Sunday, April 28, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปตำรวจป่วยหนักก็รักษาให้หายขาดก่อน

    ตำรวจป่วยหนักก็รักษาให้หายขาดก่อน

    จากกรณี ส.ต.อ.ชวนิล หรืออาร์ม ผบ.หมู่(ป) สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช  คลุ้มคลั่งใช้มีดพกแทงหญิงคนหนึ่งเสียชีวิตและอีกคนบาดเจ็บสาหัสขณะขี่จักรยานยนต์ผ่านมาพอดี

    เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง

    ที่จู่ๆ ประชาชนคนธรรมดาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มาถูกคนในเครื่องแบบสีกากีที่หัวใจของอาชีพคือการให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคนในสังคม กลับกลายเป็นมหันตภัย”จู่โจมมาถึงโดยไม่่เปิดโอกาสให้ต่อสู้แม้สักอึดใจ

    แม้สุดท้ายตัวผู้ก่อเหตุจะถูกตะครุบตัวได้ ตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาและพยายามฆ่า ก็ตาม พร้อมกับสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

    ยังไม่สามารถเปรียบเทียบหรือชดเชยเพียงพอกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวญาติของเหยื่อตำรวจคลั่งรายนี้ได้

    เบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนท้องที่ตรวจสอบพบว่า ส.ต.อ.ชวนิลมีประวัติป่วยซึมเศร้ามาก่อน และต้องกินยารักษาและบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงว่าอาการป่วยนี้ยังไม่หายขาด

    ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงาน อย่างพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีคำสั่งให้แก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ตกอยู่ภาวะป่วยซึมเศร้า ตั้งแต่คัดกรองผู้สมัครเข้ามาเป็นตำรวจ ให้มีการตรวจประวัติและตรวจสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเข้มงวด

    รวมทั้งให้ผู้บังคับหน่วยงานลงไปดูแลลูกน้องอย่างใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมออีกทางหนึ่ง หากพบตำรวจลูกน้องคนไหนมีอาการป่วยทางสภาพจิต ให้เปลี่ยนหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่สัมผัสกับประชาชนและบำบัดรักษาอาการป่วยไปพร้อมๆ กัน

    นั่นเป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดเหตุสลดใจ ที่ระยะหลังเพิ่มขึ้นมากจนเข้าขั้นวิกฤติเกินรับมือแล้ว

    มันได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแล้วหรือ จากวิธีการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเดินหน้าด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ แต่ก็ยังเกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

    ลองเปรียบเทียบกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

    เมื่อนักบอลในทีมคนหนึ่ง ประสบอาการบาดเจ็บ อาจจะหนักเบาต่างกันไป บ้างก็ต้องพักรักษาตัวเป็นเดือน บ้างยาวนานเป็นปี ไม่มีโอกาสได้ลงสนามสัมผัสบอลไปเลย

    จนกว่าร่างกายจะได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูเข้าสู่สภาพปกติจนสามารถกลับมาซ้อมเรียกความฟิตและลงสนามได้เหมือนเดิม

    แล้วเหตุผลใดที่ตำรวจคนหนึ่ง ป่วยทางจิตอย่างหนัก ไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้ตามปกติ และยิ่งใกล้ชิดกับประชาชนด้วยแล้ว

    ทำไมล่ะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีแนวคิดที่จะให้ “พักการปฏิบัติหน้าที่” เพื่อเข้าไปรักษาอาการป่วยให้หายจนเข้าสู่สภาวะปกติให้ได้ก่อน จึงจะให้กลับเข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เหมือนกับแวดวงกีฬาบ้าง

    การย้ายให้พ้นจากหน้าที่สัมผัสประชาชน ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน มันเหมือนกินยาระงับปวดชั่วคราวเท่านั้น

    แถมยังเพิ่มภาระให้ตำรวจปกติที่ทำหน้าที่ปราบปรามผู้ร้ายว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังต้องมารับมือกับตำรวจที่ป่วยทางสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้ตัวอีก

    ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานตำรวจที่มีทั้งโรงพยาบาลตำรวจ ควรจะตระหนักหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจังแก้ไขป้องกันเหตุ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้าแน่นอน

    ดอนรัญจวน 27/2/2567

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments