้นประทวนจากค่ายจิรประวัติ นครสวรรค์ แต่ไปโตที่พิษณุโลก จบจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  สอบเข้าเตรียมทหาร รุ่น 34  นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 50 

    ที่มาเป็นตำรวจ มาสอบเตรียมทหารต้องพูดตรงๆไม่ค่อยจะชอบตำรวจ เพราะความที่เป็นลูกทหาร แต่ด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้นะ อาจเพราะไม่ชอบนี่แหละ หรือเพราะเพื่อนชวนมาสอบ ตอนที่เราไม่อยากไปเป็นทหาร ตำรวจ  อยากไปเรียนวิศวะ แต่เพื่อนบอกให้ลองมาสอบ

    เลยมากับเพื่อนสนิทมาลองสอบเหล่าตำรวจ แต่เพื่อนกลุ่มนั้นไม่มีใครสอบติด มีผมติดอยู่คนเดียว อาจจะเพราะบาปกรรมรึเปล่าที่ไม่ค่อยชอบตำรวจ เลยต้องมาเป็นตำรวจซะเอง

    ผู้การจี๊ด-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ เล่าหัวเราะย้อนอดีตที่มาสวมเครื่องแบบสีกากีก่อนเล่าต่อถึงเส้นทางรับราชการ

    จบออกมาเป็น รองสารวัตรสอบสวน สน.บางขุนเทียน สน.บางบอน สน.สำเหร่ ติดยศ พ.ต.ต.เป็น สว.ศูนย์จริยธรรมฯ บก.อก.จต. ขึ้น รอง ผกก.ฝสต.1 กต.3 จต. แล้วกลับนครบาลเป็น รอง ผกก.ฝอ.3 บก.อก.บช.น. 

    พอดีเจอ ท่านผู้ช่วยฯ สำราญ นวลมา ขณะเป็นผกก. สน.ดอนเมือง ชวนมาอยู่ด้วยกัน เลยขอย้ายตามเป็น รอง ผกก.จราจร 

    หลังจากนั้นท่านผู้ช่วยมาเป็น ผกก.191 ผมเลยได้ขึ้น ผกก.สน.ดอนเมืองแทน น่าจะประมาณปี 2556 เป็นยาว 5 ปี เนื่องจากมีภารกิจสำคัญที่นั่น  แล้วมาขึ้นรองผู้การ 191 ตอนผู้ช่วยฯสำราญ เป็นผู้การอีก 3 ปี แล้วย้ายไปเป็นรองผู้การ บก.น.2 อีก 2 ปี ถึงได้ขึ้น ผบก.จร.คำสั่งล่าสุด

    บก.จร. 6รองผู้การ 7กองกำกับ 

    กองบังคับการตำรวจจราจร กำลังพลก็เยอะพอสมควร 1,800-1,900 นาย มี 7กองกำกับการ มีรองผู้การ 6 ท่าน สโคปงานในหน้าที่จราจรกลาง หลักๆคือ 1.หน้าที่จราจรของพื้นที่ทั่วไปในการเสริม  กก.1 จะดูแลพื้นที่ กทม. ทั้งหมด จะไปเสริมจุดที่กำลังในพื้นที่เขาไม่มี   กก.1 ก็จะเข้าไปเสริมในภารกิจสำคัญๆ เช่น งานตรุษจีนเยาวราช หรืองานปีใหม่ พื้นที่เขาขอกำลังมา เราจะส่งกำลังไปช่วย

    บก.02 ดูภาพรวมจราจรกรุงเทพ

    ส่วน กก.2 รับผิดชอบทางด่วนทั้งหมดใน กทม.เป็นพื้นที่ที่เรารับผิดชอบเองเลย โดยตรงก็จะมี ด่วน 1 ด่วน 2 วิภาวดี หรือโทลเวย์   กก.3  เป็นเรื่องของการเก็บใบสั่ง การจ่ายใบสั่งของใน กทม.ทั้งหมด ศูนย์รวมของ บช.น.  กก.4 เขาเรียกศูนย์ควบคุมและสั่งการ  คือดูกล้องวงจรปิด ทั่ว กทม.เพื่อจะสั่งการจราจรในพื้นที่ มี บก.02 หรือข่ายทางวิทยุ หรือศูนย์ควบคุมเป็นผู้สั่งการดูแล ในส่วนนี้ จะดูแลภาพรวมการควบคุมการจราจร เช้า-เย็น โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน

    กก.6 ตำรวจโครงการพระราชดำริ

    ส่วน กก.5 ก็เป็นเรื่องการตรวจเรื่องมลภาวะทั้งหลาย หรือที่ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่าตรวจควันดำ หรือเรื่องเมาสุรา ช่วงกลางคืน การตั้งด่านก็จะเป็นเรื่องของ กก.5 ส่วน กก.6 เป็นกองกำกับที่เกี่ยวกับดูแลโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ท่านพระราชทาน กองกำกับการสุดท้ายจะเป็น ฝอ.เป็นฝ่ายอำนวยการ

    เครื่องแบบชุดสีน้ำเงิน

    ในส่วนของโครงการพระราชดำริ จะมีเรื่องสำคัญๆ แบ่งเป็น 3 อย่าง คือช่าง จะเป็นช่างยนต์สำหรับรถเสีย ช่างคน หรือการดูแลคน คนเจ็บ คนป่วย การส่งอวัยวะหัวใจ หรือนำคนป่วยคนเจ็บที่ขอความช่วยเหลือ กรณีรถติดขัดก็จะไปนำขบวน นำอะไรให้ ที่ชาวบ้านร้องขอมา

    อีกอย่างคือช่างถนน จะไปดูโดยเฉพาะหน้าโรงเรียน หน้าเขตห้างร้าน ร้านอาหาร หรือเขตพระบรมมหาราชวังที่จะมีประชาชนมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์  จะส่งตำรวจโครงการพระราชดำริ ไปดูแล ชุดน้ำเงิน ที่เราเห็น หมวกฟ้า  

    ตั้งด่านเน้นจับเมาขับ

    แนวทางตั้งด่านก็ฟังนโยบาย ผบ.ตร.และของ น.1 ที่จะต้องควบคุมงานจราจรว่า 1.การตั้งด่านต้องสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนน้อยที่สุด ไม่ตั้งในช่วงเวลาเร่งด่วน จะไม่มีด่าน 2.ก็ต้องเพื่อประโยชน์ คือ 1.ลดอุบัติเหตุ เช่น ด่านแอลกอฮอล์  จะตั้งด่านช่วงเวลา 5 ทุ่มไปจนถึงตี 4 เนื่องจากมีสถานบริการเปิดในช่วงเวลานั้น เน้นจับกุมเรื่องเมาสุรา เนื่องจากว่าปีที่ผ่านมาหรือปีก่อนๆหน้ามองสถิติย้อนหลังกลับไปพบว่า อุบัติเหตุเกิดจากเมาสุราแล้วขับมาก 

    เข้มปีใหม่เหตุแทบไม่เกิด

    แต่ ผบ.ตร.และท่านรองสุรเชษฐ์ หักพาล ท่านสั่งการลงมาในช่วงปีใหม่ เห็นผล  ให้ระดมจับกุมเมาแล้วขับ อุบัติเหตุแล้วเจ็บ ตาย ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีเกิดจากเมา เป็นเรื่องสาเหตุอื่น เช่น ขับรถเร็ว หรืออะไรอย่างอื่น ต่อไปคงจะต้องหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือบังคับใช้กฎหมาย สำหรับข้อหาเหล่านี้ เพราะมันเป็นต้นทางของอุบัติเหตุ 

    ไทยตายบนถนนปี2หมื่นกว่าศพ

    ผมอาจจะเรียกว่าต้นทาง คนอื่นอาจจะเรียกสาเหตุ เราก็ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปบังคับใช้กฎหมาย เพื่อที่จะลดอุบัติเหตุ ประเทศไทยเรารอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

    ตายปีหนึ่ง เฉลี่ยแล้ว 2 หมื่น หรือ 2 หมื่นกว่า เทียบกับในภาคใต้ รอบนับสิบปี ยังไม่เท่าอุบัติเหตุ เยอะมากแล้วคนที่เสียชีวิตมักจะเป็นวัยทำงาน สูญเสียกำลังคนที่จะพัฒนาประเทศไปเยอะ 

    จากเรื่องเหล่านี้ รัฐบาล และ ตร.ให้ความสำคัญในเรื่องของการลดอุบัติเหตุ เนื่องจากเราไปเซ็นสัญญาการเป็นภาคีเครือข่ายของโลก ว่าเราจะลดอุบัติเหตุให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2570  

    ถามถึงเรื่องการให้นโยบายกำลังพลอย่างไร เรื่องของการตั้งด่าน เพราะบางทีตำรวจจราจร จะกระทบกระทั่งกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้การจี๊ดตอบว่า 

    1.เราให้นโยบายในเรื่องของการจราจร ต้องให้มีผลกระทบน้อยที่สุด 2.การทุจริต ต้องไม่มี เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกชาวบ้านเขาตำหนิ เรื่องของการไปเรียกรับผลประโยชน์ ในส่วนนี้เน้นย้ำว่า

    1.ต้องลงในระบบที่ทาง ตร.ให้ไว้ การจะตั้งด่านต้องแจ้ง ขออนุมัติจากผู้การ 2.เมื่อไปตั้งด่านจริงแล้ว จะต้องมีระบบทีพีซีซี  ตร.แจ้งมาเหมือนการปักหมุด ว่าตอนนี้ตั้งด่านอยู่ตรงนี้นะ ให้เขาเห็น และ 3.มีผลการจับกุมยังไง ก็ต้องรายงานในระบบ

    คัดกรองตำรวจไปตั้งด่าน

    ข้อสุดท้ายสั่งการมานานแล้ว หัวหน้าด่าน ต้องระดับ สว.ขึ้นไปในการควบคุมกำกับ  กรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนต้องใส่ใจ ถ้ามีต้องเข้าไปดู ผมให้อำนาจรองผู้การ ผกก.และ รอง ผกก.ว่าให้ไปคัดคน ถ้าคนไหนที่พูดจาไม่ดี ใช้คำพูดกับชาวบ้านไม่สุภาพ ก็ให้ ผกก.หรือทาง สว.ไปคัดเอาได้เลย ในการตั้งด่านต้องไปคัดกรองคนให้ดีๆ

    สวัสดิการดูแลเต็มที่

    ส่วนสวัสดิภาพของกำลังพล ตรงนี้เป็นนโยบายของท่าน ผบ.ตร.เหมือนกันว่าจะทำยังไงที่จะให้เขาอยู่ได้ด้วยสวัสดิการ แล้วเราถึงจะไปบังคับเขาในเรื่องของการทำงานให้เต็มที่  

    เพราะฉะนั้น ผมพยายามที่จะดูอะไรที่เป็นเบี้ยเลี้ยงที่ถูกกฎหมายนะ ต้องคุยกับผู้บังคับบัญชาเขา บอกว่าลูกน้องจะต้องได้อย่างเต็มที่ อย่าไปหักอะไรเขาทำให้เขาไม่ได้รับ

    ทำกองทุนช่วยเหลือกัน 

    เดิมที อย่าง บก.เรา การที่มีคนตายเราไม่เคยได้ช่วยเหลือกัน ก็จะมีกองทุนเล็กๆน้อยๆช่วยเหลือกัน เพียง 4-5 พัน มันไม่เพียงพอ เลยทำโครงการว่าให้ทุกคนสมัครใจเหมือนฌาปนกิจตำบล ชั้นประทวน 50 บาท นายตำรวจ 100 บาท ต่อศพ ไม่ใช่ต่อเดือนนะ ก็มีคนช่วย มีคนสมัครมา ตรงนี้เป็นภาคของความสมัครใจ พยายามประชาสัมพันธ์ให้เขารู้นะ ว่ามีโครงการตรงนี้ เพื่อให้เขาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

    มีที่ปรึกษาสนับสนุนงบประมาณ 

    นอกจากนี้ เราได้ตั้งที่ปรึกษาขึ้นเพื่อที่จะให้เขามาช่วยเราในเรื่องการแนะนำในส่วนของภาคประชาชน  ต้องพูดตรงๆ ว่า มาช่วยสนับสนุนงบประมาณ สมมติว่าจะเริ่มตั้งกองทุนอะไรขึ้นมา ให้กู้ยืมฉุกเฉิน อย่างนี้ ตอนนี้ก็เพิ่งเริ่ม กำลังตั้งไข่ ต้องใช้เวลาพอสมควร 

    จ่อตั้งกองทุนกู้ฉุกเฉิน       

    เรื่องการแก้หนี้ เราก็พยายามทำ ตอนนี้นครบาลดีหน่อย ที่สหกรณ์เข้ามาช่วยลดดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง บก.จร.เราก็มีบางส่วนที่ไปเข้าโครงการของสหกรณ์ บช.น. แต่ของเราว่าจะทำกองทุน ให้เขากู้ฉุกเฉิน กรณีค่าเทอมของลูก หมื่นหรือสองหมื่นกว่าบาท

    คือบางทีเขามีลูก แล้วเขาไม่มีเงินพอ จะไปกู้ ดอก เบี้ยข้างนอกบางทีร้อยละ 4 ร้อยละ 5 บางทีมันหนักเราอาจจะให้ยืมฟรีๆ  แตพอเบิกได้ต้องหักเข้ากองทุน ก็กำลังคิดจะทำ ก็เป็นเรื่องที่ บก.จะทำต่อไป 

    ส่วนเรื่องการแข่งขันกีฬาคือ เพิ่มความสัมพันธ์ เพราะพอไม่ได้จัด ต่าง กก.ก็ต่างทำงานกันไป ไม่ได้พูดคุยกัน ถ้าไม่คุย ไม่จอยกัน บก.จะทำงานไม่ได้เลย 

    ปัญหาจราจรกทม.ขั้นวิกฤต

    ปัญหาการจราจรใน กทม.ผมว่า มันค่อนข้างจะวิกฤต ส่วนหนึ่งเพราะปริมาณรถเพิ่มมากขึ้นเยอะ อย่างที่ 2  คือมีการก่อสร้างมาก ทำให้มีจุดคอขวดทั้งหลายบนถนน ที่มันทรุดตัวเลยทำให้เกิดปัญหาคอขวด นโยบายผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ ตร.จะให้ดูว่าตรงไหน มีปัญหา จะส่งคนไป เราจะเรียนกับผู้บังคับบัญชาว่าตรงไหนที่มีปัญหา ตรงไหนรถติด

    อย่างน้อยต้องมีตำรวจอยู่ให้เขาเห็น แต่ถามว่ามันแก้ได้ไหม มันก็แค่บรรเทา เพราะ 1.ผมก็พูดเสมอว่ามันจะต้องทำยังไง ให้รถในระบบมันน้อยไปกว่านี้ เพราะไม่สามารถจะสร้างถนนให้ทันได้

    รถใหม่เติมตลอด-รถเก่าไม่ลด

    แต่ตรงนี้มันก็คงเป็นนโยบายที่เกินกว่าที่ บก.จร.จะทำ แต่ถ้ามีเวที จะพูดว่าจะทำยังไงได้บ้าง เนื่องจากรถใหม่เราเติมเข้ามา แต่รถเก่าไม่ได้ลดลงไป เราไม่ได้มีมาตรการว่ารถเกิน 20 ปี ควรจะต้องน้อยลง  เคยพูดในเวทีเล็กๆ ว่า อย่างน้อยก็ให้ที่กลางเมือง อย่างสีลม หรือที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม ในเรื่องของออฟฟิศทั้งหลาย ให้มีรถเข้าไปให้น้อย ให้มันมีช่องว่างบ้าง  ต้องใช้อีกหลายเวที 

    เมืองนอกใช้วิธีเก็บเงินแก้

    ต่างชาติเขาทำมาเยอะแล้ว 1.อาจจะต้องเก็บเงินค่าเข้าไปพื้นที่กลางเมืองเลี่ยงการเข้าไป เดิมที เมื่อ20-30 ปี เคยมีการพูดเรื่องนี้ ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียน จบออกมาใหม่ๆ ตอนนั้นเราจะพูดว่าเราไม่มีระบบขนส่งที่เพียงพอ

    แต่เดี๋ยวนี้ระบบขนส่ง อย่างรถไฟฟ้า แทบจะครอบคลุมเพียงพอแล้ว เป็นทางเลือกให้ประชาชนที่จะใช้ได้

    อันนี้พูดถึงในพื้นที่กลางเมือง อย่างเช่น สีลม ทองหล่อ ที่เป็นดาวน์ทาวน์ทั้งหลาย เข้ามาก็ให้เสียตังค์ เพื่อให้รถมันน้อยให้กระจายรถออกมา สามารถจะให้รถมันโฟล์ได้ ไม่ใช่มันเต็มพื้นที่ไปหมด

    รถเยอะแต่ถนนเท่าเดิม

    เหมือนอย่างที่เราเห็นในตอนเช้า รถมันเต็มทุกพื้นที่  มันขยับไม่ได้ก็เกิดติดขัด ตรงนี้ผมว่ามันอาจจะถึงเวลา มันก็เป็นส่วนหนึ่งนะ อาจจะต้องทำ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เขาจะต้องคิดต่อไป

    แต่ผมมองว่า ถ้าเรายังเติมรถเข้าไปทุกวันโดยที่รถมันไม่ได้น้อยลง ถนนเท่าเดิม มันก็ไม่มีทางที่จะทำให้การจราจรคล่องตัวได้ ยิ่งเวลาเร่งด่วน  คนใน กทม.ออกไปทำงานพร้อมกัน กลับออกจากที่ทำงานพร้อมกัน หรือยิ่งถ้ามีฝนตกน้ำท่วมอีกมันก็เป็นปัญหาที่แก้ยาก 

    รถติดให้จร.แสดงตัวให้ชาวบ้านเห็น

    ก็ให้กำลังใจลูกน้อง บอกว่าเรื่องการอำนวยความสะดวกจราจร เป็นงานที่สำคัญ อย่างน้อยเราอยู่บนท้องถนน ชาวบ้านเขาก็ยังอุ่นใจนะ ผมสังเกตหลายๆครั้ง ถ้ารถติดแล้วเขาเจอตำรวจ ชาวบ้านเขาก็จะไม่ค่อยตำหนิเท่าไหร่ แต่ถ้าเขาไม่เห็นตำรวจ เขาก็จะโทร.มาร้องเรียนว่าอยากได้ตำรวจมาตรงนี้ๆ

    เหมือนเป็นเรื่องจิตวิทยา เพราะบางทีตำรวจไป ก็เหมือนแค่บรรเทา แต่ไม่ได้แก้ได้ทันที แต่ผมว่าบางทีชาวบ้าน เขาจะรู้สึกเหมือนว่า เหมือนรถติดก็ควรจะมีตำรวจ  เลยต้องให้กำลังใจทั้งตำรวจ บก.จร.และตำรวจจราจรพื้นที่ให้ออกแอ็คชั่นนิดหนึ่ง

    ให้เข้าใจว่าไม่ได้ทอดทิ้ง

    เข้าใจเขาแหละ ว่าบางที่เขาก็อยู่ แต่ว่าเขาอยู่ในป้อม ผมเคยบอกว่า อย่างน้อยคุณก็ต้องเดินออกไปบ้าง แต่บางทีก็ต้องควบคุมระบบสัญญาณไฟโดยใช้รีโมท หรือว่าการกดเลยทำให้ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่าเราอยู่

    ตอนผมอยู่ บก.น.2  เคยบอกว่า อย่างน้อยคุณออกมาจากตู้ บ้าง 10 นาที ออกมาข้างนอก 10 นาทีออกมา ให้ชาวบ้านเขารู้ว่าเราอยู่นะ ไม่ได้ทอดทิ้งเขาให้เขารู้สึกว่า แม้รถจะติด แต่ตำรวจก็ยังอยู่ๆ กับเขานั่นแหละ

    ประสานจราจรท้องที่ใกล้ชิด

    การประสานกับจราจรท้องที่ ก็ประสานกันตลอด อย่างที่บอกงาน  กก.4 ศูนย์ควบคุมและสั่งการ ของ บก.02 ก็เป็นคำสั่งจากใน น.มาเนิ่นนานแล้วว่า จราจรทุกพื้นที่ต้องฟัง บก.02 เนื่องจาก บก.02 จะเห็นภาพรวมได้มากกว่า จะมีคนที่สั่งทางวิทยุ มีผู้บังคับบัญชาที่จะอยู่ตรงนั้นแวะเวียนกันมาดูเพื่อสั่งการ

    อย่างสมมติว่า ห้าแยกลาดพร้าว  รถติดตรงนี้ เกิดจากอะไร บางทีอาจจะเกิดจาก 1.อุบัติเหตุ โดยที่คนที่เขาอยู่ตรงนั้น ตำรวจมีอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น แต่เราจะเห็นก็จะแจ้งเขาไป เขาจะฟังจาก บก.02 ทั้งวัน แต่ที่ใช้กันหนักๆคือเช้า เย็น ช่วงเวลาเร่งด่วน

    อยากได้กล้องมุมสูงช่วย

    ส่วนอุปกรณ์ รถรา ม้าใช้ต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยขาด  จะเป็นเรื่องอุปกรณ์มากกว่า อย่างเรื่องเทคโนโลยี กล้องซีซีทีวี  ส่วนใหญ่เป็นกล้องที่ติดระดับต่ำ ไม่ใช่เบิร์ดอายวิว ไม่เห็นมุมสูง ทั่วโลกส่วนใหญ่เขาใช้การมองเห็นระยะไกล แต่ของเราไม่ได้ติดตั้งแบบนี้ แล้วกล้องนี่ มีหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจเอง กทม.เอง  บางทีการเชื่อมต่อหรือการเรียกดู ยังไม่ชัดเจนก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีกันต่อไป 

    กทม.ให้ใช้1หมื่นกว่าตัว

    กล้องตอนนี้ของ กทม.มี 6 หมื่นกว่าตัว แต่ให้ บก.จร.ใช้ประมาณ 1 หมื่นกว่าตัว แต่การเรียกใช้แต่ละตัว ต้องใช้มือกรอกทำให้เสียเวลา เวลาจะดูอะไรไม่ค่อยจะเรียลไทม์ คือเราต้องไปกรอกเพื่อไปดูตรงนั้น ต้องกรอกรหัส อาจจะเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย  ในส่วนนี้ บก.จร.คงจะต้องไปคุยกับทาง กทม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะแก้ไข หรือว่าจะทำยังไง ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า คุ้มราคา

    ”รองโจ๊ก“เอาโดรนบินช่วย

    เรื่องที่ 2 ทาง ตร.โดยท่านสุรเชษฐ์ ท่านก็ช่วยมาส่วนหนึ่งเรื่องของการเอาโดรนขึ้นบิน แต่บินได้ไม่นานพอแล้วยังบินได้ไม่มากพอ ในส่วนนี้ที่จะมาแก้ปัญหาเบิร์ดอายวิว ถามว่าช่วยได้ไหมก็ช่วยได้ แต่ได้แค่บางจุดที่ขึ้นบิน แล้วมันบินได้ไม่นาน ถ้ามันสามารถใช้กล้องฟิคตามตึก  ถ้าต่อไป กทม.สามารถติดตรงนี้ได้ก็จะเกิดประโยชน์  

    ฟังมุมมองปัญหาการจราจรเมืองกรุงจาก จ.1-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ ผบก.จร.แล้ว ให้เข้าใจการทำงานของตำรวจหัวปิงปองอีกเยอะครับ

    เฮียเก๋17/2/67

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments