Wednesday, May 8, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปบิ๊กก้องวิเคราะห์อาชญากรรมปี65

    บิ๊กก้องวิเคราะห์อาชญากรรมปี65

     

    พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ประเมินสถานการณ์อาชญากรรมในปี 2565 หรือ 2022

    เขามองว่า ในช่วงปี 2564 ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19ขณะเดียวกันก็ยังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศอยู่หลายคดี  

    เป็นคดีที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความรู้สึกโดยตรงต่อประชาชนในสังคม เช่น คดี ผกก.โจ้ นครสวรรค์ / คดีทหารคลั่งกราดยิงผู้ป่วยโควิดใน รพ.สนาม และอาชญากรรมอื่นๆ

    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า

    ปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบัน  ต้องบอกว่าสถิติอาชญากรรมในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงที่ไวรัสโควิด 19 ยังคงระบาดอยู่ต่อเนื่องนั้น มีความน่าสนใจอยู่หลายประเด็น

    ในหลายประเทศมีสถิติคดีอาชญากรรมรุนแรง (Violent Crime) ลดลง เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง

    แต่กลับมีสถิติประเภทหนึ่งที่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และทุกประเทศหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี คือ

    ปัญหาอาชญากรรมประเภทไซเบอร์ (Cyber Crime) รวมถึงอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

    แรกเริ่มเดิมทีดูเหมือนจะเป็นภัยที่ยังห่างไกลตัวคนทั่วไป เช่น ช่วงแรกเราอาจไม่คุ้นชินกับคำว่า แฮกเกอร์ สปายแวร์ มัลแวร์ หรือดาร์กเว็บ เป็นต้น

    แต่ในยุคปัจจุบันเรากลับได้ยินข่าวเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น

    การขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือในคอมพิวเตอร์ (Identity theft) การเรียกค่าไถ่ข้อมูล (Ransomware) หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยในการก่ออาชญากรรมได้ง่าย ที่เราคงได้ยินและคุ้นหูกันบ่อยๆ คือ

    คดีโรแมนซ์สแกม คดีแชร์ลูกโซ่หรือหลอกร่วมลงทุนทางออนไลน์ คดีแนว vishing (voice and phishing) การลวงเอาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการเงิน หรือแม้แต่คดีประเภท Cyber warfare หรือการปฏิบัติการจิตวิทยาบนสื่อออนไลน์ ที่ได้กลายเป็นภัยใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

    ทุกคนมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อจากการก่ออาชญากรรมในรูปแบบนี้กันง่ายมากขึ้น จนอาจเรียกได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป

     

    เช่น Work from home การสั่งสินค้าทางออนไลน์ (Online shopping) เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออันเกิดจากการพบเจอกันและเกิดการแพร่เชื้อโรค

    กลายเป็นการเพิ่มช่องทางและทางเลือกในการก่ออาชญากรรมแก่คนร้ายไปโดยปริยาย 

    เขากล่าวต่อว่า  ส่วนตัวเองยังมองว่าในสถานการณ์อาชญากรรมในปี 2565 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกยังไม่มีทีท่าที่จะลดความรุนแรงลงรวมถึงในประเทศไทยเอง

    มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐแม้ว่าจะผ่อนคลายไปบางส่วน แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้มข้นขึ้นในบางครั้งตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และน่าเชื่อว่านโยบายการทำงานที่บ้านจะยังคงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด

    อย่างไรก็ตาม การออกไปข้างนอกในพื้นที่สาธารณะ การท่องเที่ยว การจัดงานแสดงต่างๆ จะยังคงมีให้เห็นบ้างตามสภาพที่สังคมเริ่มยอมรับและเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal) ในการดำรงชีวิต

    สภาพปัญหาอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น มองว่าน่าจะมีความใกล้เคียงกับปี 2564  คือ มีแนวโน้มที่คดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรืออาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะเพิ่มสูงขึ้น

    “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคดีหลอกขายสินค้าทางออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งเงินกู้จากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ แก๊งโรแมนซ์สแกมเป็นต้น

    แต่ความท้าทายใหม่ๆ ที่ตำรวจไทยจะต้องเผชิญคือ ความซับซ้อนในรูปแบบวิธีและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด

    ต้องอย่าลืมว่าคนร้ายมักจะหาช่องทางการหลบเลี่ยงการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจจับได้อยู่เสมอ หรือกว่าจะถูกจับกุมได้ก็ต้องใช้ระยะเวลานาน

    ส่งผลให้บางคดีโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ก็มักจะมีการโยกย้ายถ่ายเทเงินหรือแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นไปอย่างรวดเร็ว”

    ผบช.ก. กล่าวด้วยว่า

    ถึงแม้รูปแบบอาชญากรรมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นอาชญากรรม” เช่น การหลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล

    คนร้ายก็ยังคงยึดหลักการพื้นฐานของการก่ออาชญากรรม คือปัจจัยเรื่องความโลภของมนุษย์

    ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนพึงตระหนักถึงความเป็นไปได้เป็นสำคัญ และอยู่บนพื้นฐานของความจริง เช่น หากมีการลงทุนจะได้ผลตอบแทน 50% ของเงินลงทุน และการันตีผลตอบแทนต่อเนื่อง

    ผมมองว่าจะหาธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและการันตีผลตอบแทนขนาดนั้นเป็นไปได้ยากมาก

    คนร้ายเหล่านี้มีวิธีชักจูงเหยื่อให้หลงเชื่อด้วยวิธีการต่างๆ นานาจนเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก และกว่าเหยื่อจะรู้ตัวคนร้ายก็ได้ยักย้ายเงินหลบเลี่ยงจนยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

    ส่วนทางแก้ปัญหานั้น พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า

    ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนารูปแบบการเก็บข้อมูลและรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเกิดโครงการ Big Data ตั้งแต่ตนเป็นผู้บังคับการกองปราบปรามต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

    ผมถือว่าเป็นมิติใหม่และอาจจะปฏิวัติการทำงานของวงการตำรวจได้เลยในอนาคต  เริ่มต้นจากการพัฒนาการเก็บข้อมูลในรูปแบบที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยวิจัยเรื่องการเก็บสถิติอาชญากรรมในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    จัดกลุ่ม เรียบเรียง ปรับเปลี่ยนรายความผิดให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาอาชญากรรม โดยใช้หลักการ incident base หรือการศึกษาพฤติการณ์ในคดีเพื่อกำหนดฐานความผิดมากไปกว่าการกำหนดรายความผิดเพียงอย่างเดียว

    เพราะปัจจุบันสถิติคดีอาญาของเรายังคงให้ความสำคัญกับการระบุรายความผิดมากจนเกินไปจนอาจจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ไม่ได้

    เช่น เกิดคดีฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนในพื้นที่ A จะมีการนับรายความผิดเป็นฆาตกรรม  ข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกส่งผ่านไปเพื่อเก็บฐานข้อมูล มักจะไม่ได้แยกรายละเอียดเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์และกำหนดนโยบายป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ A ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ในอนาคตต่อไปเมื่อพัฒนาระบบสำเร็จ เราจะสามารถทราบได้ทันทีว่าในพื้นที่ A ในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีเหตุฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนกี่ครั้ง อาวุธปืนชนิดใด กลุ่มคนร้ายคือผู้ใด จุดใดเกิดเหตุบ่อยครั้ง

    ผู้บังคับบัญชาของพื้นที่ A ก็จะสามารถกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาการฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนได้อย่างชัดเจน เช่น การติดกล้องวงจรปิด การเพิ่มไฟส่องสว่าง เพิ่มความเข้มข้นในการออกตรวจ เป็นต้น

    ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะถูกนำมารวมในถังข้อมูลใหญ่ที่เรียกว่า Big Data หรือโครงการศูนย์บริหารข้อมูลอาชญากรรม (CSD Big Data Center)  กองปราบปรามจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมในระดับประเทศ  เป็นนวัตกรรมใหม่ของตำรวจในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม

    ฐานข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะถูกนำมารวมอยู่ที่เดียว และเป็นศูนย์รวมข้อมูลของตำรวจที่ใหญ่ที่สุด และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันกับตำรวจท้องที่

    “ตำรวจจะทำงานได้เร็วขึ้น ตรวจสอบข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมได้มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมยังคงไม่เชื่อคำกล่าวที่ว่า “Crime is unpredicted” เสียทีเดียว

    แต่ผมจะใช้คำว่า “Sometimes crimes is predicted”  หมายถึงบางครั้งเราสามารถทำนายการเกิดขึ้นของอาชญากรรมได้ แต่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราต้องมีข้อมูลมากเพียงพอต่อการวิเคราะห์ข้อมูล

    นอกจากนี้ผมยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบ Digital Transformation รวมถึงจะพัฒนายกระดับองค์กรและบุคลากรไปสู่ระดับสากลด้วย”

    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวเสริมว่า

    อาชญากรรมสตรีทไคลม์ยังคงมีอยู่ เห็นได้ว่าประเด็นปล้นร้านทองที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มองว่าเป็นเรื่องของ “ความสะดวกหรือความง่ายต่อการกระทำความผิด”

    เพราะร้านทองโดยส่วนใหญ่ที่อยู่ในห้างก็มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ทางเข้าออก เห็นได้ชัด เพราะในเชิงธุรกิจร้านทองต้องพยายามแสดงให้ลูกค้าเห็นได้ง่าย ลูกค้าจะได้เข้ามาซื้อเยอะ ทองก็จะต้องแขวนโชว์เอาไว้ให้ดูน่าสนใจ

    สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งล่อตาล่อใจคนร้ายไปโดยปริยาย และจูงใจให้คนร้ายก่อเหตุ อีกประเด็น คือ ตัวทรัพย์สินที่เป็นทองนั้นก็ง่ายต่อการเปลี่ยนรูป และเป็นที่ยอมรับกันในท้องตลาด เช่น นำทองไปขายที่ร้านทอง โรงรับจำนำ หรือแม้แต่คนทั่วไป

    คนร้ายที่จะก่อเหตุโดยส่วนใหญ่ไม่ได้นำประเด็นเรื่องอัตราการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจในการก่อเหตุมากเท่าใดนัก

    เมื่อปัจจัยหลายๆ ปัจจัยรวมเข้าด้วยกันก็เป็นสาเหตุสำคัญที่คดีปล้นร้านทองยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

    พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวทิ้งท้าย

    รายงานพิเศษ /วัศยศ งามขำ

    https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2243587/cib-fights-rising-cybercrime

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments