Friday, April 26, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปบิ๊กหิน-พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ

    บิ๊กหิน-พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ

     

    ถือเป็นนายตำรวจระดับสูงอีกคนหนึ่ง ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นนายตำรวจสายบุ๋น แบบแทบไม่เคยผ่านงานบู๊

    กระนั้นก็ตาม พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ นายตำรวจตระกูลดังกำลังถูกวางตัวเป็นประธานสอบสวนตำรวจในคดีบอส อยู่วิทยา

    เป็นนายตำรวจอีกคนที่อาจจะขึ้นนั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งของตำรวจต่อจาก ผบ.ตร. คนปัจจุบันก็เป็นได้
     
    ตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ ที่ พลตำรวจเอก วิสนุ นั่งอยู่นั้นถือว่าเทียบเท่ากับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

    แต่ในวงการตำรวจไม่คิดเช่นนั้น เพราะไม่ใครก็ใครต่างมองว่าแม้ตำแหน่งจะอยู่ในระดับระนาบเดียวกัน แต่ว่าตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นมีภาษีดีกว่า

    อย่างไรก็ตาม วิสนุ คิดต่างออกไป เขาไม่คิดเหมือนตำรวจเหล่านั้น

    เขากลับมองว่างานตรวจสอบภายในองค์กรในตำแหน่งจเรตำรวจนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญ และดีใจที่ผู้บังคับบัญชาของเขาให้มานั่งในตำแหน่งนี้

    “ผมมองว่าคนที่จะขึ้นไปเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทุกคน ในอนาคตสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านตำแหน่งนี้ (จเรตำรวจแห่งชาติ)”

    นั่นเป็นคำยืนยันจากปากของเขาที่บอกกับคนทั่วไปให้รู้ว่าตำแหน่งที่เขานั่งอยู่นี้ เป็นส่วนสำคัญขององค์กรสีกากี

    ย้อนกลับไปดูว่า วิสนุ เป็นใคร ก็จะพบว่าเขาเกิดในตระกูลชื่อดังที่มีพ่อเป็นหมอมีอาเป็นหมอและนักธุรกิจสายการบินหลักในเมืองไทย

    จบการศึกษาปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา

    ก่อนที่จะบินกลับมาเรียนปริญญาโท นิติศาสตร์ แล้วสมัครสอบเข้าตำรวจ

    ด้วยเหตุผลที่ไม่มากมายอะไร เพียงเพราะไม่อยากเป็นหมอ

    “ผมสมัครสอบตำรวจ จบตำรวจ ก็มาเป็นตำรวจจนถึงวันนี้ สาเหตุที่อยากเป็นตำรวจ คือครอบครัวผม พ่อก็เป็นหมอ ปู่ก็เป็นหมอ คุณอาก็เป็นหมอ เป็นหมอกันเยอะแยะ

    ก็เห็นว่าเขาเหนื่อย เขาเสียสละตลอดเวลา ผมตอนเด็กๆก็ดูหนังตำรวจเยอะ ก็เลยชอบตำรวจมากอยากเป็นตำรวจ อยากทำงานตำรวจ”

    เขากล่าวพร้อมกับบอกว่า อาชีพตำรวจเป็นเรื่องที่ท้าทาย พอทำเรื่องที่ท้าทายแล้วทำให้มีพลังมีกำลังใจ

    ส่วนตัวแล้วชอบงานตำรวจทุกด้านทุกหน้างาน ผมจะถนัดในเรื่องการประสานงาน เพราะงานทุกงานต้องขับเคลื่อนไปทุกส่วน

    จะบอกว่าใครเก่งงานด้านไหนคงบอกไม่ได้ จึงเป็นคนชอบงานทุกงานที่เคยทำมา

    ไม่มีที่ไม่ชอบ มีแต่ชอบมากหรือชอบน้อย เพราะมันไม่มีงานไหนที่ตำรวจจะทำสำเร็จในคนๆ เดียว ทุกเรื่องมันต้องอาศัยความร่วมมือ

    พลตำรวจเอก วิสนุ ดีกรีผ่านการอบรมเอฟบีไอ นับเป็นนายตำรวจคนหนึ่งที่เติบโตมากับงานตำรวจสากล

    ปี 2541 ขึ้นเป็นผู้กำกับการฝ่ายองค์กรตำรวจสากล กองการต่างประเทศ ทำหน้าที่ได้ 2 ปี ก็ขยับขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองการต่างประเทศ

    จากนั้น ปี 2550 ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ติดนายพลเป็นผู้บังคับการกองการต่างประเทศเต็มตัว

    จากนั้นก็วนเวียนอยู่กับงานด้านการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอด ก่อนที่จะขยับไปดูงานด้านตรวจคนเข้าเมืองดูงานกำลังพล

    สุดท้ายก็วนเข้ามาดูงานด้านจเรตำรวจ และก้าวขึ้นเป็นจเรตำรวจแห่งชาติในที่สุด

    แม้จะดูเหมือนว่า งานของ วิสนุ จะอยู่ที่การบริหารงานภายในเท่านั้น แต่ตัวเขาเองก็ฝากคดีสำคัญไว้ให้เป็นที่จดจำของตำรวจในเอเชีย

    ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 สมัยที่เขานั่งเป็นผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เขาได้รับการประสานงานจากตำรวจเกาหลีใต้

    ให้จับกุม นายคริสโตเฟอร์ พอล นีล (MR.CHRISTOPHER PAUL NEIL) อายุ 33 ปี(ขณะนั้น)

    ชาวแคนาดา อดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่ก่อคดีตุ๋ยเด็กผู้ชายมาแล้วหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    เขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ตำรวจเกาหลีใต้จะประสานมา ตำรวจเยอรมันแกะรอยคดีนี้จากเว็บไซต์ใต้ดิน

    พบชายชาวต่างชาติกระทำอนาจารกับเด็กชายชาวเอเชียหลายสิบคน แต่ภาพชายคนนั้นถูกเบลอหน้าเอาไว้ เห็นเพียงแต่หน้าของเด็กชายที่น่าสงสาร

    คดีนี้ตำรวจเยอรมันใช้เวลาแกะรอยอยู่นานสามารถใช้เทคโนโลยีแกะรอยจนได้ภาพหน้าของคนร้ายที่อยู่หลังฉากการเบลอภาพออกมาได้

    วิสนุ เล่าต่อว่า

    หลังจากได้ภาพหน้าของคนร้ายแล้วก็ได้แจกจ่ายภาพคนร้ายไปยังตำรวจสากลทั่วโลกเพื่อติดตามจับกุม และหยุดยั้งการกระทำชั่วร้าย

    กระทั่งตำรวจเกาหลีใต้พบว่าคนร้ายรายนี้น่าจะเข้ามาในประเทศของเขาและสวมรอยเล่นบทเป็นครูตามแผนประทุษกรรม

    แต่จนแล้วจนรอด ตำรวจเกาหลีไล่กวดไม่ทัน เพราะ นีล คนร้ายชาวแคนนาดาจับเครื่องบินลัดฟ้าสู่สุวรรณภูมิไปก่อนหน้านั้นแล้ว

    จากนั้นตำรวจสากลเกาหลีใต้ ประสานมาที่ผม ตำรวจไทยเราจึงได้เริ่มสืบสวนทันที

    ไม่นานนักก็พบตัวอยู่แถวพัทยา แต่จะทำอะไรได้ในเมื่อตอนนั้นตำรวจไทยและตำรวจทั่วโลกยังไม่มีหมายจับ

    กระบวนการออกหมายจับจึงถูกกำหนดขึ้นทันทีหลังพบว่าก่อนหน้านี้ ครูต่างชาติก็เคยตุ๋ยเด็กไทยมาด้วย เป็นเด็กชายวัย 9 และ 13 ปี

    การติดตามตัวเด็กทั้งสองคนมาสอบปากคำก็เริ่มขึ้นตามกระบวนการ

    ทำให้ตำรวจไทยออกหมายจับและจับกุมตัวผู้ต้องหาคนสำคัญของโลกรายนี้ไว้ได้

    “เมื่อทีมงานของผมจับคนร้ายได้ ผมก็ติดต่อไปทั่วโลก รวมทั้งหลักๆอย่าง เขมร เวียดนาม เกาหลี และแคนนาดา ว่าเราจับได้แล้วนะ พิมพ์ลายนิ้วมือ ส่งไปว่าคุณต้องการเอาตัวหรือไม่

    ผมว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย เป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่ ไม่ใช่สักแต่ว่าจับอย่างเดียว

    จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคดีที่เขาทำในอดีต 

    ส่วนคดีปัจจุบันที่เขาทำในตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ มีหลายหลากคดีที่สำคัญ จนเรียกได้ว่าเป็นจเรตำรวจแห่งชาติคนหนึ่งที่เข้มงวดกับคดีตรวจสอบภายในจนคดีล้นมือ

    โดยเฉพาะคดีที่กระทบต่อความรู้สึกของสังคม

    10 เดือนที่ผ่านมา พลตำรวจเอก วิสนุ จึงตรวจสอบเรื่องที่มีผลกระทบส่วนใหญ่

    เช่น การทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด 19 ของตำรวจทั่วประเทศ

    คดีการละเลยการจับกุมบ่อนการพนันขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกตนเกิดการระบาดโควิด 19 ระลอกที่ 2

    คดีการละเลยการจับกุมสถานบริการย่านทองหล่อจนเกิด คลัสเตอร์ระบาดโควิด 19 ระลอกที่ 3,

    คดีผู้บังคับการตำรวจ ตชด.ภาค 4 บังคับให้ลูกน้องส่งส่วย เป็นต้น

    พลตำรวจเอก วิสนุ กล่าวอีกว่า

    ในตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ มีการตรวจสอบองค์กรตำรวจ

    ดีใจมากที่ได้ทำหน้าที่นี้และอยากจะให้ทุกคนที่จะเติบโต เป็นหัวหน้างานของตำรวจทุกๆงาน ควรจะผ่านงานจเรตำรวจ

    จริงๆ พอได้มาอยู่แล้ว สัมผัสงานตรวจสอบภายใน ถือว่าจเรตำรวจมีความสำคัญมาก หน่วยงานตำรวจจะเดินได้ งานตรวจสอบภายในต้องแข็งแรงจริงๆ

    แล้วต้องเป็นที่ไว้ใจและยอมรับได้ของสังคม เพราะว่าถ้าหน่วยงานไม่ถูกตรวจสอบแล้ว มันเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่จะทำผิด

    เพราะหลังจากเรียนจบมานาน มีไอเดียมีความคิดดีๆที่จะทำงาน แต่เมื่อลงไปทำงานนานแล้ว ไอ้จุดสมดุลมันอาจถูกเอนไปจึงทำให้เกิดช่องทางการกระทำความผิดต่อหน้าที่ได้ 
                   
    “ผมใจแข็งพอกับการลงโทษตำรวจด้วยกัน ผมก็ยอมรับว่าบางครั้งอาจมีความไม่สบายใจว่าต้องลงโทษลูกน้อง แต่ผมบอกว่าผมมันปลายทาง

    วันที่คุณทำผิด คุณทำตัวเอง ไม่ใช่ผม ผมก็บอกลูกน้องที่จเรตำรวจ ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เขาทำตัวเขาเอง

    คือคุณทำผิดไปแล้วๆ จะมาปฏิเสธ มันอาจจะมีความลำบากใจในกรณีที่เราเห็นเรื่องที่ผิดเยอะๆ แล้วยังต้องรอกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ามากๆ เพราะหน่วยงานเรามันใหญ่”

    เขากล่าวและบอกว่า ตอนนี้สังคมออนไลน์ ก็มีการตรวจสอบ ตำรวจเองก็โดนเยอะมาก แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่สังคมเป็นอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คงจะต้องรอบรู้มากขึ้น มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

    ก็เหมือนกับทุกคนต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น การปฏิบัติต้องเป็นขั้นเป็นตอน ลดการปะทะอารมณ์ กับประชาชนบนถนน         

    มาถึงคดี “บอส อยู่วิทยา” หรือคดีกระทิงแดง พลตำรวจเอก วิสนุ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

    เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากับนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แทนประธานคนเดิม เขากล่าวว่า

    “ผมไม่ได้หนักใจนะ ถ้าผมหนักใจแล้วน้องๆ ที่จเร จะอยู่กันยังไง ผมก็ต้องให้ความมั่นใจ ให้ความสบายใจ ว่าเราทำตามหน้าที่ ไม่มีความหนักใจอะไร เป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น

    เราก็มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ คิดว่าจะจบได้ในยุคผมหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ 

    แต่ว่าผมไม่เคยทำอะไรล่าช้า”

    พลตำรวจเอก วิสนุ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมีคดีร้องเรียนมาเยอะ เรากำลังแก้ปัญหาให้เป็นที่ไว้วางใจจากชาวบ้านเมื่อเข้ามาร้องเรียนที่เรา

    ปัจจุบันได้ริเริ่มโครงการ JCoMS หรือโครงการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ของจเรตำรวจ

    เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการร้องทุกข์ ร้องเรียน และรับรายงานผล หรือติดตามผล ทางระบบออนไลน์ได้

    โครงการนี้เปิดตัวไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี ขณะนี้กำลังปรับปรุงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง หากมัวแต่รอพร้อม ไม่เริ่มลงมือทำ เราก็ไม่ทราบปัญหา และมีการพัฒนา

    ถ้าระบบสามารถทำงานสมบูรณ์ ระบบตรวจสอบของตำรวจก็จะแข็งแรงขึ้น ถ้าระบบตรวจสอบแข็งแรง องค์กรตำรวจก็จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย

    บางกอกโพสต์ 19ก.ค.64 วัสยศ งามขำ

     www.bangkokpost.com/thailand/general/2150947/rooting-out-graft-in-the-force

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments