Thursday, May 2, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปคนของแบงก์ ไม่ต่างกับคำพังเพย “คนเลี้ยงช้างย่อมกินขี้ช้าง”

    คนของแบงก์ ไม่ต่างกับคำพังเพย “คนเลี้ยงช้างย่อมกินขี้ช้าง”

    จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

    จับกุมนายสุวรรณ อายุ 42 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ตามหมายจับศาลอาญา วันที่ 6 ก.พ.2567 ที่บ้านในหมู่บ้านพระปิ่น3 หมู่17 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

    ข้อหาฉ้อโกง โดยแสดงตนเป็นคนอื่น โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

    พฤติการณ์ผู้ต้องหา ลักลอบนำข้อมูลของลูกค้าสถาบันการเงินมาดัดแปลง แก้ไข แล้วนำไปจำหน่ายต่อให้กลุ่มที่สนใจ เช่นตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนขายประกัน บางกรณีขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์

    ในการสืบสวนของตำรวจไซเบอร์ขยายผลจากผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น นำข้อมูลไปขายให้กลุ่มมิจฉาชีพอีกทอดหนึ่ง

    หลังจากรวบรวมพยานหลักฐาน ตำรวจไซเบอร์ขออนุมัติหมายศาลจับกุม ยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ ที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลลูกค้าและประชาชน ท่ั้งที่ซื้อมาจากบุคคลอื่นและที่ผู้ต้องหาลักข้อมูลจากสถาบันการเงินของตน ซึ่งได้เก็บข้อมูลของลูกค้าด้วยการจดบันทึกและจัดทำไฟล์เอกสาร นำไปขายให้กับนายหน้าขายประกัน และนายหน้าสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่น

    ผู้ต้องหาจะทยอยนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่มีเครดิตดีครั้งละ 3,000-5,000 รายชื่อ ไปขายรายชื่อละ 1 บาท มีรายได้พิเศษตกเดือนละหลายหมื่นบาททำพฤติกรรมแบบนี้มานานเกือบ 2 ปี

    ตำรวจไซเบอร์แฉพฤติการณ์เหล่ามิจฉาชีพนี้ว่า ใช้วิธีซื้อข้อมูลส่วนบุคคลที่มีฐานะเครดิตดี แล้วเข้าไปหลอกลวง  

    เหยื่อจะหลงเชื่อเพราะข้อมูลเฉพาะตรงตามความเป็นจริง จนเหยื่อเข้าใจผิดว่าเป็นพนักงานสถาบันการเงินหรือประกัน ติดต่อมาหาลูกค้าจริง จนพลาดถูกหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินโดยง่าย

    ก่อนหน้านี้ ไม่กี่เดือน ตำรวจไซเบอร์รวบตัวเจ้าหน้าที่บริษัทประกันชื่อนายวีรทัศน์ อายุ 45 ปี ที่หมู่บ้านกลางเมือง ซอยราชพฤกษ์ 6 ถนนราชพฤกษ์ แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กทม. ขายข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามหมายศาลอาญาธนบุรี

    ผู้ต้องหายอมรับว่ามีรายได้เดือนละนับแสนบาท  ซื้อขายแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้ากับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันชีวิตด้วยกันเอง จนกระทั่งไปตกอยู่ในมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนมากมาย

    การหาเงินก้อนโตได้อย่างสบายๆ อย่างนี้นี่เอง ทำให้พนักงานสถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย หลายต่อหลายคน ยอมเสี่ยงต่ออนาคต

    ทั้งๆที่รู้ว่าเท้าข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในตะรางแล้ว ก็ไม่กลัวเกรงโทษทัณฑ์    

    เห็นทีตำรวจไซเบอร์จะต้องเหน็ดเหนื่อย เป็นแมวไล่จับหนูไปตลอดแน่ๆ

    ดอนรัญจวน

    15/2/2567

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments